ผมแปลกใจว่ามีศิลปินคนไทยด้วยเหรอ เพราะเพื่อน ๆ ผมที่สะสมของเล่นพวกนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นผลงานของศิลปินต่างชาติทั้งนั้น ผมขึ้นไปและได้พบกับ “ริน” หรือ คุณศิรินญา ปึงสุวรรณ เมื่อได้พูดคุย เรื่องราวของเธอน่าสนใจ จึงอยากจะมาเล่าให้ฟังดังนี้ครับ

เด็กแผนวิทย์ แต่ชอบงานศิลปะ

รินเล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่เด็ก เธอไม่มีเพื่อนแถวบ้านเยอะนัก เธอชอบของเล่นและตุ๊กตา ไปไหนก็จะมีของเล่นตัวเล็กติดตัวไปเป็นเพื่อน รินเป็นเด็กต่างจังหวัด เรียนที่จังหวัดอุดรธานี เป็นเด็กเรียนดีมาตลอดและรู้ว่าตัวเองชอบศิลปะ แต่เพื่อความสบายใจของญาติผู้ใหญ่ที่อยากให้เรียนแผนวิทย์ เพราะคิดว่าในอนาคตน่าจะประกอบอาชีพที่มั่นคงได้มากกว่า เธอจึงเรียนแผนวิทย์และสอบเข้าคณะวิทยาศาสตร์ เอกคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เสพงานศิลป์ตลอด 4 ปี

รินบอกว่าเลือกเรียนเอกคณิตศาสตร์ เพราะดูแล้วน่าจะเรียนง่ายและไปรอด ไม่ต้องใช้ความพยายามเท่าสาขาอื่น เพื่อที่เธอจะใช้เวลาที่เหลือไปดูงานศิลปะได้ทุกที่ทุกแขนง ถือเป็นการเปิดโลกให้กับตัวเอง รินบอกว่าทำแบบนี้มาตั้งแต่ปี 1 จนเรียนจบปี 4 ถ้ารู้ว่ามีงานที่ไหนก็ไปทุกอีเวนต์ ดูงานวาดภาพ การออกแบบ งานปั้น ประติมากรรม คอสเพลย์ก็ไป เพราะอยากเสพและซึมซับงานด้านศิลปะให้มากที่สุด เพื่ออยากรู้ว่าตัวเองชอบอะไรมากที่สุด

เริ่มทำโมเดลตอนปี 3

มีอีเวนต์อยู่งานหนึ่งชื่อ “แมวเก้าชีวิต” จัดที่สยามพารากอน มีศิลปินมาเพนท์ผ้าพันคอ รินยืนดูตั้งแต่ต้นจนจบ ศิลปินท่านนั้นทำเสร็จ หันมาถามเธอว่าชอบงานศิลปะหรอ รินตอบว่าใช่ ศิลปินท่านนั้นให้เพจของศิลปินหลายท่าน เพื่อให้รินไปติดตามงานเพิ่มเติม พอถึงปี 3 เริ่มรู้ว่าตัวเองชอบการใช้มือหยิบจับและชอบปั้น ได้เห็นศิลปินท่านหนึ่งทำงานด้านโมเดล (แบบไม่ต้องเข้าโรงงาน) รินเรียนผ่านเฟซบุ๊ก พอไม่เข้าใจก็ส่งข้อความไปสอบถาม ฝึกฝนทดลองด้วยตัวเองด้วยการปั้นต้นแบบและหล่อเรซิ่น มุ่งมั่นศึกษาทุกส่วนผสม หยอดกี่หยดถึงจะพอดี ใส่ลูกเล่น เริ่มทำเรซิ่นสีรุ้งได้ ตั้งใจทำอยู่ 2 ปีจนทำเป็นในที่สุด

เห็นงานคาแรกเตอร์จากต่างประเทศ

รินชอบท่องเที่ยว ช่วงระหว่างปิดเทอม เธอไปเรียนและทำงานแบบ Work & Travel ที่ซานฟรานซิสโก ที่นั่นมี Platform Toy ออกมา ชื่อ Dunny เพื่อให้ศิลปินต่าง ๆ เติมแต่งได้ตามต้องการ ทำให้เธอได้แรงบันดาลใจว่า สักวันหนึ่งอยากจะมีงานแบบนี้ของตัวเองออกมาบ้าง แต่ก็ได้แต่เก็บไว้ในใจ

