เหลือเวลา 1 เดือนเศษ จะถึงวันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ท่ามกลางบรรยากาศการหาเสียงของผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. ที่เป็น “ตัวเต็ง” ในสายตาประชาชนและสำนักโพลต่างๆ กำลังลุยหาเสียงให้ทั่ว 50 เขต พร้อมกับชูนโยบายการทำงานกันออกมามากมาย

แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในอดีต และเพิ่งมีในครั้งนี้คือการแนะนำ “หัวหน้าทีมนโยบายเศรษฐกิจ” ของ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.หมายเลข 8 อย่าง “ดร.ยุ้ย” ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีผลกระกอบการเป็นกำไรสุทธิปีละกว่า 1 พันล้านบาท และยังลงทุนพัฒนาโครงการในปี 65 จำนวน 49 โครงการ ด้วยเม็ดเงินลงทุนประมาณ 20,000 ล้านบาท

งานเศรษฐกิจ กทม.ทำได้ทั้งทางตรง-อ้อม

ทีมข่าว Special Report มีโอกาสสนทนากับ “ดร.ยุ้ย” ในฐานะหัวหน้าทีมนโยบายเศรษฐกิจของ ดร.ชัชชาติ เกี่ยวกับบทบาทและความจำเป็นของทีมนโยบายเศรษฐกิจ จะช่วยในคนกรุงเทพฯ มีสภาพความเป็นอยู่ดีขึ้น และมีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นมากน้อยอย่างไร

“ดร.ยุ้ย” กล่าวว่า ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.คนอื่นมีการทำนโยบายเศรษฐกิจด้วยหรือเปล่าตนไม่แน่ใจ แต่สำหรับของ ดร.ชัชชาติมีการกำหนดเรื่องเศรษฐกิจเป็นนโยบายออกมาเลย ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีใครเคยได้ยินว่าผู้ว่าฯ กทม. มีทีมเศรษฐกิจ เพราะรู้สึกกันว่านโยบายเศรษฐกิจต้องเป็นภาพใหญ่ของรัฐบาล

แต่ในความเป็นจริง กทม.เป็นเจ้าของพื้นที่ ถือว่ามีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (Economic Activity) ยกตัวอย่างเราเป็นเจ้าของพื้นที่ร้านกาแฟ ถ้าเราทำร้านให้ดี สะอาด สวยงาม ก็น่าจะมีลูกค้าเข้าร้านมากกว่าที่เราไม่ได้ทำอะไรเลย อันนี้ในฐานะเจ้าของพื้นที่ ซึ่งยังไม่ได้พูดถึงเรื่องภาษีของกาแฟเลยนะ

โดยปกตินโยบายของผู้ว่าฯ กทม. คงหนีไม่พ้นเรื่องปัญหารถติด ปัญหาน้ำท่วม แต่การหาเสียงเลือกตั้งในช่วงโควิด-19 ปัญหารถติดและน้ำท่วมไม่เดือดร้อนหนักเหมือนสภาพเศรษฐกิจปากท้อง คนไม่มีจะกิน สภาพแบบนี้คือสิ่งที่เราต้องมองและหาทางแก้ไข

ถ้าคิดว่าไม่ต้องมีทีมเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นส่วนเล็กๆ ถ้าคิดแบบนั้นตั้งแต่แรก แสดงว่า กทม.ไม่มีบทบาทสำคัญในการช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้คนกรุงเทพฯ เลย แต่ถ้าคิดว่าช่วยได้ เราต้องตั้งหลักตั้งแต่แรกว่าจะสามารถช่วยอะไรได้บ้าง คือ 1.ช่วยทางตรง คือเข้าไปทำเองได้เลยตรงไปตรงมา แล้วเกิดผลกระทบชัดเจน เช่น จัดพื้นที่เศรษฐกิจเพื่อชุมชน-พัฒนาตลาดน้ำ เราสามารถเข้าไปครีเอทสถานที่ เอาคนในชุมชนมาร่วมกันขายของ กทม.สามารถเป็นหัวหน้าออแกไนซ์ ทำอีเวนต์ต่างๆ ทำโปรโมชั่นให้เกิดเศรษฐกิจชุมชน

