เมื่อวันที่ 3 พ.ค. เจ้าหน้าที่สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตร่วมกับชุมชนบ้านคะแนง หมู่ 10 ต.แม่ลาว อ.เชียงคำ จ.พะเยา ลงพื้นที่ทำการสำรวจงานวิจัยลักษณะงานวิจัยชาวบ้านคะแนง ในประเด็นเรื่องสัตว์น้ำ ระบบนิเวศต้นน้ำลาวและเต่าปูลู เป็นครั้งที่ 2 เพื่อศึกษาข้อมูลความสำคัญของต้นแม่น้ำลาวที่มีต่อชุมชนรวมถึงความหลากหลายของระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิต เพื่อนำเสนอต่อหน่วยงานภาครัฐในการประกอบการพิจารณายุติการการสร้างเขื่อนแม่น้ำลาวของกรมชลประทาน โดยชาวบ้านได้พบฟอสซิลหอย ในก้อนหินที่พบได้ทั่วไปในแม่น้ำลาว และได้นำตัวอย่างส่งให้ผู้เชี่ยวชาญทางธรณีวิทยาตรวจสอบพบว่าเป็น ฟอสซิลหอยสองฝา สกุล Daonella และทางผู้เชี่ยวชาญได้ลงพื้นที่ร่วมกับคณะนักวิจัยชาวบ้านคะแนงศึกษาดูลักษณะหินที่อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำลาว

ดร.รัตนาภรณ์ ฟองเงิน อาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการสำรวจดูหินในลำห้วยแม่ลาว พบหินอยู่ 3 ชนิดหินที่พบเยอะที่สุด คือ หินตะกอนภูเขาไฟ หรือหินทราย ลักษณะออกสีเขียวๆ เนื้อแข็งมากพวกนี้คือมีคุณค่าคือมีซากฟอสซิล ซากหอย จัดอยู่ในหมวดหินฮ่องหอย (Hong Hoi Formation) กลุ่มหินลำปาง Lampang Group จากที่ดูเป็นหอยสองฝา สกุล Daonella สามารถบอกช่วงอายุได้คือประมาณ 200 ล้านปี ชนิดที่ 2 เป็นหินตะกอนภูเขาไฟสีแดง ที่เกิดบนทวีป และชนิดที่ 3 คือ หินปูนที่อยู่บนภูเขาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภูลังกา หินปูนอย่างที่ชาวบ้านบอกกันมาว่าเป็นห้วยที่ไหลลงมาจากช่องหินปูน สุดห้วยเป็นตาน้ำผุดออกมา เป็นระบบน้ำผุดออกมาจากใต้ผิวดินกลายมาเป็นลำห้วยสาขาที่มาลงแม่น้ำลาวมีคุณค่าคือ เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารนี่คือหินภาพรวมของต้นแม่น้ำลาว นอกจากนี้ชาวบ้านยังได้พบฟันกรามของช้าง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางธรณีวิทยาระบุว่า เป็นฟันกรามของช้าง สายพันธุ์ปัจจุบัน Elephas ด้วย

“ต้นน้ำลาวนอกจากเป็นพื้นที่สำคัญทางธรณีวิทยา จากการพบซากของเปลือกหอยสองฝา พื้นที่แห่งนี้หลายล้านปีเคยเป็นทะเล แผ่นเปลือกโลกได้เคลื่อนตัวจากการระเบิดของภูเขาไฟจากลักษณะหินที่พบจาก 2 ใน 3 ชนิด สำหรับหอยสองฝาสกุล Daonella ที่เจอในหินสีเขียว อยู่ในชั้นกรวดในชั้นหินภูเขาน่าจะมีเยอะอยู่พอสมควร เพราะแค่เรานั่งอยู่ตามหาดหินก็เจอได้ง่าย และหอยพวกนี้สามารถบอกช่วงอายุของมันได้แน่นอน เพราะฉะนั้นการพบเจอมันมีคุณค่าทางธรณีวิทยาอยู่แล้ว การศึกษาที่ผ่านมาเวลาทีมนักวิจัยลงพื้นที่สนามก็จะไปตามหาฟอสซิลหอยเหล่านี้พอเจอแล้วก็จะสามารถยืนยันว่ามันอยู่ในหมวดหินกลุ่มลำปาง สามารถบอกชื่อได้เลย มันมีคุณค่าทางธรณีวิทยาค่อนข้างสูง” ดร.รัตนาภรณ์ กล่าว

ด้านนายปิ่นศักดิ์ ไชยวารินทร์ ผู้ใหญ่บ้านคะแนง หมู่ 10 กล่าวว่า ต้นน้ำลาวเป็นเสมือนเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงชุมชน มีความสำคัญต่อชุมชนมาก จากการวิจัยครั้งนี้ก็ได้ชี้ให้เห็นว่า มีปลาที่อาศัยอยู่ต้นน้ำลาว 20 ชนิด เป็นปลาที่อาศัยอยู่เฉพาะพื้นที่ต้นน้ำ รวมถึงต้นน้ำลาวเป็นแหล่งที่อาศัยของเต่าปูลูสัตว์หายากใกล้สูญพันธุ์ ทางชุมชนบ้านคะแนงจะนำข้อมูลงานวิจัยชาวบ้านเหล่านี้ยื่นให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการยุติการสร้างเขื่อนแม่น้ำลาว ที่ได้สร้างความกังวลให้คนในชุมชน ที่ผ่านมาทางนายอำเภอเชียงคำได้ลงพื้นที่รับฟังเสียงของชุมชนในพื้นที่ตำบลแม่ลาว ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยการกับสร้างเขื่อน เพราะว่าในพื้นที่ตำบลแม่ลาวไม่ได้ประโยชน์จากการสร้างเขื่อนเลย ตอนนี้เขื่อนแม่ลาวอยู่ในช่วงชะลอ แต่ไม่ใช่ยุติหรือยกเลิก ไม่รู้เขาจะกลับมาทำอีกเมื่อไหร่ แต่ชาวบ้านเราไม่เอาแน่นอนเพราะมันสร้างผลกระทบต่อชุมชน