พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือ พีดีพีเอ ที่เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.65 ที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีประเด็นที่ทำให้เกิดความกังวล และเกิดความสงสัยและสับสนต่อสังคม

ทั้งในเรื่องการถ่ายรูปอัพลงโซเชียล ซึ่งทาง นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ก็ออกมาย้ำว่า ประชาชน ยังใช้ชีวิตเหมือนปกติ ถ่ายรูป โพสต์รูป ติดคนอื่นได้ ไม่ต้องกังวล ตราบใดที่ไม่ไปสร้างความเสียหาย หรือ เอารูปคนอื่นไปหาผลประโยชน์

อย่างไรก็ตามสำหรับในประเด็นที่เรามีกล้องติดรถยนต์ แล้วสามารถบันทึกภาพอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น หากนำรูปภาพที่บันทึกไว้ไปโพสต์ลงโซเชียลสามารถทำได้หรือไม่?

เธียรชัย ณ นคร

ในประเด็นนี้ นายเธียรชัย ณ นคร ประธานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ให้สัมภาษณ์กับทาง “เดลินิวส์” ว่า การติดกล้องหน้ารถเป็นการเก็บหลักฐาน เมื่อเก็บภาพที่เกิดการกระทำผิด หรือเกิดอุบัติเหตุ ควรจะนำไปใช้ยืนยัน หรือมอบให้กับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อใช้เป็นหลักฐานมากกว่า การนำไปโพสต์ ลงสื่อโซเชียล ก็ต้องพึงระวังว่าจะเกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่นๆ ที่อยู่ในภาพหรือไม่ด้วย หากเกิดการฟ้องร้องขึ้นมาก็อาจทำให้ผู้โพสต์ลำบาก จึงต้องพึงระวังด้วย

“การโพสต์ถ้าไม่ได้มีเจตนาไปในเรื่องรบกวน ละเมิดสิทธิ หรือทำให้เสียหายก็สามารถทำได้ เพราะหากเราต้องการบ่งชี้ให้เห็นถึงเรื่องกระทำความผิด หรือการเตือนภัย แต่ต้องระวังนิดหนึ่งเพราะกฎหมายไทยฟ้องกันง่าย เพราะหากมีผู้เสียหายคิดว่าตนเองถูกละเมิดก็อาจเกิดกรณีฟ้องร้องกันได้ แต่ส่วนตนมองว่าจะเป็นการฟ้องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายพื้นฐานหรือทางแพ่ง ไม่เข้าข่ายกฎหมายพีดีพีเอ” นายเธียรชัย กล่าว

เวทางค์ พ่วงทรัพย์

ด้าน นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดีอีเอส ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กล่าวว่า  ตามหลักการหากมีการเอาภาพกล้องหน้ารถไปโพสต์ลงสื่อโซเชียล ถ้าไม่เห็นหน้าว่าใครเป็นใคร ไม่เป็นการละเมิดสิทธิและไม่เกิดความเสียหายอะไรก็สามารถโพสต์ได้ หรือควรมีการเบลอหน้า และเบลอทะเบียนรถ จนไม่ให้รู้ว่าเป็นใคร ก็สามารถทำได้