ใกล้โค้งสุดท้ายหลายคนอาจหลงลืมกันไปบ้างแล้ว สำหรับนโยบายของผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือเรียกสั้นๆ ว่า ผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งมีผู้สมัครทั้งสิ้น 31 คน แต่ กกต. ตรวจสอบแล้วขาดคุณสมบัติ 2 คน จึงเหลือผู้สมัคร 29 คน ให้ประชาชนได้เลือกเข้ามารับใช้คนกรุงเทพฯ ในฐานะผู้ว่าฯ กทม.คนที่ 17

แน่นอนผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. แต่ละคนก็ตะลุยหาเสียงกันตามกลยุทธ์ที่วางไว้ ไม่ว่าจะลงพื้นที่พบปะประชาชน เคาะประตูบ้าน จัดเวทีปราศรัย เพื่อบอกต่อนโยบายของตัวเอง ซึ่งก็ต้องเป็นนโยบายดีๆ ที่คิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของคนกรุงเทพฯ แก้ปัญหาและพัฒนากรุงเทพมหานครให้เจริญรุ่งเรือง

วันนี้ “เดลินิวส์ออนไลน์” จะขอพาไปส่องนโยบายของ 6 ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่ถูกพูดถึงเป็นวงกว้างและมักจะมีชื่อติดสารพัดโพล ซึ่งเราคัดมาเสิร์ฟให้ได้ทราบกันอีกรอบ ไปเริ่มกันที่

หมายเลข 1 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร พรรคก้าวไกล กับแนวคิด “เมืองที่คนเท่ากัน” พร้อมชนกับต้นตอของปัญหา และจะทำให้ปัญหาของทุนคนได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม นโยบายหาเสียง อาทิ 

-เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ 60 เป็น 1,000 บาทต่อเดือน เพิ่มสวัสดิการเลี้ยงดูเด็กเป็น 1,200 บาทต่อเดือน เพิ่มเบี้ยคนพิการเป็น 1,200 บาทต่อเดือน 

-ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ให้บริการวัคซีนฟรี เช่น วัคซีนโรคปอดอักเสบ วัคซีนไข้หวัดใหญ่และไข้เลือดออก 

-เพิ่มงบชุมชนปีละ 500,000-1,000,000 บาท ตามขนาดของชุมชน ตั้งงบประมาณ 200 ล้านบาทในการพัฒนากรุงเทพฯ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่าจะนำไปพัฒนาด้านใดบ้าง

-สร้างที่อยู่อาศัยใจกลางเมือง 10,000 ยูนิต ภายใน 4 ปี ให้คนกรุงเทพฯ เช่าได้ระยะยาว 30 ปี 

-จัดให้มีรถเมล์คุณภาพ ทำตั๋วคนเมืองที่จ่ายในราคา 70 บาท แต่สามารถใช้เป็นค่าโดยสารได้ 100 บาท ผลักดัน “ตั๋วร่วม” ขึ้นรถไฟฟ้าในราคา 15-45 บาทได้ตลอดสายแบบไร้รอยต่อ 

-ขึ้นค่าเก็บขยะห้างใหญ่ไม่ต่ำกว่า 10 เท่าของที่จ่ายอยู่ในปัจจุบัน เพื่อนำไปปรับปรุงการเก็บขยะครัวเรือน ปรับปรุงจุดทิ้งขยะทั่วกรุงเทพฯ และแก้ไขกลิ่นเหม็นจากโรงงานขยะ

-ลงทุนศูนย์ดูแลเด็กเล็กศูนย์ละ 5 ล้านบาท ยกระดับให้มีคุณภาพเทียบเท่าเอกชนจัดให้มีครูสำหรับเด็กพิเศษที่พัฒนาการช้า เพิ่มศูนย์รับเลี้ยงเด็กที่ยังขาดแคลนรวมถึงดูแลสวัสดิการครูและพี่เลี้ยงเด็กต้องมีสัญญาจ้างงานประจำ 

