ภายหลัง นายชัชชาติ สิทธิ​พันธุ์​ ผู้ว่าราชการ​กรุงเทพ​มหานครพร้อมคณะ​ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุ และสอบถามปัญหาอุปสรรค​ในการช่วยเหลือประชาชน โดยเน้นให้ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จากไฟไหม้ชุมชนบ่อนไก่ ถนนพระรามที่ 4 โดยให้เร่งจัดตั้งศูนย์รับเรื่องและช่วยเหลือทันทีนั้น

เวลา 16.10 น. วันที่ 21 มิ.ย. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ให้สัมภาษณ์ว่า พบว่าหน่วยแพทย์ปฏิบัติการได้ดีเมื่อเกิดเหตุได้มีการมาตั้งหน่วยให้บริการร่วมกับทีมแพทย์ของโรงพยาบาลจุฬาฯ มีรถฉุกเฉินรออยู่ ส่วนรถกู้ภัยก็มาถึงหลังรถดับเพลิง และช่วยสนับสนุนการกู้ภัยเป็นอย่างดีเนื่องจากที่ผ่านมา มีการซ้อมร่วมกัน ปัญหาหลักน่าจะเป็นเรื่องของแหล่งน้ำ ซึ่งจากการดูพบว่าไม่มีหัวแดงอยู่ในชุมชน ต้องดูว่าในอนาคตมีการปรับปรุงอย่างไร แต่ปัญหาอย่างอื่นยังไม่เห็น

อย่างไรก็ตามปัญหาเฉพาะหน้า คือต้องดูแลผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน 30 หลังคาเรือน ก็ประมาณ 300 กว่าคน ตอนนี้ได้มีการตั้งศูนย์บรรเทาฯ อยู่ที่ศูนย์เยาวชนบ่อนไก่ ขณะนี้ที่เป็นห่วงก็คือนักเรียนที่กลับบ้านมา และยังเข้าบ้านไม่ได้ และมีการร้องขอเพิ่มเติม โดยบริเวณจุดแพทย์มีการร้องขอเก้าอี้และไฟส่องสว่างในยามค่ำคืน ส่วนด้านในศูนย์ก็อาจจะมีอุปกรณ์เข้าไปช่วยเพื่อให้พักค้างคืนในค่ำคืนนี้

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อว่า หลังจากนี้ให้ ผอ.เขตสรุปว่าเกิดอะไรขึ้น จุดนี้ยังถือว่าเป็นจุดที่โชคดี เพราะอยู่ห่างจากสถานีดับเพลิงหลักไม่กี่ร้อยเมตร เพราะฉะนั้นดับเพลิงจึงสามารถมาถึงได้ภายใน 8 นาที แต่ถ้าหากมันเกิดในชุมชนที่ห่าง สถานีดับเพลิงมากกว่านี้ เข้าถึงได้ยากกว่านี้ไม่มีหัวแดง อาจจะมีความเสียหายมากกว่านี้ คงต้องทบทวนและเอาตรงจุดนี้ไปเป็นบทเรียนในการปรับปรุงอนาคตให้ดีขึ้น

ผู้ว่าฯ กทม. ยังกล่าวต่ออีกว่า ทราบว่าประชาชนส่วนใหญ่จะตื่นเต้น ตกใจ มีสำลักควันบ้าง มีอาสาสมัครขาแพลง 1 ราย อย่างไรก็ตาม ขอขอบคุณอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่ทำงานอย่างเข้มแข็ง เนื่องจากด้านในมีพื้นที่เป็นหลุมบ่อและอาจจะมีเศษไม้ที่ทำให้เกิดอันตรายได้ แล้วก็มีทางทหารส่งเจ้าหน้าที่มาร่วมด้วย

หลังจากที่ไปดูตรงจุดที่เกิดเหตุพบว่าเป็นบ้านไม้ปลูกหลังคาติดกันและผนังติดกัน ทางแคบมากแค่วางสายดับเพลิงอย่างเดียวก็ไม่มีที่เดินแล้วไม่เกิน 1.50 เมตร ส่วนสาเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้ยังไม่ทราบสาเหตุ

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ถือว่าเป็นหน้าที่ ของผู้ว่าฯ ที่ต้องมาดูปัญหาและแก้ปัญหาให้ประชาชน แต่ที่มาช้าเนื่องจากตนติดภารกิจสำคัญอยู่ที่ศาลาว่าการ กทม. ประกอบกับรถติดจึงรีบนั่งรถจักรยานยนต์มา ซึ่งเป็นวิธีที่เร็วที่สุด เพราะหน้าที่เราคือบำบัดทุกข์บำรุงสุข ให้กับประชาชน เน้นดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบก่อนในคืนนี้  ก็ต้องให้กำลังใจกันในช่วงเวลายากลำบากแบบนี้ อย่างไรก็ตามขอฝากไว้ว่าในช่วงนี้ควรจะต้องระมัดระวัง เรื่องอัคคีภัยช่วยกันดูเป็นหูเป็นตาดูเครื่องดับเพลิงมือถือให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ ส่วนหนึ่งต้องฝากให้ชุมชนช่วยกันดูด้วย กทม.พร้อมที่จะดูแลเต็มที่ แต่เมื่อเราทุกคนช่วยกันดูก็จะเกิดพลังบวกเกิดขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับสถานการณ์เพลิงไหม้ในขณะนี้ ควบคุมเพลิงได้จนสงบ จากการตรวจสอบความเสียหายบ้านที่ถูกเพลิงไหม้มีจำนวนกว่า 30-40 หลัง โดยหลังเกิดเหตุมีหลายหน่วยงานร่วมลงพื้นที่ ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่แพทย์ รพ.จุฬาภรณ์ พร้อมรถพยาบาล และ เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตคลองเตย, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ (พม.) เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัย มีทั้งชาวบ้านและอาสาที่ได้บาดเจ็บ มี 12 ราย ประกอบด้วย สำลักควัน 8 ราย และไหล่หลุด1 ราย, ไฟดูด 1 ราย, ขาผิดรูป1 ราย ส่วนอีกรายบาดเจ็บเล็กน้อย

จากการสอบถาม นายเพียร วงษ์มณี อายุ55 ปี อาชีพขายขนมจีน (หนึ่งในผู้อาศัยบ้านที่ถูกไฟไหม้) เปิดเผยว่า ขณะเกิดเหตุตนอยู่ภายในบ้านซึ่งอยู่ใกล้กับจุดเกิดเหตุ สังเกตุเห็นไฟฟ้าช็อตบริเวณเสาไฟฟ้าความสูงประมาณ 6 เมตร มีแสงไฟวิ่งตามสายไฟ จากนั้นได้เกิดสะเก็ดไฟตกลงบริเวณหลังคาบ้าน ที่ห่างจากบ้านของตนประมาณ 50 เมตร ตนจึงหยิบถังเคมีเพื่อจะเข้าไปดับแต่ไม่สามารถดับได้เนื่องจากไฟติดบนหลังคา และเกิดควันจำนวนมากก่อนจะลุกเป็นประกายไฟเกิดขึ้นทำให้ชาวบ้านในสลัมช่วยกันขนของออก ส่วนบ้านของตนไม่มีอะไรเหลือ มีเพียงชุดที่สวมใส่ กับแฟนที่ขายขนมจีนอยู่และมีภาระต้องส่งลูกเรียน ตนพักอาศัยที่นี่มา 35 ปี หากหน่วยงานไหนอยากจะช่วยก็ยินดีโดยไม่เรียกร้องอะไร “ไฟไหม้ครั้งเดียว ไม่เท่าโจรปล้น 10 ครั้ง”

เบื้องต้นคาดว่าสาเหตุมาจากไฟฟ้าลัดวงจรจากบริเวณเสาไฟฟ้าภายในชุมชนดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างตรวจสอบหาสาเหตุที่แน่ชัดอีกครั้ง และนำผู้พักอาศัยที่ได้รับผลกระทบครั้งนี้ไปลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตปทุมวันและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือเยียวยาต่อไป