2.ทำทางอ้อม ถ้าเราอยากให้ผู้คนมาเที่ยวกรุงเทพฯ มากๆ จะทำอย่างไร? ซึ่งคนทั่วไปมองว่าเป็นงานของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แล้ว ททท.ไม่ได้ขึ้นกับ กทม. แต่ กทม.ในฐานะเจ้าของพื้นที่ต้องทำพื้นที่ของตัวเองให้สะอาด และปลอดภัย ถ้าพื้นที่เราปลอดภัยมากขึ้น ใครก็อยากจะเข้ามาเที่ยว

“สรุปคือทีมเศรษฐกิจ หรือนโยบายทางเศรษฐกิจของ กทม. สามารถทำได้ทั้งทางตรง และทางอ้อม งานบางอย่าง กทม.เป็นเจ้าภาพหลักได้เลย แต่บางอย่างเข้าไป “บิลต์อิน” เพราะปัญหาเศรษฐกิจในพื้นที่กทม.มีเยอะมาก เพียงแต่เราจะมองทางตรง หรือทางอ้อมเพื่อแก้ปัญหาก่อนหรือหลัง”

ทำบ้านคนมีรายได้น้อยผ่านกลไกที่มีอยู่


“ดร.ยุ้ย” กล่าวต่อไปว่าหนึ่งในนโยบายเศรษฐกิจที่เราคิดไว้ คือการทำที่อยู่อาศัยสำหรับคนที่มีรายได้ไม่มาก ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง เนื่องจากมีการลงทุนและมีการจ้างงาน

ถ้าเราอยู่ในสังคมข่าวสาร มักจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับบ้านล้นตลาด ภาวะคอนโดฯ ล้นตลาด โซนนั้นกำลังมีปัญหาโอเวอร์ซัพพลาย แบงก์ชาติแตะเบรกโครงการใหม่ๆ แต่ถ้าเราเดินออกไปจากโซนโอเวอร์ซัพพลายเพียงไม่กี่เมตร จะเห็นสภาพชุมชนแออัดมากมาย อยู่อาศัยกันในบ้านที่ไม่มั่นคง คือสภาพขาว-คำ ของคนเมืองหลวงอยู่ใกล้ๆกัน บ้านที่ไม่มั่นคงอยู่ใกล้ๆ กับบ้านที่โอเวอร์ซัพพลาย แล้วคนในชุมชนก็ไม่มีกำลังที่จะซื้อบ้านโอเวอร์ซัพพลาย

บางทีซื้อได้แต่อยู่ไกลมาก จึงไม่ใช่คำตอบของเขา เพราะค่าเดินทางจะสูงมาก และไกลจากแหล่งงานซึ่งอยู่ในเมือง ยกตัวอย่างย่านคลองสาน มีชุมชนเยอะมาก ห้างฯ ก็เยอะ และค่าเช่าห้องไม่ใช่ถูกๆ เดือนละ 7,000 บาท ค่าเช่าขนาดนี้สามารถซื้อคอนโดฯ ห้องละ 1 ล้านบาทได้ แต่ย่านคลองสานไม่มีคอนโดฯ ห้องละ 1 ล้านบาท ราคานี้มีเหมือนกันแต่ต้องออกไปไกลมาก ไกลแหล่งงาน ค่าเดินทางสูง ดังนั้นคนมีรายได้น้อยค่าเดินทางยิ่งแพง ตกประมาณ 20-28% ของรายได้ เพราะเมืองไม่ได้ดีไซน์มาให้คนออกไปซื้อบ้านไกลแล้วเดินทางเข้ามาด้วยค่าโดยสารถูกๆ เหมือนในประเทศญี่ปุ่น

กทม.ไม่ใช่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แล้วจะทำอย่างไร? ดร.ยุ้ย กล่าวว่า มีกลไกที่สามารถทำได้ตามหลักการก่อน คือ 1.การเคหะแห่งชาติ เราต้องหาช่องทางคุยกับการเคหะ เพราะทุกวันนี้หลายโครงการของการเคหะยังมีบ้านเหลือ เพราะไปสร้างในทำเลที่หาที่ดินได้ ออกไปรอบๆ เมือง บ้านจึงเหลือ ทั้งที่ “พับลิค เฮาส์ซิ่ง” ไม่ควรเหลือ ควรทำบ้านให้คนมีรายได้น้อย