-ด้านการศึกษา เสนอตัดวิชาที่ไม่จำเป็นออก เพิ่มการเรียนรู้นอกห้องเรียน ทำให้เป็นโรงเรียนปราศจากการรังแก (Bullying-Free School)

-ลอกท่อทั่วเมือง ลอกคลองทั่วกรุง เปลี่ยนงบประมาณอุโมงค์ยักษ์ปีละ 2,000 ล้านบาท เป็นงบปรับปรุงระบบระบายน้ำเพื่อให้ระบายได้เร็วขึ้น 

-เปลี่ยนที่รกร้างเป็นสวนสาธารณะ ออกข้อบัญญัติให้หน้าอาคารที่จะก่อสร้างใหม่ทุกแห่งต้องมีพื้นที่สีเขียวที่ประชาชนทั่วไปสามารถใช้ได้ และเปิดพื้นที่สาธารณะให้เป็นที่ปลอดภัยสำหรับการชุมนุม

-ทางเท้าดี เท่ากันทั้งกรุงเทพฯ ให้ประชาชนเป็นพยานตรวจรับงาน หากมีการขุดทางต้องคืนกลับมาในสภาพดีเหมือนเดิม ทางเท้าที่แคบกว่า 3.2 เมตร ห้ามตั้งแผงลอย แต่หาพื้นที่ใกล้เคียงให้ค้าขาย และทางม้าลายต้องปลอดภัย

-เจอส่วยแจ้งผู้ว่าฯ สร้างกรุงเทพฯโปร่งใส ไร้คอร์รัปชั่น การขอใบอนุญาตให้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ใช้บุคคลที่สาม (Third Party) ประเมินการขอใบอนุญาตและตรวจรับงาน 

หมายเลข 3 นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครอิสระ สโลแกน “กทม.More ทำกรุงเทพฯ ให้ดีกว่านี้ได้” กับนโยบายหลัก 6 ด้าน ประกอบด้วย 

1.ยกระดับศูนย์สาธารณสุข 69 ศูนย์ และสำนักอนามัยให้ครอบคลุมการบริการอย่างทั่วถึง เพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลในสังกัด กทม.ให้เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง 

2.โรงเรียนคุณภาพใกล้บ้าน เพิ่มหลักสูตรภาษาอังกฤษและภาษาจีนในโรงเรียนปรับให้เป็นโรงเรียน 2 ภาษา จัดตั้งโรงเรียนผสมและเฉพาะทาง มีหลักสูตรเรียนตามความถนัดหรือความชอบ เช่น โปรแกรมเมอร์ ดนตรี ภาพยนตร์ โภชนาการอาหารฟรี มีหลักสูตรหลังเลิกเรียนเพื่อเพิ่มทักษะการใช้ชีวิตและหารายได้เสริม โดย กทม.สนับสนุนประสานภาคเอกชน 

3.เชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ ล้อ ราง เรือ Free Feeder ทั่วเมือง ระบบตั๋วเชื่อมที่ใช้ได้ทุกเส้นทาง เพิ่มความปลอดภัยด้วยการกำจัดจุดเสี่ยงจราจร นำเทคโนโลยี Ai มาควบคุมระบบการจราจรให้การปล่อยรถเป็นระบบมากขึ้น

4.บริการ Free Wif ทุกชุมชนและที่สาธารณะ ขอยื่นพิจารณาการอนุญาตต่างๆจบในที่เดียวภายในเวลาไม่เกิน 30 วันด้วยระบบ AI 

