เมื่อวันที่ 17 พ.ค. นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 3 กล่าวถึงการหาเสียงในช่วงนี้ ว่าเวลาที่เหลือไม่กี่วัน ส่วนใหญ่จะเป็นการเดินทางไปดีเบตในเวทีต่างๆ และแสดงความพร้อมให้กับทุกคนได้ทราบว่าจะเป็นผู้ว่าฯ กทม. ในแบบไหน ซึ่งที่ยืนยันมาตลอดก็คือการที่ตนจะเป็นผู้ว่าฯ กทม. ที่หาเงินได้และใช้เงินเป็น เพราะถ้า กทม.ไม่มีเงิน รอเงินจากรัฐบาล ก็คงไม่เพียงพอที่จะนำไปพัฒนาในเรื่องต่างๆ ตามนโยบายทั้งหมดได้ ดังนั้น นโยบายของตนจึงไม่ได้พูดแต่เพียงการจะสร้างสิ่งต่างๆ อย่างเดียว แต่จะเน้นเรื่องการหาเงิน เพิ่มเติมจากที่มีอยู่ด้วย

ส่วนประเด็นที่เริ่มมีผู้สมัครคนอื่นนำเรื่องของการหาเงินเข้า กทม. มาหาเสียงเช่นเดียวกันนั้น นายสกลธี กล่าวว่า เรื่องนี้ตนไม่สงวนลิขสิทธิ์ ถ้าเห็นว่าเป็นแนวทางที่ดี แต่ส่วนตัวของตนจะเห็นได้ว่าพูดเรื่องนี้มาตั้งแต่แรก เพราะเห็นปัญหาและเข้าใจเรื่องของการจัดการงบประมาณที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาสิ่งต่างๆ โครงการต่างๆ ใน กทม. จึงให้ความสำคัญกับเรื่องของกาาหาเงินด้วยตัวเองมาตั้งแต่แรก จะเห็นได้ว่าใน “สกลธีโมเดล” มีเรื่องการบริหารงบประมาณ โดยการหาเงินด้วยตนเองของ กทม. ไม่ว่าจะเป็นแนวนโยบายการจัดการขยะ นำขยะไปขายหรือให้เอกชนมาทำแทน นอกจากจะลดค่าใช้จ่ายก็ยังหารายได้เพิ่มได้ด้วย หรือการหาเงินจากรายได้การท่องเที่ยวจากภาษีโรงแรมหรือ City Tax ที่จะจัดเก็บจากนักท่องเที่ยวหลังการเปิดประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ตนศึกษามานานและยังได้ทีมที่ปรึกษา เป็นอดีตรองผู้ว่าการ ททท. ที่เข้าใจ จึงเชื่อว่าเป็นนโยบายที่ทำได้อย่างแน่นอน เพราะต้องเข้าใจว่าการ รอเงินเพียงจากการจัดสรรของรัฐบาล คงจะไม่เพียงพอ กับเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพฯ ที่มีปัญหามากมาย

นายสกลธี กล่าวเพิ่มว่า ตนไม่สงวนลิขสิทธิ์ในเรื่องนี้หากใครคิดว่าดีก็เอาไปทำ หรือไปเป็นนโยบายหาเสียงได้ แต่จะทำได้จริงหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ตนศึกษาเรื่องนี้มานานแล้ว เริ่มนโยบายมาตั้งแต่แรก ดังนั้นจึงมีแผนการทั้งหมดไว้เรียบร้อยแล้ว ไม่ได้มาเริ่มใหม่ เรารู้ปัญหาและรู้ขั้นตอนวิธีการว่าจะต้องทำอย่างไร รวมไปถึงการศึกษาเรื่องกฎหมาย มีทีมงาน ที่ทำเรื่องนี้มาก่อน มีข้อมูลต่างๆ พร้อม ถ้าหากตนได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จึงมั่นใจว่าสามารถทำได้ทันที กทม.จะมีเงินเข้ามาใช้ในการทำโครงการต่างๆ กระจายงบฯ จัดสรรไปในพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่ใจกลางเมืองได้อย่างรวดเร็ว เพราะเราจะมีเงิน มีรายได้เป็นของตัวเอง ตนมั่นใจว่าทำได้อย่างแน่นอน

