สำนักข่าวซินหัวรายงานจากกรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ว่าผลการศึกษาดังกล่าว ซึ่งได้รับการตีพิมพ์เมื่อต้นเดือนนี้ ระบุว่า คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฟลินเดอร์ส ในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย และมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออสเตรเลีย ( ยูดับเบิลยูเอ ) ค้นพบหญ้าทะเลที่ทอดยาวครอบคลุมพื้นที่ 180 กิโลเมตร ในอ่าวชาร์กเบย์ ของรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย


คณะนักวิจัยพยายามทำความเข้าใจความหลากหลายของทุ่งหญ้าทะเลในอ่าวข้างต้น ด้วยเครื่องมือตรวจสอบพันธุกรรม และประหลาดใจเมื่อพบว่า หญ้าทะเลเหล่านี้เป็นพืชต้นเดียวขนาดใหญ่ของสายพันธุ์โพซิโดเนีย ออสตราลิส ( Posidonia australis ) ซึ่งคาดการณ์ว่ามีอายุอย่างน้อย 4,500 ปี


ศ. มาร์ติน บรีด นักนิเวศวิทยาจากมหาวิทยาลัยฟลินเดอร์ส และผู้เขียนงานวิจัยร่วม กล่าวว่า ทีมวิจัยรู้สึกฉงนที่พืชดังกล่าวสามารถมีชีวิตรอดและเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง และคาดการณ์ว่า หญ้าทะเลต้นนี้อาจไม่ผสมพันธุ์ เพราะเป็นหมัน พร้อมเสริมว่าพืชที่ไม่ผสมพันธุ์นั้น มีแนวโน้มพบความหลากหลายทางพันธุกรรมลดลง ซึ่งเป็นสิ่งที่พืชต้องการเมื่อเผชิญการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อม


ศ.บรีดกล่าวต่อไปว่า หญ้าทะเลต้นนี้เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมมาแล้วหลายครั้ง แม้กระทั่งปัจจุบันมันยังเผชิญการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิเฉลี่ยหลายระดับ ตั้งแต่ 17-30 องศาเซลเซียส ความเค็มของน้ำทะเลที่เพิ่มเป็นสองเท่า และสภาวะมืดไปจนถึงสภาวะสว่างจัด โดยปกติแล้วสภาวะเหล่านี้จะทำให้พืชมีความตึงเครียดอย่างสูง ทว่าหญ้าทะเลต้นนี้ยังสามารถเจริญเติบโตต่อไปได้


คณะนักวิจัยค้นพบหลังทำการทดลองเพิ่มเติม ว่าพืชดังกล่าวเป็นโพลีพลอยด์ ( polyploid ) ซึ่งหมายความว่ามันมีโครโมโซม มากกว่าพืชในตระกูลเดียวกันถึง 2 เท่า และจะเติบโตต่อไปได้หากปราศจากการรบกวน


ปัจจุบัน ทีมวิจัยกำลังทดสอบและศึกษาเพิ่มเติม เพื่อเรียนรู้ว่า หญ้าทะเลโบราณต้นนี้มีชีวิตรอดในสภาวะที่แปรปรวนอย่างไร.

ข้อมูล-ภาพ : XINHUA