5.ลด แยกขยะ จัดแนวทางการเก็บขยะเพื่อเตรียมเป็น กทม. Net Zero จัดระเบียบ Zoning อุตสาหกรรม พาณิชย์ ที่อยู่อาศัย จัดทำสวนทุกเขตพร้อมนักรุกขกรมืออาชีพเพื่อดูแลต้นไม้ใหญ่ทั่วเมือง สนับสนุนปลูกต้นไม้หักภาษีทั่วเมือง ทำบึงหนองบอนให้เป็นกีฬาทางน้ำที่ใหญ่ที่สุดของ กทม. เสนอสร้าง 50 สวน 50 เขต เพิ่มจำนวนกล้องซีซีทีวีให้ครอบคลุม ลดจุดบอด จุดอับ จัดทำโครงการ Smart pole เสาไฟที่ให้มากกว่าความสว่าง มีเครื่องวัดคุณภาพอากาศ กล้องวงจรปิด เพิ่มสถานีดับเพลิง ปรับปรุงสาธารณูปโภคเอื้อต่อผู้พิการ ผู้ใช้รถเข็น ผลักดันโครงการก่อสร้างท่อระบายน้ำด้วยวิธีดันท่อลอด pipe jacking เพิ่มเติม เพื่อประสิทธิภาพการระบายน้ำในกรุงเทพฯ รวมถึงอุโมงค์ระบายน้ำต่างๆ 

6.การหารายได้เข้ากรุงเทพฯ สร้างมูลค่าเพิ่มจากสินทรัพย์ที่ไม่พัฒนา แปลงสินทรัพย์เป็นทุน เช่น เปิดให้เอกชนเช่าพื้นที่ของ กทม. เพื่อให้ กทม.มีรายได้เข้ามาบริหารเมือง นอกจากรองบกลางจากรัฐบาล เปลี่ยนขยะให้เป็นทอง จัดระบบงบดุลใหม่ ตั้งกองทุน Social Impact Fund โดยซักชวนนักลงทุนต่างชาติมาลงทุนเพื่อผลตอบแทนทางสังคม จับมือเอกชนเพื่อสร้างพื้นที่เศรษฐกิจใหม่แปลงให้เป็น BOT (Build Operate Transfer) ทุกโครงการโปร่งใส ใช้ระบบ Blockchain และจัดกิจกรรมท่องเที่ยว ถนนคนเดิน 50 เขต ทุกเขตตามอัตตลักษณ์ชุมชน พิจารณาส่งเสริม Street food ไม่กระทบต่อการเดินเท้า ส่งเสริมสนับสนุนเพิ่มโอกาสจ้างงานผู้พิการ และส่งเสริมอาชีพคนพิการ 

หมายเลข 4 ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ พรรคประชาธิปัตย์ กับสโลแกน “เปลี่ยนกรุงเทพฯ เราทำได้”  เปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองสวัสดิการที่ดูแลประชาชนเป็นเมืองที่มีความทันสมัย และเป็นเมืองต้นแบบแห่งอาเซียน โดยได้เสนอนโยบาย อาทิ 

-ตั้งกองทุนเพื่อการจ้างงานชุมชนในทุกชุมชน 

-ติดตั้งอินเทอร์เน็ตไวไฟ (Wi-Fi) 150,000 จุดทั่วกรุงเทพฯ 

-จัด 12 เทศกาลใหญ่ และ 50 เทศกาลเขต เพื่อให้กรุงเทพฯ มีรายได้จากการท่องเที่ยว

-ส่งเสริมศูนย์บริการสาธารณสุขให้มีอุปกรณ์การแพทย์ทันสมัย และมีแพทย์เฉพาะทางประจำการ-โรงเรียนดี อยู่ใกล้บ้าน มีโรงเรียนประจำเขต 50 เขต 50 โรงเรียนสาธิต หลักสูตรการเรียนรู้ขั้นต่ำ 2 ภาษา รู้โคดดิ้ง รู้ AI และมีครูที่ครบทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ 

-ใช้ระบบคอมพิวเตอร์เอไอควบคุมสัญญาณไฟจราจร เอาเกาะกลางถนนออกเพิ่มช่องจราจร 

-สร้างทางเท้าที่มีมาตรฐานสากล สร้างทางจักรยานลอยฟ้า เพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถขี่รถจักรยานไปทำงานได้

