นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส (COVID-19) ทั่วโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้น มีการเปิดประเทศและอุตสาหกรรมเศรษฐกิจทั่วโลกมีการขยายและฟื้นตัว ส่งผลให้สินค้าปศุสัตว์ของประเทศไทยเป็นที่ต้องการทั่วโลก โดยเพียงแค่ 5 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-พฤษภาคม) ยอดส่งออกยังคงพุ่งแรงเทียบกับ 5 เดือนแรกปี 2564 ก่อน รวมมูลค่ากว่า 106,656.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.82% ปริมาณกว่า 1,014,611 ตัน เพิ่มขึ้น 2.08% ผลจากความเชื่อมั่นของประเทศคู่ค้าในการตรวจสอบ กำกับและควบคุมกระบวนผลิตด้านความปลอดภัยอาหารของกรมปศุสัตว์ ประเทศไทย เผยครึ่งปีหลัง คาดการณ์จากเจรจาและเปิดตลาดคู่ค้าเพิ่มสำเร็จ ผลทำให้การส่งออกสินค้าปศุสัตว์ของไทยยังคงพุ่งปังเพิ่มอย่างต่อเนื่อง

กรมปศุสัตว์ มีภารกิจหน้าที่ในการกำกับควบคุมดูแลการผลิตสินค้าปศุสัตว์ตลอดห่วงโซ่การผลิต ให้ได้คุณภาพมาตรฐานเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคด้านความปลอดภัยอาหาร ตั้งแต่แหล่งที่มาของสัตว์จากฟาร์มมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) โรงฆ่าและโรงแปรรูปที่มีการปฏิบัติทางสุขลักษณะที่ดี (Good Hygiene Practices: GHPs) และระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม (Hazard Analysis and Critical Control Points: HACCP) สอดคล้องตามข้อกำหนดของกฎหมายในประเทศ ตามระเบียบของประเทศคู่ค้า และตามหลักสากล โดยยอดส่งออกสินค้าปศุสัตว์ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-พฤษภาคม) เปรียบเทียบกับช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 (5 เดือนแรกปี 64 ปริมาณ 993,916 ตัน มูลค่า 88,277.50 ล้านบาท) มีปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้นคิดเป็น 2.08% มูลค่าเพิ่มขึ้น 20.82%

ซึ่งในช่วงแค่ 5 เดือนแรกของปี 2565 นี้ได้มีการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไปแล้วปริมาณกว่า 1,014,611 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 106,656.17 ล้านบาท แบ่งเป็นเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์แปรรูปปริมาณ 415,348.23 ตัน มูลค่า 54,016.07 ล้านบาท (สินค้าประเภทเนื้อไก่แปรรูปมากที่สุดคิดเป็น 61% คู่ค้าหลักคือญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป) สินค้ากลุ่ม Non-frozen ประกอบด้วย ไข่และผลิตภัณฑ์ไข่ นมและผลิตภัณฑ์นม น้ำผึ้งและผลิตภัณฑ์ผึ้ง รังนกและผลิตภัณฑ์รังนก ซุปไก่สกัด อาหารกระป๋อง และอื่นๆ รวมปริมาณ 125,077.39 ตัน มูลค่า 10,784.77 ล้านบาท (สินค้านมและผลิตภัณฑ์นมมากที่สุดคิดเป็นประมาณ 80% รองลงมาคือกลุ่มสินค้าไข่และผลิตภัณฑ์ และกลุ่มสินค้าปลากระป๋อง ตามลำดับ) อาหารสัตว์เลี้ยง (Pet food) ปริมาณ 366,317.07 ตัน มูลค่า 36,888.73 ล้านบาท (อาหารสัตว์เลี้ยงในภาชนะบรรจุปิดสนิทมากที่สุด รองลงมาคืออาหารเม็ด คู่ค้าหลักสำคัญคือ สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป) และอาหารปศุสัตว์ ปริมาณ 107,868.31 ตัน มูลค่า 4,966.61 ล้านบาท (เป็นปลาป่นมากที่สุด รองลงมาคืออาหารสำเร็จรูป และพรีมิกซ์ ตามลำดับ)

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวโน้มการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ในช่วงครึ่งหลังปี 65 นี้ ได้มีการเจรจาเปิดตลาดและขยายตลาดการส่งออก ส่งผลให้แนวโน้มปริมาณและมูลค่าการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ในช่วงครึ่งปีหลัง ยังคงเพิ่มปริมาณและมูลค่าได้อย่างต่อเนื่อง จากสิงคโปร์มีการผ่อนปรนมาตรการนำเข้าสินค้าเนื้อสัตว์ปีกดิบทำให้ไทยส่งออกได้มากขึ้น มาเลเซียมีการนำเข้าเนื้อสัตว์ปีกจากไทยมากขึ้นและจะมาตรวจประเมินพิจารณาขึ้นทะเบียนโรงงานนมเพิ่มเติม องค์การอาหารและยาของซาอุดีอาระเบีย (SFDA) อนุญาตให้นำเข้าไก่จากไทยได้ หลังจากที่ระงับมานานและได้ขึ้นทะเบียนโรงงานสัตว์ปีกไทยเพิ่มอีก 11 โรงงาน ทำให้เป็นโอกาสในการเพิ่มตลาดส่งออกได้มากขึ้น นอกจากนี้แคนาดาจะตรวจประเมินโรงงานสัตว์ปีกเพื่อพิจารณาการนำเข้าเนื้อเป็ดแปรรูปปรุงสุกจากไทย และอาหารสัตว์เลี้ยงเป็นที่ต้องการในตลาดโลกส่งออกเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีโรงงานผลิตอาหารคนที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์แล้วกว่า 337 แห่ง และโรงงานผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงแล้วกว่า 90 แห่ง ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการข่าวสารหรือข้อมูลเพิ่มเติมสามารถค้นหาได้ที่ www.dld.go.th หรือที่แอพพลิเคชั่น DLD 4.0 หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 06-3225-6888 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง