วิธีการรักษาตัวที่บ้านหรือ Home Isolation กลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มสีเขียว เป็นอีกแนวทางในการรักษาในภาวะที่เตียงรักษาขาดแคลน การดูแลผู้ติดเชื้อโควิดที่บ้านหรือที่ชุมชม Home/Community Isolation ได้เกิดขึ้นแล้วในพื้นที่ 23 ชุมชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมาดูแลผู้ติดเชื้อ 182 ราย ล่าสุดหายแล้ว 14 ราย  

ภายใต้การประสานความร่วมมือระหว่าง รพ.ปิยะเวท สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายสลัมสี่ภาค และภาคีเครือข่ายช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) 

ธัญสุตา ประสิทธิ์ พยาบาลวิชาชีพ IHRI บอกเล่าในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ส่งยา อุปกรณ์และอาหารไปให้ผู้ป่วยที่บ้านว่า ระบบตอนนี้ใช้แมนนวลทั้งหมดในทีมต้องดูแลเคสผู้ป่วยในตัวเลขหลักร้อยที่รักษาตัวที่บ้าน มีทีมงานสั่งอาหาร คนป่วย 1 คน จะใช้เวลา 15 นาทีเพื่อเลือกร้านอาหารที่อยู่แพลตฟอร์ม เลือกแพลตฟอร์มฟู้ดแพนด้า เพราะมีร้านอาหารหลายร้านที่เปิด 6 โมงเช้า ต้องออร์เดอร์ตั้งแต่ 5 ทุ่ม

ในผู้ป่วย 1 คน ต้องสั่งหาอาหาร 3 มื้อต่อ 1 คน มีทั้งอาหารเด็กที่ไม่ทานเผ็ด กลุ่มผู้ป่วยที่เป็นอิสลาม หรือบางคนขอเป็นอาหารมังสวิรัติ และคนสั่งต้องปักหมุดไปยังบ้านผู้ป่วยเอง ต้องมีความไวและใช้ลอจิกสูงมาก เพราะคนป่วยจะสั่งอาหารซ้ำๆ ให้กินไม่ได้ จะสั่งกันในช่วงค่ำเพื่อให้อาหารเช้ารวมอาหารเที่ยงและอาหารเย็นไปถึงบ้านผู้ป่วย ซึ่งจะกำชับว่าอีก 2 มื้อต้องเก็บไว้ในตู้เย็น ซึ่งงานนี้ทางศูนย์จ้างพนักงานมาทำแต่รับไม่ไหวใน 8 ชม.ทำได้ไม่ถึง 15 ออร์เดอร์ ต้องใช้อาสาสมัครช่วยกัน ขณะที่ ทีมส่งยาและอุปกรณ์ในการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน จะใช้ค่ายลาลามูฟเลือก เพราะสั่ง 1 ครั้งสามารถปักหมุดได้ 20 ที่ สะดวกกับการบริหารจัดการ 

นอกจากนี้ยังมีเมสเซนเจอร์ประจำศูนย์ที่เป็นวินจักรยานยนต์ (จยย.) ในพื้นที่จุฬาฯ ประมาณ 5 ราย มาส่งทั้งยาและอาหาร ทั้งไรเดอร์ต้องโทรฯ หาผู้ป่วยก่อนว่าอยู่บ้านหรือไม่ เมื่อส่งเสร็จแล้วไรเดอร์ต้องถ่ายรูปส่งกลับ ยืนยันว่าถุงยาและอาหารแขวนไว้หน้าบ้านแล้ว

ธัญสุตา เล่าว่า ทางทีมจะให้ความรู้กับไรเดอร์ว่า สิ่งของที่ส่งไปยังบ้านผู้ป่วยจะให้มีจุดแขวนไม่ให้มีการสัมผัส ซึ่งไรเดอร์หลายคนเข้าใจแต่ไรเดอร์บางยี่ห้อที่เราต้องเรียกกะทันหันเพื่อไปส่งยา อาหารให้ผู้ป่วย เขารู้ว่าเป็นผู้ติดเชื้อ เกิดการบูลลี่เกิดขึ้น เขายกเลิกงานทันที บางรายผู้ป่วยสีเขียวระยะแรกไม่มีอาการ ท้องเสียกะทันหัน โทรฯ หาพยาบาล พยาบาลแจ้งมาที่ศูนย์ว่าต้องการเกลือแร่ ต้องเรียกไรเดอร์ทันที เกลือแร่ 5 ซองต้องส่ง ค่าส่ง 300 บาทก็มี

บ่อยครั้งที่ไรเดอร์ส่งอาหารไม่อ่านจุดที่ปักหมุดโทรฯ หาคนสั่งออร์เดอร์ ความวุ่นวายเกิดขึ้น คนไข้โทรฯ หาพยาบาลยังไม่ได้อาหาร แต่อาหารไปอยู่อีกบ้าน เราต้องสั่งใหม่ บางกรณีคนไข้อาเจียน คอลคุยกับหมอ คนไข้อาเจียนออกมาเป็นน้ำหรืออาหาร ยาแก้อาเจียนก็ต้องสั่งต่างกัน ประสานมาที่ศูนย์ ยาบางตัวไม่มีเราต้องวิ่งซื้อยาแล้วให้ไรเดอร์ส่งต่อทันที เที่ยงคืนแล้วบางทียังต้องวิ่งส่งยา หรือการส่งแอนติเจนเทสต์ สอนวิธีใช้ผ่านโทรศัพท์ ” ผู้อยู่เบื้องโลจิสติกส์ระบบรักษาตัวอยู่ที่บ้านเล่าถึงปัญหาที่ต้องเจอ