-สร้างแก้มลิงใต้ดิน ใช้เครื่องสูบน้ำแบบอัตโนมัติ แก้ปัญหาการระบายน้ำ  

-ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดมลพิษทางอากาศบริเวณที่มีการก่อสร้าง บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดสำหรับการก่อสร้างที่สร้างมลพิษเกินมาตรฐาน ประกาศสงครามกับฝุ่นพิษ PM 2.5 ระงับการให้บริการรถโดยสารที่สร้างมลพิษเกินค่ามาตรฐาน 

-ส่งเสริมการแยกขยะในครัวเรือน จัดจุดบริการขยะแลกเงินไม่ให้มีขยะตกค้าง

-เปลี่ยนพื้นที่รกร้างของเอกชนเป็นสวนสาธารณะฉบับกระเป๋า หรือ Pocket Park ให้ประชาชนสามารถใช้งานได้ ลดภาษีที่ดินให้กับเอกชนที่ให้ กทม.ได้เข้าใช้พื้นที่

หมายเลข 6 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครอิสระ สโลแกน “กรุงเทพฯ ต้องไปต่อ” ชูนโยบายสานต่องานเดิมที่ได้ทำสมัยดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ที่ผ่านมา 8 ด้าน

1.แก้ปัญหาน้ำท่วม ตั้งเป้าลดจุดเสี่ยงน้ำท่วมที่เหลืออยู่อีก 9 จุด จากเดิมจุดเสี่ยงทั้งหมด 24 จุด มุ่งสู่เมืองปลอดน้ำท่วม จัดการระบบระบายน้ำออกจากจุดเสี่ยงอย่างรวดเร็ว เสริมแนวตลิ่งให้มั่นคง ลดพื้นที่การกัดเซาะแนวชายฝั่ง 

2.สร้างความสะดวกเชื่อมต่อทุกการเดินทาง ทั้งถนนสายหลัก สายรอง ทางยกระดับ รองรับการขยายตัวของเมือง เชื่อมต่อการเดินทางเรือ เพิ่มเรือโดยสารไฟฟ้า (EV) พัฒนาทางเดิน ทางเท้า ทางม้าลาย เดินสะดวกปลอดภัยทุกลุ่มวัย

3.ส่งเสริมสุขภาพดีและการรักษาอย่าง ”ต่อ” เนื่อง พัฒนาโรงพยาบาลใกล้บ้าน, พัฒนาแอพพลิเคชั่น ”หมอ กทม.” ตรวจรักษาออนไลน์ผ่านระบบวิดีโอคอล เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษาให้ง่ายและไว ไม่ต้องรอหมอนาน มีระบบจ่ายยาถึงบ้านลดความแออัดในโรงพยาบาล 

4.เดินหน้าเพิ่มพื้นที่สีเขียว เปลี่ยนพื้นที่ใต้ทางด่วนให้เป็นพื้นที่สีเขียว พัฒนาโครงข่ายคลอง ใช้น้ำดี ไล่น้ำเสีย 

5 เพิ่มค่าอาหารกลางวันให้นักเรียนตั้งแต่อนุบาลถึง ม.6, พัฒนาทางเลือกสายอาชีพ สายกีฬา, พัฒนาแหล่งเรียนรู้สำหรับเด็ก เพิ่มบ้านหนังสือในชุมชนพิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร, พัฒนาแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติ

6.ติดตั้ง CCTV ตามจุดเสี่ยง ตามคลอง และปรับปรุงเส้นถนน ทาสี ตีขอบ ชัดเจนไฟส่องสว่างทั่วถึง, จัดระเบียบสายสื่อสารลงใต้ดิน, เพิ่มจุดดับเพลิงครอบคลุมทุกพื้นที่ 

7.เชื่อมต่อข้อมูลในการให้บริการประชาชน จากภาครัฐด้วยระบบดิจิทัล

8.ดูแลคนกรุงเทพฯ ทุกกลุ่มวัย ทุกสาขาอาชีพ รวมทั้งผู้พิการได้รับการดูแลจากภาครัฐอย่างเท่าเทียมกัน

หมายเลข 8 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ สโลแกน “ทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” นโยบาย ”กรุงเทพฯ 9 ดี 9 ด้าน” กว่า 200 นโยบาย ได้แก่

1.ปลอดภัยดี สร้างแผนที่จุดเสี่ยงด้านอาชญากรรม จราจร และสาธารณภัย, จัดตั้งศูนย์สั่งการรับมือกับสาธารณภัย, ทุกโครงสร้างพื้นฐานใน กทม. ต้องพร้อมใช้ มีเจ้าหน้าที่ดูแลประจำ, พัฒนาที่พักชั่วคราว ห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ ที่คนไร้บ้านเข้าถึงได้ 

2.เดินทางดี ใช้ระบบจัดการจราจรอัจฉริยะ (ITMS) บริหารจราจรทั้งโครงข่าย, จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการจราจร, ให้บริการเดินรถเมล์ในจุดที่ไม่มีขนส่งมวลชน, หารือเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวกับ รฟม. เพื่อลดค่าแรกเข้า, พัฒนาจุดจอดจักรยานที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ, พัฒนาเดินเท้าคุณภาพ 1,000 กม.

3.สุขภาพดี เชื่อมโยงประวัติคนไข้ภายในสถานพยาบาลในกรุงเทพฯ เพื่อส่งต่อและดูแลรักษาได้ทั่วกรุงเทพฯ, เพิ่มการรักษา เพิ่มเวลา เพิ่มทรัพยากรในศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.), หมอถึงบ้านผ่าน Telemedicine, ขยายโครงการโรงพยาบาล 10,000 เตียง สู่ชุมชนชนทั่วกรุงเทพฯ เสริมศักยภาพ อสส. สู่ caregiver คุณภาพ, เพิ่มพื้นที่ออกกำลังกาย พัฒนาลานกีฬาต้นแบบ 180 แขวง 180 ลานภายใน 100 วันแรก 

4.สร้างสรรค์ดี เปลี่ยนศาลาว่าการ กทม.เดิม เป็นพิพิธภัณฑ์เมืองและพื้นที่สาธารณะ, สร้าง open art map and calendar ให้ประชาชนปักหมุดกิจกรรมหรือตามเสพงานศิลป์ได้ทั่วกรุง, ปักหมุดทำฐานข้อมูลรวมพื้นที่ของรัฐและเอกชนให้ประชาชนเลือกใช้จัดกิจกรรม, เปิดพื้นที่ กทม. ให้แสดงสตรีทโชว์, ห้องสมุด กทม. สู่ห้องสมุดดิจิทัล ยืมหนังสือออนไลน์ อ่าน e-book ได้จากทุกที่ 

5.สิ่งแวดล้อมดี เพิ่มพื้นที่สีเขียวและลานกีฬาให้เดินถึงภายใน 15 นาที, ปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น, จัดหารุกขกรมืออาชีพดูแลต้นไม้ประจำเขต, ตรวจจับรถปล่อยควันดำเชิงรุกจากต้นทาง เช่น สถานีรถโดยสาร และไซต์ก่อสร้าง, ขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงตลอดอายุขัยป้องกันการสูญหาย และการปล่อยปละละเลย, แยกขยะตั้งแต่ต้นทางมุ่งเป้าองค์กรและสร้างพื้นที่เขตต้นแบบ 

