มหากาพย์ที่ดินผืนใหญ่ประมาณ 5,083 ไร่ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริเวณเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เงียบหายจากสังคมไทยไปพักใหญ่ๆ อาจเป็นเพราะยังเป็นคดีอยู่ในศาลระหว่างรฟท.กับประชาชนที่บุกรุกนำที่ดินของรฟท.ไปออกโฉนด หรืออาจเป็นเพราะ 3-4 ปีที่ผ่านมา มีโครงการขนาดใหญ่ซึ่งเชิดหน้าชูตาของชาวบุรีรัมย์ มากลบปัญหาที่ดินเขากระโดงเสียจนมิดชิด

แต่เรื่องราวของที่ดินรฟท.ผืนนี้ได้ถูกเปิดขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 18 ก.พ.64 โดยพุ่งเป้าไปยังนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เนื่องจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยที่ดินทั้งแปลงดังกล่าว เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ที่สงวนหวงห้ามไว้เป็นที่รถไฟ ใครเข้าไปอยู่ในพื้นที่นี้จะต้องมีการขับไล่ เพิกถอนสิทธิ ไม่สามารถมีเอกสารสิทธิที่ดินส่วนนี้ได้ แต่บ้านพักของนายศักดิ์สยามอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว

รวมทั้ง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในฐานะดูแลกรมที่ดิน เมื่อศาลฎีกามีคำตัดสินสิ้นสุดแล้ว ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการสอบสวนเรื่องดังกล่าวภายใน 60-90 วัน และต้องเร่งสั่งการให้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินของราษฎร และคนในตระกูล “ชิดชอบ” ที่มีโฉนดบริเวณเขากระโดง

หลังสุดเมื่อวันที่ 7 เม.ย.65 นายสกลชัย ลิมป์สีสวรรค์ ทนายความ ได้เข้าร้องเรียนกับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับนายศักดิ์สยามรวมทั้งพล.อ.อนุพงษ์ ว่าเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตในประเด็นเรื่องที่ดินเขากระโดงหรือไม่?เนื่องจากกรมที่ดินควรดำเนินการเพิกถอนสิทธิ แต่ปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินการ ส่วนรมว.คมนาคม ก็มีผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่ในพื้นที่ เพราะมีบ้านพักอาศัยอยู่บริเวณนั้นด้วย

กรมที่ดินต้องเพิกถอนสิทธิ-รฟท.ต้องรักษาสิทธิ!

เกี่ยวกับเรื่องนี้ พ.ต.อ.ทวีเปิดเผยกับทีมข่าว “Special Report” ว่านับตั้งแต่ตนอภิปรายเรื่องเขากระโดงเมื่อปี 64 แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก แม้ว่าคดีจะสิ้นสุดแล้ว ไม่ว่าจะใช้แผนที่ฉบับไหนมาอ้างอิง ก็เป็นสิ่งยืนยันแล้วว่าที่ดิน 5,083 ไร่ เป็นของรฟท. ซึ่งได้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ดังนั้นกรมที่ดินต้องเพิกถอนสิทธิทันที ไม่ว่าใครก็ตามที่มีโฉนด และต้องรื้อถอนขับไล่ เนื่องจากได้รับการพิสูจน์ตามกระบวนการศาลยุติธรรมแล้ว จะอ้างเรื่องอายุความเพื่อบังคับคดี หรือไม่บังคับคดีไม่ได้ เพราะตรงนี้เป็นที่ดินของรฟท.