2.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ขึ้นกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ (พม.) พอช.ทำบ้านมั่นคงให้ผู้มีรายได้น้อย แต่มีเงื่อนไขว่าต้องหาที่ดินเอง หาผู้ก่อสร้างเอง และทำเป็นแบบสหกรณ์ พอช.ให้กู้ 15 ปี อัตราดอกเบี้ย 4% ขณะที่ใน กทม.มีประมาณ 2,000 ชุมชน ในจำนวนนี้เป็นชุมชนแออัดของผู้มีรายได้น้อยถึง 600 ชุมชน นี่เป็นโจทย์ของ พอช.ได้เกือบหมด แต่ยังทำบ้านมั่นคงได้ไม่ถึงครึ่งของ 600 ชุมชน เนื่องจากปัญหาการหาที่ดิน แม้จะเปิดช่องว่าไม่จำเป็นต้องซื้อ เป็นที่ดินเช่าก็ทำบ้านมั่นคงได้

ช่วยชาวชุมชนให้เข้าเงื่อนไขพอช.ง่ายขึ้น


แต่ กทม.ไม่ได้ทำตัวเป็น พอช. หรือจะตั้งพอช.ขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่นะ! แต่จะช่วยให้ชาวชุมชนสามารถเข้าเงื่อนไขของ พอช.ได้ง่ายขึ้น ปัญหาคือชาวชุมชนรวมตัวกันยาก แต่มีบางชุมชนสามารถตั้งเป็นสหกรณ์ได้ เราจะเข้าไปดูตัวอย่างว่าทำได้อย่างไร รวมทั้งการหาที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นที่ดินของ กทม. ที่ดินธนารักษ์ ที่ดินทหาร และที่ดินวัด ตรงนี้สามารถขอเช่าได้ ชาวบ้านอาจไม่กล้าไปคุยกับวัดเพราะเขาตัวเล็กๆ อยากให้ผู้อำนวยการเขตไปช่วยคุยกับทางวัดในลักษณะนี้ก็ได้ แต่ไม่ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จทุกแปลง


หรือที่ดินบางแปลงราคาดี แต่เอกชนซื้อแล้วนำไปพัฒนาไม่ได้ เพราะติดขัดกฎหมายจัดสรร กฎหมายคอนโดฯ ถนนทางเข้าต้องกว้าง 6 เมตร ต้องมีพื้นที่จอดรถ 30% แต่ พอช.สามารถนำที่ดินเหล่านี้ไปสร้างเป็นบ้านมั่นคงสำหรับผู้มีรายได้น้อยได้ เนื่องจากบังคับใช้กฎหมายไม่เหมือนกัน ขนาดบ้านเล็กลงได้ ถนนไม่ต้องกว้างถึง 6 เมตร

ในฐานะที่เราเป็นนักพัฒนาที่ดินและมองเห็นช่องว่างตรงนี้ ขณะที่ กทม.มีกลไกมากมาย อยู่ที่เราจะแอคทีฟแค่ไหนเท่านั้นเอง ไม่ได้จะเริ่มต้นใหม่หมด แต่จะเข้าไปดูในสิ่งที่มีอยู่แล้ว และสามารถทำต่อได้เลย


“จากการลงพื้นที่ช่วงที่ผ่านมา พบว่าปัญหาชุมชนแออัดมีเยอะมาก บางชุมชนกำลังถูกวัดไล่ที่ บางชุมชนเข้าไปอยู่ในตึกที่เป็นเอ็นพีแอล อยู่กันมากว่า 10 ปี แต่เจ้าของกลับมาแล้ว ตึกเอ็นพีแอลกำลังจะขายได้ แล้วชุมชนจะย้ายออกไปอยู่ที่ไหน บางชุมชนตั้งอยู่บนที่ดินของหน่วยงานรัฐกันมา 40 ปีแบบผิดกฎหมาย หน่วยงานรัฐไม่ได้ขับไล่อย่างจริงจัง คนเหล่านี้ไม่มีบ้านเลขที่ จึงขอไฟฟ้าไม่ได้ ต้องใช้มิเตอร์ชั่วคราว และต่อไฟพ่วงกัน จึงเสียค่าไฟแพงกว่าปกติ 1 เท่าตัว ทั้งที่มีรายได้น้อย แถมยังต้องจ่ายค่าไฟแพง แล้วยังมีปัญหาไฟตก ไฟดับ อันนี้น่าเห็นใจมาก”