ธัญสุตา เล่าอีกว่า ในแต่ละวันมีค่าใช้จ่ายไรเดอร์ส่งอาหารคือโลจิสติกส์ค่าไรเดอร์ที่ทาง IHRI เฉลี่ยวันละ 15,000 บาท เราต้องใช้เงินสดสำรองจ่ายไปก่อน นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยที่เป็นแรงงานต่างด้าวไม่มีเตียงแจ้งเรามาเราต้องประสานเรื่องเตียง หรือคนป่วยได้เตียงแล้วแต่ไม่มีรถไปรับ ต้องจ้างรถพยาบาลไปรับเพื่อส่งอีก ทางทีมมีหมอประจำอยู่ 2 ราย ที่จะใช้การรักษาแบบเทลเลเฮลท์ผ่านกล้องทางมือ และพยาบาลวิชาชีพที่จะติดตามอาการของผู้ป่วย หมอจะประเมินอาการและสั่งยา ถ้าอาการหนักจนเข้าสู่สีเหลือง สีแดง จะต้องประสานหาเตียง ในแต่ละวันทางทีมพยาบาลที่มีอยู่ 10 คน จะกรอกระบบข้อมูลในกูเกิลฟอร์ม ระบุยาอุปกรณ์ อาหารที่จะส่งไปที่บ้านคนไข้ ทีมอาสาสมัครจะต้องจัดถุงยาระบุที่อยู่ ขณะที่อีกทีมต้องสั่งอาหารในแพลตฟอร์ม รูปแบบการทำงานเป็นลักษณะนี้

สำหรับยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ ทางศูนย์มีสต๊อกไว้แล้ว ทั้งผู้บริจาคมาให้ และตัวไหนขาดสต๊อกจะรีบสั่งซื้อทันที เช่น ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว เวลานี้เกิดปัญหาว่าราคาสูง เดิมเคยซื้อไปประมาณ 200 บางร้านปรับราคาขึ้นเป็นพัน ตอนนี้อุปกรณ์ที่สั่งกับร้านยาต้องขอให้จ่ายเงินสดจะมั่นใจว่าได้ของ ขณะที่ฟ้าทะลายโจรเรามีสต๊อกอยู่ 5 ลัง มีผู้บริจาคมา ผู้ป่วย 1 คนเราจะให้ 1 กระปุก (100 เม็ด) เราพยายามขอบริจาคสำหรับคนที่มีเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ปรอท

สมบูรณ์ เป่าสง่า วัย 50 ปี วิน จยย.ย่านจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่รับงานส่งยาให้ผู้ป่วยโควิด ของ IHRI เล่าว่า ในแต่ละวันจะมีการแบ่งงานกับเพื่อนในทีม 5 รอบ แบ่งเป็นสาย เช่น ไปมีนบุรี ท่าข้าม ซึ่งละเที่ยวจะมีถุงยา 40-50 ถุง ออกเดินทางตั้งแต่ 8 โมงเช้า กว่าจะส่งเสร็จประมาณ 1 ทุ่ม เคยไปไกลสุดวิ่งไปบางกระดี่เกือบถึงสมุทรสาคร ช่วงที่เกิดระบาดในพื้นที่สลัมคลองเตย ญาติผู้ป่วยเขาจะแจ้งเราให้หาเตียงให้บ่อยมาก  

พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร นายกสมาคมแพทย์เวชปฎิบัติทั่วไป เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย ย้ำว่าจริงๆแล้วผู้ป่วยโควิด 100 คน คิดเป็นผู้ป่วยสีเหลืองหรือสีแดงเพียง 20-30%ที่เหลือ 70% ดูแลตัวเองได้ ซึ่งเครือข่ายทีมแพทย์ จะประเมินอาการ

ทั้งนี้ ระบบ Home Isolation สปสช.จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยสนับสนุนค่าอาหารวันละ 1,000 บาท และค่าอุปกรณ์วัดอุณหภูมิวัดระดับออกซิเจนไม่เกิน 1,100บาทต่อราย รวมทั้งค่าบริหารจัดการอื่น ค่ารถ ค่าเอกซเรย์ ค่า swab และค่าตรวจ RT-PCR ตามหลักเกณฑ์

ดร.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่าถ้ารู้ว่าติดเชื้อแล้วให้โทร. 1330 กด 14 เพื่อลงทะเบียน รายชื่อเหล่านี้จะส่งไปที่คลินิกชุมชนของครอบครัวอบอุ่นของ สปสช. รวมทั้งเครือข่าย รพ.จะเข้าไปดูแล 14 วันและจะพิจารณาจ่ายยา ฟาวิพิราเวียร์ เพื่อป้องกันเชื้อลงปอด

Home Isolation สู้โควิด ต้องอาศัยการประสานงานจากทุกภาคส่วน ในยุคที่ไรเดอร์คืออาชีพแห่งอนาคต จำเป็นเข้ามาเสริมกลไกระบบการดูแลรักษาตัวอยู่ที่บ้าน

     

————————————–
คอลัมน์ มุมคนเมือง
โดย ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง