เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องทุกข์ทางโทรศัพท์จาก น.ส.อุไรวรรณ (สงวนนามสกุล) อายุ 30 ปี ผู้ป่วยโควิด-19 ปัจจุบันพักอยู่กับ นายคมกฤช (สงวนนามสกุล) อายุ 24 ปี ในบ้านพักปากซอยเทอดไทย 37 แขวงตลาดพลู เขตธนบุรี กรุงเทพ ว่า ตนกับแฟนติดโควิดทั้งคู่ โดยตนตรวจเจอเมื่อวันที่ 27 ก.ค. หลังเสียเงินตรวจแบบ Antigen Test เองที่ รพ.รัชดาท่าพระ ในราคา 1,300 บาท ส่วนแฟนหนุ่มตรวจด้วยวิธีเดียวกันทราบผลวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่าติดเชื้อ จากนั้นจึงพากันรีบลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ สปสช.ทันที หวังแบ่งเบาภาระบุคลากรทางการแพทย์ด้วยการเข้าสู่ระบบการดูแลผู้ติดเชื้อโควิดที่บ้าน (Home Isolation) โดยช่วงนั้นรัฐบาลให้ข่าวสารว่า จะมีทีมแพทย์คอยวีดีโอคอลมาประเมินอาการให้วันละ 2 ครั้ง มีอาหารมาส่งให้ที่บ้าน 3 มื้อ มีการจัดส่งปรอทวัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนมาให้ มีการส่งยาฟ้าทะลายโจร ยาฟาวิพิราเวียร์และยาพื้นฐานอื่นๆ มาให้ ตลอดจนจะมีการช่วยประสานส่งต่อรักษาหากอาการแย่ลง

Home Isolation สู้โควิด ไรเดอร์ ข้อต่อส่งยา-อาหาร

น.ส.อุไรวรรณ เผยอีกว่าขณะนี้ผ่านมาจนครบ 1 สัปดาห์แล้ว ยังไม่มีเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานใดติดต่อกลับมา ทั้งที่ทางรัฐบาลและเว็บไซต์ของ สปสช.ที่ให้คำมั่นว่า หลังลงทะเบียนจะมีผู้ติดต่อกลับตามช่องทางที่ให้ไว้ภายใน 48 ชั่วโมง ซึ่งตนและแฟนต้องหาของกินและยาฟ้าทะลายโจรกินกันเอง ทั้งที่ไม่อยากออกจากบ้านไปเป็นภาระหรือแพร่เชื้อให้ใคร อีกทั้งตอนนี้ยังมีทั้งอาการไข้และไอไม่หาย เมื่อติดตามข่าวสารจากโซเชียล ยังพบว่า มีผู้ป่วยที่ประสงค์จะรักษาแบบ Home Isolation ลงทะเบียนผ่าน สปสช.ถูกทอดทิ้งแบบตนจำนวนมาก และแทบทุกราย จากที่ติดเพียงคนหรือสองคน ก็ต้องแพร่เชื้อให้คนอื่นๆในบ้านเพิ่มขึ้นไปอีก โดยเฉพาะเมื่อไม่มีความช่วยเหลือจากหน่วยงานใด ผู้ป่วยแทบทุกรายก็จำเป็นต้องออกจากบ้านไปหาข้าวปลาและยาที่พอหาได้มารักษาตนเอง