รวมทั้งปัญหาที่กำลังเกิดคือชุมชนริมทางรถไฟมักกะสัน เราเข้าไปดูในฐานะนักพัฒนาที่ดิน จะแก้ปัญหาให้ชาวชุมชนอย่างไร อันดับแรกคือสแกนพื้นที่ในรัศมี 5 กม. ว่ามีตรงไหนทำบ้านให้พวกเขาได้บ้าง ถ้ายังไม่มีก็ต้องหมุนออกไปเป็น 10 กม. เพราะถ้าไกลจากนี้จะไม่ตอบโจทย์ชีวิตจริง คือไม่ใกล้แหล่งงาน และจะช่วยให้ชุมชนดังกล่าวเข้าสู่เงื่อนไขของพอช.ได้อย่างไร เพราะบ้านมั่นคงหลังละ 3-4 แสนบาท ทำได้

เหลื่อมล้ำสูง! แก้ “การศึกษา-สาธารณสุข” ก่อน!


เมื่อถามถึง กทม.มีงบประมาณปีละ 8-9 หมื่นล้านบาท ควรจัดสรรไปทำอะไรก่อน? ดร.ยุ้ย กล่าวว่า ปัญหาคลาสสิกของเมืองใหญ่คือ “ความเหลื่อมล้ำ” รายได้ของผู้ใช้แรงงาน คนหาเช้ากินค่ำตามไม่ทันกับทุน ยิ่งมาเจอปัญหาเงินเฟ้อสูงๆ ยิ่งน่าเห็นใจคนระดับล่างมาก เพราะมีรายได้ต่ำลง 9% ขณะที่คนรอบๆ กรุงเทพฯ รายได้ต่ำลงแค่ 1% คือเอารายได้ที่แท้จริงลบกับเงินเฟ้อ เงินเฟ้อเยอะแต่รายได้น้อย เนื่องจาก 1-2 ปีไม่มีปรับค่าแรง แต่ค่าครองชีพขึ้นกว่า 10% คนรอบนอกมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าคนกรุงที่หมดไปกับค่าเดินทาง

โดยปกติปัญหาความเหลื่อมล้ำจะมองกัน 4 เรื่อง คือ 1.รายได้ 2.ทรัพย์สิน 3.โอกาสเข้าถึงการศึกษา 4.คุณภาพสาธารณสุข ทั้ง 4 เรื่องมีช่องว่างความเหลื่อมล้ำสูงมากสำหรับคนเมืองหลวง แต่ช่องทางที่จะแก้ไขได้รวดเร็วและแฟร์ที่สุด คือ การจัดสรรงบประมาณมาดูแลเรื่องการศึกษาและสาธารณสุข เพื่อให้คนมีสติปัญญา มีร่ายกายแข็งแรงออกไปทำงานสร้างรายได้

วันนี้โรงเรียน กทม.มีประมาณ 400 โรง มีสอน 2 ภาษา แค่ 70 โรงเท่านั้น แต่เราอยากดึงให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวกรุงเทพฯ มากๆ ซึ่งมันย้อนแย้งกัน และต้องคืนครูให้นักเรียน กทม. ทุกวันนี้ครูต้องเสียเวลาทำเอกสารเพื่อประเมินปรับตำแหน่งตัวเอง แล้วจะมีเวลา มีสมาธิสอนนักเรียนหรือ?

“สมัยก่อนความเหลื่อมล้ำอยู่ระหว่างโรงเรียนของ กทม. กับโรงเรียนสาธิต โรงเรียนสวนกุหลาบ โรงเรียนเทพศิรินทร์ แต่ตอนนี้ความเหลื่อมล้ำไม่ได้อยู่แค่โรงเรียน กทม.กับโรงสาธิต หรือสวนกุหลาบ แต่ความเหลื่อมล้ำยิ่งห่างกันมากขึ้นระหว่างโรงเรียน กทม. กับโรงเรียนอินเตอร์ไปแล้ว โดยปัญหาไม่ได้อยู่ที่ทำเลที่ตั้งของโรงเรียน กทม. เพราะหลายแห่งตั้งอยู่ในทำเลดีกลางเมือง แต่ปัญหาคือซอฟต์แวร์” ดร.ยุ้ย กล่าว