ข้อมูลการจับกุมเมาขับส่งคุมประพฤติช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา มีจำนวน 7,601 คดี ในจำนวนนี้มี 6,526 ราย เข้าสู่กระบวนการคัดกรองตามแบบประเมินความเสี่ยงและสภาพปัญหาความต้องการ และแบบประเมินพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจำแนกตามระดับความเสี่ยงได้ ดังนี้

ระดับความเสี่ยงสูง จำนวน 4,500 ราย

ระดับความเสี่ยงปานกลาง จำนวน 1,991 ราย

ระดับความเสี่ยงสูง จำนวน 35 ราย

เช่นเดียวกันเทศกาลสงกรานต์ล่าสุด กรมคุมประพฤติเตรียมมาตรการรูปแบบเข้มข้นกับกลุ่มเมาขับ ทั้งมาตรการทางกฎหมาย และมาตรการแก้ไขฟื้นฟู แบ่งเกณฑ์ตามระดับปัญหา ได้แก่        

“มาตราการทางกฎหมาย” ควบคุมผู้ถูกคุมประพฤติปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด อาทิ การรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ (กำหนด 3 ครั้งต่อเดือน เป็นเวลา 1 ปี) การทำงานบริการสังคม (ทำงานโดยไม่มีค่าตอบแทน) อาจเป็นกลุ่มหรือรายคน การพักใช้ใบอนุญาตขับรถ (กำหนดตามระยะเวลา ปกติ 6 เดือน) การเข้ารับอบรมความรู้กฎหมาย และวินัยจราจร ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และให้ตรวจปัสสาวะหาสารเสพติด

“มาตรการแก้ไขฟื้นฟู” คัดกรองและประเมินความเสี่ยงการกระทำผิดและจัดกิจกรรมฟื้นฟู ดังนี้

1.คัดกรองด้วยแบบประเมินพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ หากพบแนวโน้มสูงติดสุรา จะถูกส่งไปบำบัดอาการที่โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นเวลา 4 เดือน

2.ประเมินความเสี่ยงกระทำผิดซ้ำ หากพบแนวโน้มผิดซ้ำสูง จะถูกส่งไปแก้ไขฟื้นฟูแบบ “เข้มข้น” ผ่านค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวม 3 วัน เน้นกระบวนการรวมกลุ่มทำงานบริการสังคมเพื่อกระตุ้นจิตสำนึก ตระหนักถึงผลกระทบของการเมาขับ เช่น การไปดูแลเหยื่อจากอุบัติเหตุทางถนน ดูงานห้องดับจิตและตึกอุบัติเหตุ การเข้ารับความรู้ภัยการดื่ม เพื่อปรับพฤติกรรมให้ลด ละ เลิก การดื่ม ทั้งนี้ จะคัดเลือกเป้าหมายจากลุ่มผิดซ้ำซาก และเสี่ยงทำผิดซ้ำสูง

3.กลุ่มมีความเสี่ยงระดับต่ำ ส่งร่วมกิจกรรมเชิงให้ความรู้เกี่ยวกับกฎจราจร วินัยจราจร หลักธรรมะ และจูงใจเลิกพฤติกรรม

สำหรับผู้ถูกคุมประพฤติที่อาจกระทำผิดซ้ำ นอกจากมาตรการข้างต้นยังมีมาตรการเสนอศาลเพิ่มเงื่อนไขคุมประพฤติ เช่น เพิ่มชั่วโมงการทำงานบริการสังคม

ทั้งนี้ ในปี 2565 กรมคุมประพฤติจัดค่ายแก้ไขฟื้นฟูแบบเข้มข้นกับผู้กระทำผิดเมาขับจำนวน 10 แห่ง เป้าหมายแห่งละ 20 ราย รวม 200  ราย จัดกิจกรรมบริการสังคมเพื่อป้องกันอุบัติเหตุอีก 25 แห่ง เป้าหมายแห่งละ 20 ราย รวม 500 ราย

ข้อมูลจาก ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) จำแนกระดับแอลกอฮอล์ในเลือดกับความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เปรียบเทียบให้เห็นอันตรายที่มากขึ้นตามปริมาณแอลกอฮอล์ คือ

แอลกอฮอล์ในเลือด 80 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น 3 เท่า

แอลกอฮอล์ในเลือด 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น 8 เท่า

แอลกอฮอล์ในเลือด 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น 40 เท่า

ระดับแอลกอฮอล์นอกจากชี้ให้เห็นเกณฑ์อันตรายที่จะเกิดขึ้นบนท้องถนนแล้ว  ยังเป็นหนึ่งเกณฑ์สำคัญที่จะนำไปสู่มาตรการคุมประพฤติที่เข้มข้นขึ้นตามลำดับกับผู้ถูกคุมประพฤติเมาขับด้วย.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]