6.โครงสร้างดี พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กระจายแหล่งงาน ลดการกระจุกตัวในเขตเมือง, สร้างฐานข้อมูลที่ดินว่าง เพิ่มโอกาสพัฒนาที่อยู่อาศัยให้คนกรุงเทพฯ, ลอกท่อ ลอกคูคลองอย่างน้อย 3,000 กม.ต่อปี ติดตั้งเครื่องสูบน้ำประสิทธิภาพสูง ลดจุดเสี่ยงน้ำท่วม พร้อมหาพื้นที่รับน้ำธรรมชาติ, เตรียมจุดทิ้งขยะ จุดซักล้างในทุกพื้นที่การค้าแผงลอย, ติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียที่แหล่งกำเนิด นำร่องชุมชนริมคลองและตลอดสดทั่วกรุงเทพฯ 

7.บริหารจัดการดี นำเทคโนโลยีมาพัฒนาระบบการขออนุญาตจาก กทม. ให้ประชาชนตรวจสอบและติดตามได้, จัดสรรงบประมาณบริหารกรุงเทพฯ ด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน, เปิดให้ประชาชนร่วมประเมิน ผอ.เขตและผู้ว่าฯ, สร้างอาสาสมัครเทคโนโลยี (อสท.) ประจำย่าน ช่วยคนกรุงเทพฯ ให้เข้าถึงเทคโนโลยี 

8.เรียนดี เปิดโรงเรียน กทม. เล่น หรือเรียนได้ในวันหยุด, เพิ่มหลักสูตรภาษาต่างประเทศ, เพิ่มสวัสดิการและลดภาระงานเอกสารของครูด้วยเทคโนโลยี, ขยายเวลาโรงเรียนให้สอดคล้องกับเวลางานของผู้ปกครอง มีครูเฝ้า, พัฒนาศูนย์เด็กอ่อน-เด็กเล็กใกล้ชุมชนและแหล่งงาน โดยเพิ่มปริมาณ เพิ่มบุคลากร ปรับหลักสูตร และเพิ่มบริการ, เพิ่มหลักสูตรฝึกอาชีพ กทม. ให้สอดคล้องกับฝั่งธุรกิจและการค้าขายออนไลน์ 

9.เศรษฐกิจดี ปั้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทั่วกรุงเทพฯ 12 เทศกาลตลอดปี, ชูอัตลักษณ์ 50 ย่านทั่วกรุง กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก, ยกระดับผู้ค้าแผงลอยให้มีความยั่งยืน จัดหาแหล่งค้าขาย เหมือน Hawker Center ที่สิงคโปร์, สร้างแบรนด์ Made in Bangkok (MIB) คัดเลือกและพัฒนาสินค้าจากผู้ผลิตในกรุงเทพฯ โปรโมตและต่อยอดผลิตภัณฑ์ ไปสู่ตลาด e-Commerce ขนาดใหญ่, พัฒนาเศรษฐกิจกลุ่มธุรกิจ Hi Tech เช่น eSports, e-Commerce และ Hi Touch เช่น นวด สปา กิจกรรมฝึกจิตใจ 

หมายเลข 11 น.ต.ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย สโลแกน “คิดต่างเพื่อคนกรุงเทพฯ จะทำในสิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม. คนอื่นไม่เคยทำ” ชู 11 นโยบาย ขับเคลื่อน กทม.สู่การเป็นมหานครที่ดีที่สุด ดังนี้

1.ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารงบประมาณ รวมถึงตรวจสอบการใช้งบประมาณ ผ่านเทคโนโลยี Block chain

2.สร้างโอกาสให้คนกรุงเทพ เข้าถึงแหล่งเงินทุน ด้วยกองทุนเครดิตประชาชนเพื่อคนตัวเล็ก หรือกองทุนคนตัวเล็ก ให้ตั้งตัวได้ เป็นการล้างหนี้นอกระบบแสนโหดโดยสามารถกู้ได้ตั้งแต่ 5,000 ถึง 50,000 บาท ดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 1 ต่อเดือน โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน นอกจากนี้ ปัจจุบันมีกฎหมายหรือใบอนุญาตที่ขัดขวางการทำมาหากินกว่า 1,500 ฉบับ ต้องปลดล็อก และพักใบอนุญาต แขวนการบังคับใช้ไว้ชั่วคราว 3-5 ปี โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นอำนาจของ กทม.จะทำทันทีใช้พื้นที่ กทม.เป็นพื้นที่นำร่อง สร้าง “Bangkok legal Sandbox” เพื่อให้คนกรุงเทพฯ ได้กลับมาทำมาหากินได้เร็วที่สุด