วันนี้ 2 หน่วยงานรัฐไม่ต้องคิดอะไรมากเลย คือกรมที่ดินต้องเร่งดำเนินการเพิกถอนสิทธิ (โฉนด) ส่วนรฟท.ก็ต้องรักษาสิทธิ ต้องดำเนินการกับผู้บุกรุกและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ทั้งของราษฎรและนักการเมืองอย่างเท่าเทียมกัน โดยปัจจุบันคนในสังคมไทยนำปัญหาที่ดินรฟท.บริเวณเขากระโดง มาเทียบเคียงกับปัญหาที่ดินรถไฟย่านมักกะสัน กรุงเทพฯ ซึ่งกำลังทำโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดังนั้นจึงต้องเคลียร์ชาวบ้านในชุมชนริมทางรถไฟย่านมักกะสันออกไป เพื่อส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนตามกำหนดสัญญา ซึ่งประชาชนริมทางรถไฟเขาอยู่กันมานานหลายสิบปี จำนวนหลายชุมชน และมีบ้านเลขที่ แล้ว รฟท.จะย้ายคนเหล่าไปที่ไหน

“ถ้ารฟท.ใช้ความละมุนละม่อมกับเอกชนที่ทำโครงการรถไฟฟ้าดังกล่าว รฟท.ก็ต้องละมุนละม่อมกับชาวบ้านในชุมชนริมทางรถไฟที่เขาอยู่กันมานานด้วย ซึ่งเท่าที่ทราบมีทั้งคนชรา และเด็กจำนวนมาก ถ้าต้องขับไล่ออกไปจากพื้นที่โครงการ เด็กๆเหล่านี้จะไปเรียนที่ไหน ต้องห่างไกลจากโรงเรียนหรือไม่ รวมทั้งเรื่องการประกอบอาชีพของพ่อแม่ผู้ปกครอง ถ้ารฟท.ดำเนินการเองไม่ได้ ก็ต้องประสานกับกรุงเทพมหานครและกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เขามาช่วยดูแลปัญหาของคนเหล่านี้ให้ครอบคลุมทุกมิติ อย่าให้มีเสียงครหาระหว่างที่ดินรฟท.เขากระโดง กับที่ดิน รฟท.ย่านมักกะสัน ว่ารัฐปฏิบัติกับประชาชนแบบ 2 มาตรฐาน”

“เขากระโดง-มักกะสัน” ควรมาตรฐานเดียว!

พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อไปว่า ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาตนพร้อมทีมงานได้เดินทางเยี่ยมให้กำลังใจประชาชนในชุมชนแดงบุหงา ริมทางรถไฟมักกะสัน ซึงเป็นหนึ่งในชุมชนที่ถูกไล่รื้อจากโครงการก่อสร้างทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่ง รฟท.เร่งให้รื้อถอนย้ายสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินริมทางรถไฟภายในเส้นตาย 31 มี.ค.65 ดังนั้นจึงเป็นปัญหาสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนอย่างแสนสาหัส

ภาครัฐคือ รฟท.อ้างว่าต้องส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนคู่สัญญา เพื่อการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง แต่เราทราบกันดีจากข่าวสารทางสื่อมวลชน ว่าเอกชนคู่สัญญาครบกำหนดชำระค่าให้สิทธิ์ร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เป็นเงินกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งกำหนดชำระตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค.64 แต่สุดท้ายก็ไม่จ่ายเงินให้รัฐ แถมยังขอขยายระยะเวลาการชำระ โดยอ้างปัญหาเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด-19 ทำให้จำนวนผู้โดยสารลดลงไปมาก

“ตรงนี้แหละที่ผมบอกว่า ถ้า รฟท.ละมุนละม่อมกับเอกชน ก็ต้องละมุนละม่อมกับชาวบ้านไร้ที่อาศัย กลายเป็นผู้เดือดร้อน มีทั้งเด็กเล็ก คนชรา คนตกงานจากปัญหาเศรษฐกิจฝืดเคือง และโรคระบาด หนักสุดคือถูกขับไล่ออกจากบ้านที่อยู่กันมานานหลายสิบปี ตรงนี้รฟท.ได้ประนีประนอมกับชาวบ้านริมทางรถไฟมักกะสัน เหมือนกับการประนีประนอมกับเอกชนคู่สัญญา และประนีประนอมกับคนคระกูลดังในบุรีรัมย์เหมือนกันหรือเปล่า? เพราะเป็นปัญหาที่ดิน รฟท.เหมือนกัน ดังนั้นจึงควรปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน” เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าว.