“โต่ย” คาแรกเตอร์ตัวแรก

ช่วงที่เรียนปี 4 เธอสร้างคาแรกเตอร์ตัวแรกขึ้นมา ชื่อว่า “โต่ย” (Toi) ซึ่งเป็นคำเรียก “กระต่าย” ของเด็กที่พูดไม่ค่อยชัด โต่ยเป็น Platform Toy เสมือนกระดาษเปล่าที่รินอยากจะใส่เรื่องราวและประสบการณ์ในช่วงเวลานั้น ๆ ลงไปเพื่อให้ผู้คนได้รับรู้ คอนเซปต์งานของรินจะค่อนข้างชัดเจนคือ เป็นงานที่ไม่สมบูรณ์ ไม่เป๊ะ เพราะเธอเชื่อว่าความไม่สมบูรณ์คือสิ่งที่สวยงาม ถ้าสังเกต หูของโต่ยจะแหว่ง ร่างกายทั้งฝั่งซ้ายขวาจะไม่เท่ากัน นั่นเป็นสิ่งที่รินต้องการจะสื่อสารออกไป โดยเซตแรกของโต่ยคือ เรซิ่นสีรุ้งเพราะเป็นกระบวนการเรียนรู้ศึกษาอุปกรณ์ทั้งผิดและถูกของเธอที่ผ่านมาในอดีตจนกระทั่งทำงานเรซิ่นและขึ้นโมเดลเป็น เมื่อโต่ยออกมา ตลาดของ Art Toy เริ่มบูมพอดี เริ่มมี community และงานอีเวนต์มากขึ้น ผลงานคาแรกเตอร์ตัวแรกของรินได้แสดงในงาน Art Toy ที่จัดที่หอศิลป์กรุงเทพฯ

เรียนจบทำงานด้านศิลปะ

เมื่อเรียนจบ รินสมัครเข้าทำงานบริษัท EQ Plus ซึ่งทำการ์ตูนความรู้และการ์ตูนวิทยาศาสตร์ รินบอกกับบริษัทตรง ๆ ว่าเธออยากทำงานที่นี่ แต่วาดรูปไม่เป็นเลย บริษัทรับเพราะอาจจะเห็นความตั้งใจจริง พร้อมทั้งให้คนจากฝ่ายศิลป์มาสอนพื้นฐานด้านศิลปะตั้งแต่ต้น เริ่มจากวาดเส้นตรง วงกลม แล้วค่อย ๆ ขยับไปทีละขั้น จนวันหนึ่งบริษัทถามรินว่า คิดว่าชอบงานทางด้านไหน รินตอบว่าชอบโมเดลเพราะเคยทำและคิดว่าปั้นโมเดลได้ บริษัทก็ส่งไปเรียนงานปั้นและพ่นสี จนได้ปั้นโมเดลตามคาแรกเตอร์ของบริษัท

กำเนิด Fenni

ในช่วงที่ทำโมเดล รินไม่ค่อยได้เจอผู้คนมากนักเลยรู้สึกเหงาบ้าง เธอนึกถึงช่วงเวลาตอนเป็นเด็กที่ได้เล่นกับตุ๊กตาและรู้สึกว่าตุ๊กตาเหล่านั้นมีชีวิต เขาคือเพื่อนจริง ๆ รินรู้สึกว่าต้องมีคนที่เหงาและรู้สึกเหมือนกันแน่ ๆ เธอจึงอยากสร้างคาแรกเตอร์ตัวหนึ่งขึ้นมา เพื่อให้เขาเป็นเพื่อน เป็นตัวแทนของความรัก เป็นคนรักเป็นคู่ชีวิต ที่จะทำให้พวกเขารู้สึกไม่เหงา รินสร้าง Fenni ขึ้นมาจาก Fennec Fox ที่มีรักเดียว มีคู่ครองตัวเดียว เพื่อให้ Fenni ได้เป็นเพื่อนและเป็นทุกอย่างให้พวกเขา เธอยังคงความไม่สมบูรณ์แบบเอาไว้ผ่านทางร่างกายของ Fenni โดยที่ผู้ที่เคยเห็นปัญหาตรงนั้นแล้ว เขาจะแกล้งทำเป็นไม่เห็นไม่ได้อีกเลย ส่วนคนที่ไม่เห็น เขาอาจจะไม่เห็นเลยตลอดไปก็ได้ มันเป็นสิ่งที่แทนว่า “Do you still love me, if I’m not perfect.”

ดังไกลไปประเทศจีน

Fenni ได้ไปแสดงในงาน Thailand Toy Expo ครั้งที่ 3 มีบริษัทที่จีนมาบินมาคุยและเซ็นสัญญา ติดต่อให้รินไปร่วมงานอีเวนต์ที่นั่น โดยให้ทำตัว Fenni 2 ตัวเพื่อนำไปประมูลและเพนท์สเกตบอร์ดที่งาน รินก็ทำไปด้วยผลงานของเธอได้รับการประมูลเป็นเงิน 80,000 บาทต่อตัว ทำให้รินคิดได้ว่า การสร้าง Art Toy ก็เป็นอาชีพได้เหมือนกัน เมื่อกลับมาเธอรู้สึกว่าควรจะออกจากงานประจำ แล้วมาโฟกัสเรื่องการทำ Art Toy ให้จริงจังดีกว่า หลังจากนั้นรินได้รับเชิญไปประเทศจีนทุกเดือน (ปีละ 10 ครั้ง) เป็นเวลา 3 ปี ไปงานอีเวนต์สลับกับไปดูโรงงาน ทำให้เธอได้เห็นกระบวนการผลิตโมเดลทั้งหมด

