เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ที่ อาคารหอประชุม วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี ดร.สาโรจน์ ขอจ่วนเตี๋ยว นายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 4 เป็นประธานเปิด “โครงการเสริมสร้างความเข้าใจเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาคุณภาพนักศึกษาใหม่ และการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม นักศึกษาระดับปริญญาตรี สถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 4 ประจำปีการศึกษา 2565” และพิธีไหว้ครูหรือบูชาครู พร้อมขอให้นักศึกษา ขยันหมั่นเพียร ศึกษาเรียนรู้ ได้รวดเร็วเหมือนหญ้าแพรกที่โตวันโตคืน มีความทนต่อสภาวะแวดล้อม และทนต่อการเหยียบย่ำ หรืออีกนัยหนึ่งคือต้องยอมรับฟังคำว่ากล่าวตักเตือนสั่งสอนของครูอาจารย์ มีสติปัญญา ฉลาดหลักแหลม เหมือนดอกเข็ม รู้เท่าทันและสามารถนำความรู้ไปใช้อย่างชาญฉลาดและอยู่ในศีลธรรมอันดี

อีกทั้ง ขอให้มีความอ่อนน้อมถ่อมตน เอื้ออาทรต่อเพื่อนและญาติมิตร เหมือนดอกมะเขือที่คว่ำดอกลงเสมอเมื่อจะออกผลตลอดจนตั้งใจรับการอบรมสั่งสอนจากครูอาจารย์ ควบคู่กับการเรียนรู้ทางวิชาการการศึกษา เพราะครูต้องอบรมศิษย์ควบคู่ไปกับการให้ความรู้ทางวิชาการ เพื่อให้ศิษย์มีความรู้พรั่งพรูเหมือนข้าวตอกสีขาว ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้ยังเป็นการชี้แนะแนวทางเกี่ยวกับกระบวนการจัดการเรียน การสอน และบริบทต่าง ๆของสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง4 ที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์แก่นักศึกษาใหม่ในทุกสาขาวิชา รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อให้นักศึกษาปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง สามารถดำรงชีวิต การเป็นนักศึกษาของสถาบันได้อย่างมีความสุข

ดร.อินดา แตงอ่อน ผอ.สถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 4 กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 4 ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดโครงการเสริมสร้างความเข้าใจ เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาคุณภาพให้กับนักศึกษาใหม่ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้นักศึกษาได้รับทราบแนวทางปฏิบัติและกฎระเบียบต่าง ๆ ของสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 4ให้ปฏิบัติตนด้วยความถูกต้อง ตามการดำรงชีวิตในวิถียุคใหม่ (New Normal) ต่อไป สำหรับกิจกรรมไหว้ครูเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการแสดงถึงความกตัญญูกตเวที ความเคารพ และยอมรับนับถือต่อครูอาจารย์ ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา ความวิริยะอุตสาหะ ของครูอาจารย์ เพื่อให้นักศึกษาบรรลุปลายทางแห่งการศึกษาตามที่มุ่งหวังไว้

ปัจจุบันสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 4 มีสถานศึกษาในสังกัด 9 วิทยาลัยใน 4 จังหวัด คือ กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรีและ สุพรรณบุรี มีสถานศึกษา ที่เปิดสอนในระดับปริญญาตรี สายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ 7 สถานศึกษาใน 16 สาขาวิชา ได้แก่
1.วิทยาลัยอาชีวศึกษากาญจนบุรี

  • สาขาวิชาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล (ต่อเนื่อง)
    2.วิทยาลัยเทคนิคกาญจนบุรี
  • สาขาวิชาเทคโนโลยียานยนต์ (ต่อเนื่อง)
    3.วิทยาลัยอาชีวศึกษานครปฐม
  • สาขาวิชาการบัญชี (ต่อเนื่อง)
  • สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์ (ต่อเนื่อง)
  • สาขาวิชาการโรงแรม (ต่อเนื่อง)
  • สาขาวิชาเทคโนโลยีอาหารและโภชนาการ (ต่อเนื่อง)
  • สาขาวิชาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล (ต่อเนื่อง)
  • สาขาวิชาดิจิทัลกราฟิก (ต่อเนื่อง)
    4.วิทยาลัยเทคนิคนครปฐม
  • สาขาวิชาเทคโนโลยีไฟฟ้า (ต่อเนื่อง)
    5.วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี
  • สาขาวิชาเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ (ต่อเนื่อง)
    6.วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุพรรณบุรี
  • สาขาวิชาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล (ต่อเนื่อง)
  • สาขาวิชาการบัญชี (ต่อเนื่อง)
  • สาขาวิชาคอมพิวเตอร์โปรแกรมเมอร์ (ต่อเนื่อง)
    7.วิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรี
  • สาขาวิชาเทคโนโลยียานยนต์ (ต่อเนื่อง)
  • สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์ (ต่อเนื่อง)
  • สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ (ต่อเนื่อง)
    รวมนักศึกษาทั้งสิ้น 500 คน