มื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 5 มิ.ย. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธานกิจกรรม “รวมพลเก็บขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาและปลูกต้นไม้” เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก 2565 (World Environment Day 2022) โดยมี ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. นายภิมุข สิมะโรจน์ เลขาฯ ผู้ว่าฯ กทม. นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัด กทม. ผู้บริหาร กทม. ผู้แทนจากกรมเจ้าท่า ชมรมนิยมพาย ผู้อำนวยการเขต ภาคีเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารและและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกิจกรรม ณ บริเวณลานใต้สะพานพระราม 8 และสวนหลวงพระราม 8 เขตบางพลัด กรุงเทพฯ


นายชัชชาติ กล่าวว่า วันนี้เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก เป็นกิจกรรมที่ทั่วโลกทำพร้อมกัน ปีนี้เป็นปีที่ 50 ภายใต้แนวคิด #OnlyOneEarth กรุงเทพมหานครจะเป็นผู้นำทำสิ่งแวดล้อมให้ดีเพื่อส่งต่อให้แก่ลูกหลาน ซึ่งมีหลายมิติที่เราต้องทำ ทั้งเรื่องการเก็บขยะ การดูแลแม่น้ำลำคลอง การปลูกต้นไม้ การลดภาวะโลกร้อน การปล่อยภาวะเรือนกระจก ซึ่งอยู่ในนโยบายที่เราเร่งผลักดันเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีของกรุงเทพมหานคร โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ภาคเอกชน “OnlyOneEarth คือมีโลกใบเดียว ถึงแม้ว่าจะมีดาวเป็น พันล้านดวงในกาแล็กซี ซึ่งก็สืบต่อมาถึง “BangkokOnlyOne” คือมีกรุงเทพฯ แค่หนึ่งเดียวเหมือนกัน เราจะมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง จริงๆ แล้ว ทุกๆ วันคือวันสิ่งแวดล้อมโลก เพราะเราไม่มีเวลาที่จะเสียไปอีกแล้ว” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าว 

สำหรับกิจกรรม “รวมพลเก็บขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาและปลูกต้นไม้” กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกับสำนักงานเขต 50 เขต และภาคีเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้และสร้างการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม 4 ด้าน ประกอบด้วย 1. ด้านการขนส่งมวลชน 2. ด้านพลังงาน 3. ด้านพื้นที่สีเขียว และ 4. ด้านการจัดการขยะมูลฝอย โดยกำหนดจัดกิจกรรมโครงการรณรงค์เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก 2565 (World Environment Day 2022) ในวันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน 2565 ซึ่งตรงกับวันสิ่งแวดล้อมโลก ร่วมกันเก็บขยะและวัชพืชในแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งรณรงค์ไม่ทิ้งขยะและไขมันลงในแม่น้ำและคูคลอง และปลูกต้นไม้ 69 ต้น ประกอบด้วย มะฮอกกานี ตะเคียนทองและขี้เหล็ก ภายในสวนหลวงพระราม 8 เพื่อให้เจริญเติบโตให้ร่มเงา อีกทั้งช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์และสร้างออกซิเจน

นอกจากนี้ 50 สำนักงานเขต จะจัดกิจกรรมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ อาทิ การปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว กิจกรรมการลดและคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง การจัดเก็บขยะในแม่น้ำคูคลอง การรณรงค์ลดใช้พลังงาน และลดมลพิษทางอากาศ เพื่อร่วมเป็นแรงผลักดันในโครงการรณรงค์เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลกปีนี้อีกด้วย การจัดกิจกรรมดังกล่าว เป็นการรณรงค์ให้ประชาชนตื่นตัวและตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งปัญหามลพิษทางอากาศ ขยะ รวมทั้งการขาดแคลนพื้นที่สีเขียวในเมือง ซึ่งการจัดกิจกรรมภายใต้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะเป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมให้กับโลกของเราในวันสิ่งแวดล้อมโลก ตามแนวคิด #OnlyOneEarth ปกป้องโลกในวันนี้ เพื่ออนาคตที่ดีของเรา เพราะโลกมีเพียงใบเดียว นอกจากนี้ประชาชนทุกคน ยังสามารถร่วมกันปลูกต้นไม้ในบ้านเรือนของตนเอง และส่งภาพถ่ายมาร่วมกิจกรรมแลกของรางวัลได้ทาง Facebook ของสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ที่ www.facebook.com/pr.environment ได้ตลอดเดือนมิถุนายน 2565 ด้วย

ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ได้กำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) พร้อมจัดตั้งโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) ขึ้น เพื่อดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมให้ทั่วโลกตระหนักและร่วมกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2565 UNEP กำหนดการรณรงค์ภายใต้หัวข้อเรื่อง #OnlyOneEarth ปกป้องโลกในวันนี้ เพื่ออนาคตที่ดีของเรา เพราะโลกมีเพียงใบเดียว ทั้งนี้ เพื่อจุดประกายและปลุกกระแสให้ประชาชนได้ตระหนักและเข้าใจถึงปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

อนึ่ง การปลูกต้นไม้ในวันนี้ ถือเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่ง ตามนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบาย 214 ข้อ ที่กรุงเทพมหานคร จะปลูกต้นไม้เพิ่มให้ครบ 1 ล้านต้น โดยแบ่งการปลูกเป็น 400 ต้น / เขต / สัปดาห์ เพื่อให้ครบล้านต้นใน 4 ปี โดยแบ่งแนวคิดการดำเนินการ ดังนี้ 1. ปลูกเพื่อลดฝุ่นและมลพิษ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีกิจกรรมของประชาชนหนาแน่น เพื่อสร้างประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับการดักจับมลพิษและฝุ่น 2. ปลูกให้เกิดร่มเงาในการใช้ชีวิต ในพื้นที่ที่มีกิจกรรมกลางแจ้งของประชาชนหนาแน่น 3. ปลูกเพื่อส่งเสริมความหลากหลายของระบบนิเวศเมือง โดยหารือร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ และรุกขกรประจำเขตจัดทำแนวทางการปลูกต้นไม้ การคัดเลือกพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมกับสภาพดิน สภาพอากาศ  4. ปลูกให้ชุมชนมีรายได้ โดยสนับสนุนให้ชุมชนเกษตรกรรมในกรุงเทพฯ เพาะกล้าไม้ โดย กทม.เป็นผู้รับซื้อ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และ 5. ปลูกให้คนและต้นไม้โตไปพร้อม ๆ กัน โดยแจกกล้าให้กับนักเรียนและประชาชนที่สนใจปลูกคนละ 3 ต้น และจัดกิจกรรมร่วมกันปลูกต้นไม้ทุกวันอาทิตย์ ให้วันอาทิตย์เป็นวันปลูกต้นไม้กรุงเทพฯ.