สิ่งที่ซ่อนอยู่ใน Art Toy

รินบอกว่าวัสดุที่ใช้จะมี 2 แบบ เรซิ่นจะแข็งตกแล้วแตกได้คล้ายเซรามิก และอีกแบบจะเป็นซอฟต์ไวนิล เหมือนพลาสติกหรือยางที่ยืดหยุ่นได้ดีกว่า ตกไม่แตก ที่ประเทศจีนใช้แบบนี้มากกว่า ส่วนเมืองไทยไม่มีโรงงานซอฟต์ไวนิลเลย ส่วนสิ่งที่ซ่อนอยู่ใน Art Toy แต่ละเซต เช่น “โต่ย” ยังผลิตอยู่เรื่อย ๆ มีธีมตามอารมณ์ในช่วงนั้น ถ้ารินสนใจเรื่องอวกาศ โต่ยก็จะเป็นแนวอวกาศ แต่ละตัวไม่ซ้ำกัน ส่วน “Fenni” จะออกมาเป็นซีรีส์ บางรุ่นมากน้อยไม่เท่ากัน แต่ละรุ่นขนาดตัวจะเหมือนกัน แต่หน้าจะแตกต่างกันเพราะรินจะวาดดวงตาของ Fenni เองทุกตัว ขนาดและระยะห่างของดวงตาจะขึ้นอยู่กับอารมณ์ของศิลปินในช่วงนั้น มีแฟนคลับที่ซื้อไปแจ้งว่า ปีครึ่งเขาตามเก็บทุกรุ่นได้ 40 ตัวแล้ว พอเอามาวางเทียบกันจะสังเกตเห็นความแตกต่าง ส่วนบางรุ่นรินจะทำขึ้นมาพิเศษมีไม่กี่ตัว เช่น นำดอกไม้ที่แฟนคลับให้ ใส่หัวใจลงไปใน Art Toy ตัวนั้นเลย (รินทำการหล่อเรซิ่นเป็นอยู่แล้ว) ตัวแบบนี้ถือว่าเป็นตัวพิเศษ

โควิดส่งผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเกิดโควิด รินได้รับผลกระทบเต็ม ๆ เช่นกัน เพราะไม่สามารถเดินทางไปออกงานในต่างประเทศได้ โดยเฉพาะประเทศจีน ยอดขายของ Art Toy โดยรวมในตลาดจะลดต่ำลงเพราะคนจะระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม รินจะพยายามออกงานสม่ำเสมอเฉลี่ยเดือนละครั้ง เพื่อไม่ให้งานขาดตอน

เกิดคาแรกเตอร์ตัวที่ 3 และ 4

ระหว่างทั่วโลกหยุดกิจกรรมปกติเพราะโควิด 2 ปี รินเองก็เช่นกัน เธอได้เห็นเพื่อนติดโควิดและเป็นห่วงเพราะนอนเหงาอยู่คนเดียว จึงได้แรงบันดาลใจสร้างคาแรกเตอร์ขึ้นมาชื่อ Toby เป็นหมีที่มีนิสัยเหมือนเด็ก มีความสุขง่าย อยากกอดและแสดงความรัก

Hy-de เป็นคาแรกเตอร์ตัวล่าสุดที่เปิดตัวได้ไม่นาน Hy-de เป็นคาแรกเตอร์ของไฮยีน่า ซึ่งทุกคนมองว่าเป็นผู้ร้ายในการ์ตูน ตัวของเขาเป็นสีเทาดำ ฟันเป็นซี่มีน้ำลายไหลดูอันตราย ไม่เคยมีใครศึกษาข้อมูลจริง ๆ ว่าธรรมชาติของไฮยีน่าเป็นแค่สัตว์กินซาก ทำให้วัฏจักรสิ่งชีวิตของโลกหมุนเวียนได้สมดุล เขาแค่ถูกธรรมชาติสร้างมาให้หน้าตาเป็นอย่างนั้น รินพยายามสร้างคาแรกเตอร์นี้สื่อสารให้ผู้คนมองในด้านดี ๆ กันบ้าง

นางแบบและนักแสดงก็มา

นอกเหนือจากนี้ รินชอบเรื่องของการแสดงและแฟชั่นด้วย ทำให้เธอรับงานแสดง ถ่ายแบบ และแฟชั่นด้วยเช่นกัน เธอตั้งใจทำให้ดีที่สุดในทุกสิ่งที่เธอรัก

ใครที่สนใจผลงาน Art Toy และต้องการติดตามศิลปิน “ริน” จากงานศิลปะหรืองานแสดง เข้าไปตาม Facebook page: Poriin  และ Instagram: Poriin_Poriin ได้เลยครับ.

………………………………………..
คอลัมน์ : ก้อนเมฆเล่าเรื่อง
โดย “น้าเมฆ”
https://facebook.com/cloudbookfanpage