นอกจากนี้ นายสกลธี ยังกล่าวอีกว่าเหลือเวลาการหาเสียงอีกไม่นาน ตนหวังว่าจะได้รับโอกาสจากคนกรุงเทพฯ ให้กลับมาบริหารเมืองหลวงแห่งนี้อีกครั้ง ไม่ใช่การเป็นรองผู้ว่าฯ แต่กลับมาในฐานะของผู้ว่าฯ กทม. เพราะที่ผ่านมา 4 ปี มีข้อจำกัดหลายอย่าง และเห็นปัญหามาโดยตลอด โดยเฉพาะโครงสร้างของอำนาจใจการบริหารกรุงเทพฯ ยังไม่เบ็ดเสร็จ มีหลายปัญหาที่ยังมีอำนาจที่ทับซ้อนกันหลายหน่วยงาน แม้ กทม. เองจะอยากลงไปแก้ไข แต่ไม่สามารถไปก้าวล่วงอำนาจตามกฎหมายได้ เช่น กรณีของการจราจร ที่มีถนนหลายสายในกรุงเทพฯ ที่ กทม.ทำได้แค่การขีดสี ตีเส้นบนถนนเท่านั้น แต่คนที่บังคับใช้กฎหมายคือตำรวจจราจร หรือ ถนนวิภาวดี และถนนแจ้งวัฒนะ เป็นของกรมทางหลวง

แต่คนมักเข้าใจว่าเป็นของ กทม. เมื่อมีปัญหาทุกครั้งก็มักจะโจมตีมาที่ กทม.ว่าเหตุใดจึงไม่ทำ ซึ่งสาเหตุอยู่ที่กฎหมายข้อบังคับต่างๆ ด้วยความที่ตนเองก็เป็นนักกฎหมาย ได้เข้าไปศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียดตั้งแต่สมัยเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. พบว่ามีกฎหมายตัวหนึ่งที่ล็อกเรื่องนี้ไว้ นั่นคือเรื่องของการใช้งบประมาณของ กทม. เข้าไปพัฒนาในพื้นที่ ที่ทำได้เพียงแค่ที่สาธารณะเท่านั้น ไม่สามารถเข้าไปใช้ได้ในพื้นที่ของเอกชน หรือหน่วยงานราชการอื่น ซึ่งหลายคนอาจจะเจอว่าถนนหน้าบ้านที่อยู่มาเป็นสิบๆปี ไม่เคยแก้ไขได้สักที ตนอยากจะบอกว่าแม้ กทม. จะอยากเข้าไป ก็ทำไม่ได้ เพราะติดที่ระเบียบข้อบังคับตัวนี้ ดังนั้น ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. ก็อยากจะเข้าไปแก้ไขระเบียบนี้ก่อน เพื่อให้เงินของ กทม.ได้เข้าไปพัฒนาความเป็นอยู่ของคนกรุงเทพฯ ได้ทุกตารางนิ้ว

นายสกลธี กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนไม่ได้คาดหวังว่าอำนาจของผู้ว่าฯ กทม. จะต้องมีอำนาจเต็มเหมือนกับผู้ว่าฯ เมืองของต่างประเทศ แค่ขอให้ได้มีอำนาจได้เข้าไปแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วนของประชาชนก่อน โดยพื้นฐานแล้ว ตนเคยเป็น ส.ส.เขตมาก่อน สไตล์การทำงานคือไม่ชอบประชุมที่ศาลาว่าการ แต่ชอบไปเจอคน ไปแก้ปัญหา แต่ตอนเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. มันไม่ใช่ตัวจริง อำนาจมันมีจำกัด ตนก็เจอคน ได้ประสานทุกอย่างมา แต่มันนอกเหนืออำนาจที่ทำได้ จึงอึดอัด และการมาลงคราวนี้ เพราะอยากจะเอาวิธีที่คิดว่ามันแก้ปัญหาได้ เคยพยายามเสนอแล้วแต่ไม่ผ่าน เพราะถ้าผู้ว่าฯ กทม.สั่งจะมีคนทำ เพราะมีอำนาจโยกย้ายได้ แต่รองผู้ว่าฯ กทม. สั่งอาจจะไม่ฟัง พูดตรงๆ ว่า หลายอย่างที่อยากทำมันไม่ได้ทำ จึงอยากจะมาแก้ในครั้งนี้แทน