เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงเรื่องการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ผ่านเพจ “กระทรวงสาธารณสุข” ว่า ขณะนี้เรามีการฉีดวัคซีนแล้ว  17,011,477 โด๊ส เข็ม 1 จำนวน 13,225,233 โด๊ส เข็มที่ 2 จำนวน 3,786,244 โด๊ส ถือว่าฉีดได้เร็วพอสมควร ส่วนการครอบคลุม กทม. และ 5 จังหวัดปริมณฑล ครอบคลุม 44% โดยเฉพาะ กทม. ครอบคลุม 61.67% คนสูงอายุฉีดแล้ว 70% ส่วนภูมิภาคฉีดได้ 12.43% เพราะวัคซีนมีจำนวนจำกัด แต่ช่วง1 เดือนที่ผ่านมา มีการระบาดของโควิดมากในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล จึงเกลี่ยนปริมาณวัคซีนมาฉีดที่ กทม. และปริมณฑล

“ซึ่งขณะนี้ ใน กทม. ถือว่าได้รับวัคซีนปริมาณมากแล้ว ต่อไปจะมีการฉีดให้ประชาชนในต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้น โดยเดือนนี้จะได้รับวัคซีนอีก 10 ล้านโด๊ส โดยให้ความสำคัญผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป คนมีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ จะได้รับก่อน ลำดับต่อมาคือ อสม. จะได้รับเช่นกัน และเป็นของบุคลากรส่วนอื่นๆ ต่อไป อย่างไรก็ตาม ใน 10 ล้านโด๊ส นั้นจะมีทั้งการให้วัคซีนหลัก ที่มีการเปลี่ยนสูตรการฉีด เข็มแรกเป็นซิโนแวค เข็ม 2 เป็นแอสตราเซเนกา” นพ.เกียรติภูมิ กล่าวและว่า ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ลอตบริจาคที่เข้ามาเมื่อเช้า 1.5 ล้านโด๊ส และยังมีที่กระทรวงสาธารณสุขจัดซื้ออีก 20 ล้านโด๊ส ลงนามไปแล้ว และจะมีการซื้อเพิ่มอีก 10 ล้านโด๊ส เข้าใจว่าภายในปีนี้เช่นกัน เมื่อได้มาแล้วจะวางแผนจัดสรรต่อไป

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การกระจายวัคซีนในเดือน ส.ค. โดยใช้สูตรการฉีดซิโนแวค+แอสตราฯ (สูตร SA) ซึ่งข้อดีของสูตร SA จากการวิจัยที่มีการเผยแพร่ข้อมูลโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และไบโอเทค การให้วัคซีนต่างรูปแบบทำให้ภูมิคุ้มกันขึ้นได้ค่อนข้างเร็ว ซึ่งในห้องปฏิบัติขึ้นสูงมาก ประเทศไทยจึงใช้วิธีนี้ฉีดซิโนแวคเข็มแรก และ 3 สัปดาห์ถัดไปฉีดเข็มสองด้วยแอสตราฯ ประสิทธิภาพจากการทดสอบในห้องปฏิบัติ ค่าภูมิคุ้มกันสูงใกล้เคียงสูตรแอสตราฯ 2 เข็ม ซึ่งต้องฉีดเว้นห่าง 12 สัปดาห์ จึงถือว่าสูตร SA ฉีดครบ 2 เข็มได้เร็วขึ้นจาก 12 สัปดาห์เป็น 3 สัปดาห์ และหลังจากสูตรใหม่ให้ประชาชนไปจำนวนมากพอสมควร พบว่ามีความปลอดภัย ผลข้างเคียงอาการไม่พึงประสงค์ไม่ต่างจากเดิม ส่วนรายที่ฉีดวัคซีนสูตรผสมแล้วเสียชีวิต จากการพิสูจน์ศพพบว่าไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน ดังนั้นเป็นตัวยืนยันว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัยในระดับที่น่าพอใจอย่างยิ่ง

“สำหรับการกระจายวัคซีนในเดือน ส.ค.จะกระจายลงต่างจังหวัดมากขึ้น หลังจาก มิ.ย.และ ก.ค.กระจายใน กทม.และปริมณฑลค่อนข้างมากเพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาด โดย ส.ค.จะส่งต่างจังหวัดเพื่อฉีดผู้สูงอายุ 60 ปี 7 โรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ อสม.เป็นหลัก จากนั้นส่วนหนึ่งจะใช้ควบคุมการระบาดในพื้นที่ และฉีดเป้าหมายพิเศษ พื้นที่ท่องเที่ยว เช่น พังงา กระบี่ เป็นต้น ขอให้มั่นใจว่าจะกระจายถึงประชาชน ขอให้กลุ่มเสี่ยงมารับวัคซีน” นพ.โอภาส กล่าว  

นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับการกระจายวัคซีน mRNAจากไฟเซอร์ ลอตบริจาค 1.5 ล้านโด๊ส จะมีนำไปฉีดใน 4 กลุ่ม คือ  1. เป็นการฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ทั่วประเทศ เป้าหมายที่ตั้งไว้คือ 7 แสนโด๊ส โดยสำรวจรายชื่อจาก รพ.ต่างๆ มาที่ สธ. โดยมีคณะทำงานที่มีรองปลัด สธ. เป็นประธาน กระจายไปตามพื้นที่เป้าหมาย การฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้มากขึ้น เพราะมีข้อมูลพบว่าบุคลากรจำนวนไม่น้อยติดเชื้อ แม้ส่วนใหญ่ติดที่บ้าน แต่ถ้าไปที่ทำงานก็ทำให้เกิดการแพร่เชื้อสู่เพื่อนร่วมงาน หรือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และต้องถูกกักตัว ทำให้การดูแลผู้ป่วยโรคอื่นๆ หรือผู้ป่วยโรคโควิด ลดประสิทธิภาพลง ดังนั้นกลุ่มนี้จะทำให้การดูแลรักษาประชาชนมีความมั่นคงขึ้น

2. ฉีดในผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และคนท้อง 12 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งจะมีข้อดี คือ เดิมวัคซีนที่ใช้ในประเทศไทยทั้งหมด เป็นวัคซีนที่ต้องฉีดในคน 18 ปี ขึ้นไป แต่วัคซีนไฟเซอร์ สามารถฉีดในเด็ก 12 ปี ได้ด้วย ดังนั้น เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปที่มีโรคเรื้อรังก็จะได้รับวัคซีนไฟเซอร์ด้วย รวมกลุ่มนี้มีกลุ่มเป้าหมาย 645,000 โด๊ส เป็นการกระจายเพื่อเป้าหมายในการควบคุมการระบาดของโรค ใน 13 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด คือ กทม. ปริมณฑล และ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา พระนครศรีอยุธยา และ 4 จังหวัดชายแดนใต้ คือ สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

3. เนื่องจากเป็นวัคซีนบริจาคมาจากต่างประเทศ จึงมีนโยบายฉีดวัคซีนให้กับคนต่างชาติในประเทศไทย อย่างเท่าเทียมกับคนไทย จึงนำไฟเซอร์ในกลุ่มนี้ด้วย โดยฉีดให้กับคนสูงอายุ คนป่วย 7 กลุ่มโรค คนท้อง 12 สัปดาห์ขึ้นไป นอกจากนี้ยังมีคนไทยจำนวนหนึ่งที่ต้องเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ และมีข้อบังคับว่าต้องฉีดวัคซีนก่อน ดังนั้นในกลุ่มที่ 3 จะได้รับวัคซีนไฟเซอร์ทั้งหมด 150,000 โด๊ส และกลุ่มที่ 4 จำนวน 5,000 โด๊ส สำหรับการศึกษาวิจัย เพราะยังมีหลายอย่างเกี่ยวกับโรคโควิดที่เราไม่ทราบ จึงทำวิจัยเพื่อตอบปัญหาการแพทย์และสาธารณสุข และเพื่อใช้กำหนดนโยบายดูแลประชาชน

“สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ 1 ขวดที่ส่งมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา จะเป็นวัคซีนเข้มข้น จากนั้นต้องผสมด้วยน้ำเกลือ หรือศัพท์การแพทย์ เรียกว่า 0.9% นอร์มอลซาไลน์ ผสมเข้าด้วยกันก็จะนำมาฉีดได้ ใน 1 ขวดเมื่อผสมแล้วจะฉีดได้ 6 โด๊ส และที่แตกต่างจากวัคซีนที่เราฉีดใน 2 ยี่ห้อก่อหน้านี้คือ เดิมเราฉีด 0.5 ซีซีเข้ากล้ามเนื้อ แต่ไฟเซอร์กำหนดให้ 1 โด๊ส เท่ากับ 0.3 ซีซี ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ โดยเข็มที่ 2 จะฉีดห่างออกไป 3 สัปดาห์ ฉีดได้ในกลุ่มผู้มีอายุ 12 ปีขึ้นไป การเก็บใน 2-8 องศาเซสเซียส จะเก็บได้ประมาณ 1 เดือน ฉะนั้นต้องมีไทม์ไลน์ที่แน่ชัด” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า วัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโด๊ส ขณะนี้เก็บในอุณหภูมิ -70 องศาฯ ในคลังบริษัทซิลลิค ฟาร์มา ประเทศไทย อยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณภาพ และความปลอดภัยที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คาดว่าจะทราบผลในวันที่ 2 ส.ค. หลังจากนั้นทางบริษัทฯ ทำระบบตรวจสอบย้อนกลับในเรื่องคุณภาพตามมาตรฐาน จากนั้นวันที่ 5-6 ส.ค. จะส่งวัคซีนลอตแรกไปเป็นเข็มกระตุ้นให้บุคลากรแพทย์ รวมถึงเป็นเข็มที่ 1 ให้กลุ่มเป้าหมาย เริ่มฉีดวันที่ 9 ส.ค. ส่วนเข็ม 2 ห่างกัน 3 สัปดาห์ คาดว่าปลายเดือน ส.ค. จะฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโด๊สได้ครบถ้วน.