สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ว่าคณะตุลาการศาลฎีกาสหรัฐมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เสียง กลับคำวินิจฉัยคดี “โรกับเวด” (Roe v. Wade) ฉบับปี 2516 ซึ่งเป็นการคุ้มครองสิทธิการยุติตั้งครรภ์ของผู้หญิงในประเทศในระดับเดียวกัน แต่มีเงื่อนไข คือถึงจุดที่ทารกสามารถมีชีวิตรอด และเติบโตได้นอกมดลูก ซึ่งโดยทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 28 สัปดาห์ หลังการปฏิสนธิ


ขณะเดียวกัน คณะตุลาการศาลสูงสุดของสหรัฐมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง พิพากษายืนกฎหมายต่อต้านการทำแท้งของรัฐมิสซิสซิปปี ซึ่งกำหนดห้ามทำแท้ง หลังตั้งครรภ์ได้ 15 สัปดาห์

ประชาชนชุมนุมหน้าศาลฎีกาสหรัฐ ในกรุงวอชิงตัน หลังคณะตุลาการสูงสุดของประเทศมีมติ ยุติความคุ้มครองสิทธิในการทำแท้งที่ใช้มานานครึ่งศตวรรษ แล้วให้แต่ละรัฐกลับมาออกกฎหมายควบคุมการทำแท้งได้เอง


มติดังกล่าวของศาลฎีกาสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันครองเสียงข้างมากโดยคณะผู้พิพากษาสายอนุรักษนิยม หมายความว่า นับจากนี้ แต่ละรัฐของเมริกาสามารถกำหนดกฎหมายและข้อจำกัดเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ได้เอง


ปัจจุบัน มี 26 รัฐ ส่วนใหญ่อยู่ทางใต้และในภูมิภาคมิดเวสต์ หรือทางตะวันตกตอนกลางของสหรัฐ และบริหารโดยผู้ว่าการรัฐจากพรรครีพับลิกัน มีจุดยืนชัดเจนว่า พร้มออกกฎหมายห้ามทำแท้ง เมื่อใดก็ตามที่ศาลฎีกาของประเทศพลิกคำตัดสินคดีโรกับเวด จึงมีความเป็นไปได้มากว่า ผู้หญิงในรัฐกลุ่มนี้ซึ่งประสงค์ทำแท้ง แม้ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ ต้องเดินทางข้ามไปยังรัฐอื่น ที่สิทธิดังกล่าวยังคงได้รับความคุ้มครอง


ด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประณามมติของศาลฎีกาสหรัฐว่า “รุนแรงและจะนำบ้านเมืองไปสู่เส้นทางอันตราย” และเรียกร้องสภาคองเกรสร่วมกันบัญญัติกฎหมาย ปกป้องสิทธิการทำแท้ง

นอกจากนี้ ผู้นำสหรัฐกล่าวถึงการเตรียมผลักดันให้หญิงในประเทศสามารถเข้าถึงยาคุมกำเนิด และยาซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการทำแท้ง ที่อนุมัติโดยคณะกรรมการอาหารและยา (เอฟดีเอ) พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือ หากเกิดกรณีไม่สามารถเดินทางข้ามรัฐเพื่อไปทำแท้งได้.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES, REUTERS