3.ลดค่าใช้จ่ายและอำนวยความสะดวกการเดินทางให้คนกรุงเทพฯ โดยค่าใช้จ่ายจะต้องไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินเดือน รัฐบาลจะต้องคุยกับ กทม. และคุยกับเอกชนเพื่อให้ราคากลับมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งประเมินเบื้องต้นว่าไม่ควรเกิน 1,500-1,600 บาทต่อเดือน

4.ลดปริมาณรถในแต่ละวัน ด้วยการสลับเวลาทํางาน ลดเวลาเรียน หรือการสลับวันเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีศักยภาพในการเรียนจากที่บ้าน เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรลงได้ 

5.สร้าง กทม. เป็นเมือง Start up และดิจิทัล Economy ของเอเชีย พร้อมรองรับเศรษฐกิจยุคใหม่ทั้งหมด

6.สร้างกรุงเทพฯ เป็นเมืองสุขภาพ ทุกเขตต้องมีโรงพยาบาลอย่างน้อย 1 โรงพยาบาล 

7.เพิ่มสวนสาธารณะ และเพิ่มเวลาบริการ รวมถึงสนามกีฬาและสถานที่ออกกําลังกาย นำพื้นที่ที่รกร้างว่างเปล่ามาทำสนามจักรยาน 

8.สร้างกรุงเทพฯ เป็นเมืองสะอาด ปลอดภัย มีระเบียบ เริ่มจาก Bangkok eyes กล้องวงจนปิดแบบ AI เพิ่มแสงสว่างในทุกพื้นที่ เพื่อป้องกันอาชญากรรม ลดฝุ่นพิษ PM2.5 โดยการควบคุมรถควันดํา ผลักดันสนับสนุนส่งเสริมการใช้รถ EV ปรับปรุงคุณภาพทางเท้าให้คนใช้ได้อย่างปลอดภัย

9.สร้างกรุงเทพฯ เป็นมหานครแห่งการสร้างสรรค์ Creative metropolis เพื่อสร้างรายได้ให้คนกรุงเทพฯ จัด Event ในแต่ละเขตทุกเดือนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 

10. โรงเรียนดีใกล้บ้าน เริ่มจากทำโรงเรียนสังกัด กทม.ให้มีมาตรฐานเท่าเทียมเป็น2ภาษา มีเจ้าของภาษาเป็นผู้สอน ผสมผสานการเรียนที่โรงเรียนและเรียนออนไลน์ ใช้อินเทอร์เน็ตฟรี ปรับหลักสูตรเน้นให้นักเรียนได้รู้จักตัวเอง สามารถพัฒนาเป็นอาชีพที่สามารถทํามาหากินได้จริง

11.บริหารจัดการน้ำท่วมอย่างมีประสิทธิภาพ “ลาขาดน้ำรอการระบาย” โดยเตรียมระบบระบายน้ำให้พร้อมใช้งานก่อนเข้าสู่ช่วงน้ำท่วม จัดทำระบบท่อและสัญญาณเตือนน้ำท่วมให้มีประสิทธิภาพที่ดี 

ขณะที่ นโยบายของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ท่านอื่นๆ ก็เป็นนโยบายที่ดีและน่าสนใจ ซึ่งน่าจะผ่านหูผ่านตาประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งกันไปบ้างแล้ว เพราะฉะนั้น วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม นี้ …รักใครชอบใคร อยากให้ใครเข้ามาบริหารกรุงเทพฯ อย่าลืมออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งกันนะครับ.