เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ที่ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) เขตพระนคร ผศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. ร่วมประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร (ศบค.กทม.) ครั้งที่ 22/2565 โดยมี ผู้บริหาร กทม. และหัวหน้าส่วนราชการในสังกัด กทม. ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ และประชุมผ่านระบบทางไกล

ในที่ประชุม คณะทำงานด้านต่างๆ ประกอบด้วย คณะทำงานด้านการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาด คณะทำงานด้านการรักษาพยาบาลผู้ป่วย คณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล คณะทำงานด้านการประสานงานการดูแลความสงบเรียบร้อย คณะทำงานด้านต่างประเทศ และคณะทำงานด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ได้รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ภาพรวมการให้บริการวัคซีน การรักษาผู้ป่วย

และการติดตามความเรียบร้อย ตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว การตรวจสอบสถานบันเทิงที่อนุญาตให้เปิดทำการได้ โดยสุ่มตรวจซ้ำว่าได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือไม่ ตลอดจนกวดขันสถานบันเทิงที่ไม่ได้รับอนุญาตไม่ให้มีการเปิดบริการ โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังทุกพื้นที่อย่างเคร่งครัด รวมถึงติดตามข้อสั่งการของรัฐบาล และข้อเสนอแนะในการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้สำนักอนามัย สำนักการแพทย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้หารือถึงข้อเสนอเพื่อผ่อนคลายมาตรการป้องกันควบคุมโรคในประเทศ มาตรการสังคม ชุมชน และองค์กรเปลี่ยนผ่านสู่ระยะ Post-pandemic เตรียมมาตรการเพื่อเข้าสู่แนวทางการเป็นโรคประจำถิ่นของ กทม. เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป ทั้งนี้สถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปัจจุบันพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีปัจจัยที่พร้อมสำหรับการเปลี่ยนผ่านการระบาดของโรคโควิด-19 สู่การเป็นโรคประจำถิ่น

สำหรับประชาชนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนตามเกณฑ์ ทั้งกลุ่ม 608 เด็กอายุ 5-11 ปี และผู้ที่อายุ 12-17 ปี สามารถ Walk-In ให้มารับบริการวัคซีนได้ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกรุงเทพมหานคร (สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง ซึ่งการได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นนั้น อาจไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 แต่จะช่วยลดความรุนแรงของโรคโควิด-19 ให้เบาบางลง

ในส่วนของหน้ากากอนามัย ยังคงมีประโยชน์ในการป้องกันทั้งการแพร่เชื้อและการรับเชื้อโควิด-19 และโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจอื่นๆ รวมถึงยังสามารถป้องกันปัจจัยอื่นที่มีผลต่อสุขภาพ ควรพกหน้ากากอนามัยทุกครั้ง เมื่อออกจากบ้านและนำมาสวมเมื่อมีความเสี่ยง.