วันนี้ (25 มิ.ย.) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวในรายการคุยเรื่องบ้าน คุยเรื่องเมือง คุยทุกเรื่องกับรัฐมนตรีทาง เรดิโอ ไทยแลนด์ FM 92.5 MHz ว่า พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือ พีดีพีเอ ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. เป็นกฎหมายที่ใช้คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนในการไปใช้บริการต่างๆ เช่น ซื้อของออนไลน์ เปิดบัญชีธนาคาร หรือติดต่อกับธุรกิจต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดการนำข้อมูลไปใช้โดยที่เจ้าจองข้อมูลไม่ยินยอม หรือนำข้อมูลไปขาย ซึ่งเป็นกฎหมายที่สอดคล้องกับสากล เพราะทุกวันนี้คนไทยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการใช้อินเทอร์เน็ต หรือใช้โมบายแบงก์กิ้ง ที่ติดอันดับต้นๆ ของโลก หลังจากที่รัฐบาลได้วางโครงสร้างพื้นฐานแลออกกฎหมายที่ทันสมัย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลประเทศ

“หลังการประกาศใช้จะเห็นได้ว่าการโทรฯ มาขายสินค้าและบริการเช่น ประกัน จะน้อยลง เพราะหากเจ้าข้อมูลไม่ได้ให้ความยินยอมไว้ ไม่สามารถทำได้ เพราะถือว่าผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตามสำหรับประเด็น เรื่องของการโพสต์รูปถ่ายภาพหรือว่าการแชร์คลิปต่างๆ ในครอบครัว การติดกล้องวงจรปิด ยังทำได้ตามปกติ หาก ไม่ไปทำให้ผู้อื่นเสียหาย เช่น ร้านอาหารหากมีดารามาทานข้าวแล้วไปถ่ายรูปเขาโพสต์โดยหวังผลในทางพาณิชย์ โดยที่ไม่ขออนุญาตก่อน ก็ทำไม่ได้ ถือว่าผิด แต่กรณีไปเที่ยว ถ่ายรูปวิวแล้วติดบุคคลอื่นโดยไม่ตั้งใจ คงไม่มีความผิดอะไร กฎหมายจะดูที่เจตนามากกว่า”

สำหรับหากมีกรณีที่มีการนำวิดีโอของบุคคลมีชื่อเสียงไปตัดต่อเป็นคลิปถามตอบไปมานั้น ถ้าคนในคลิปร้องเรียนว่าการตัดต่อทำให้เจ้าตัวเสียหาย ผู้ถูกกระทำก็สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้ หรือจะแจ้งความทางออนไลน์ก็ได้ แต่จะเข้าข่ายกฎหมายหมิ่นประมาท ไม่เข้าข่าย พีดีพีเอ ส่วนที่ประชาชนถามเรื่อง หากตำรวจมีการตั้งด่านตรวจ ประชาชนสามารถถ่ายคลิปการทำงานของตำรวจได้หรือไม่ ซึ่งโดยหลักการแล้วหากถ่ายไว้เป็นหลักฐานไม่ได้ไปเผยแพร่ก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่เมื่อมีหลักฐานเจ้าหน้าที่กระทำผิด ประพฤติมิชอบ ควรจะนำไปร้องทุกข์กล่าวโทษแจ้งความจะดีกว่าการนำมาโพสต์ เพราะหากมีผู้เสียหายเขาอาจจะฟ้องร้องคนโพสต์ได้

ส่วนการถ่ายคลิปเรื่องชู้สาว จะเข้าข่ายพีดีพีเอ หรือไม่นั้น ความจริงพีดีพีเอจะเกี่ยวข้องกับการใช้ข้อมูลทำธุรกรรมกับธุรกิจมากกว่า การไปสืบค้น น่าจะเข้าข่ายกฎหมายอื่นมากกว่าที่ใช้กำกับดูแล ซึ่งการสืบถ่ายวิดีโอเรื่องชู้สาวน่าจะนำไปใช้ฟ้องร้องกับทางศาลเรื่องหย่ามากกว่า หรือเรียกค่าเสียหาย แต่หากนำไปโพสต์แชร์แล้วเกิดเสียหายก็เข้าข่ายเรื่องหมิ่นประมาท เป็นโทษทางกฎหมายอาญา สุดท้ายแล้วเรื่องการโพสต์ การแชร์อยู่ที่เจตนา ถ้าไม่ได้ทำให้ใครเสียหายก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าทำแล้วมีผู้เสียหาย เขาก็มีสิทธิที่จะฟ้องร้องเราได้ เป็นกฎหมายที่มีดั้งเดิม ไม่เข้าข่ายกฎหมายพีดีพีเอ

นายชัยวุฒิ กล่าวต่อว่า ในส่วนข้อกังวลของภาคธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมถึงบทลงโทษ เกี่ยวกับพีดีพีเอนั้น ก็ได้มีการออก ก.ม.ลูก มาเพื่อผ่อนปรนให้เอสเอ็มอี ไม่ต้องจดรายการบันทึกข้อมูล เพื่อไม่ให้เป็นภาระมากเกินไป แต่ยังต้องเก็บรักษาข้อมูลให้ได้มาตรฐานและไม่รั่วไหล ไม่ให้มีการนำข้อมูลไปขาย ส่วนกรณีเกิดการทำผิดมีการร้องเรียน ก็จะเน้นการไกล่เกลี่ย ตักเตือน การลงโทษจะจากเบาไปหาหนัก ในอนาคตก็จะดูอีกครั้งหากเทคโนโลยีก้าวหน้า ผู้ประกอบการปรับตัวพร้อมแล้ว ก็อาจมีการยกเลิกผ่อนปรนในอนาคต

นายชัยวุฒิ ยังได้กล่าวถึงเรื่องแก็งคอลเซ็นเตอร์ว่า แก็งคอลเซ็นเตอร์ที่ทำผิดกฎหมายจะไปตั้งสำนักงานอยู่ต่างประเทศ รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาตลอดโดยร่วมมือกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ และประเทศเพื่อนบ้าน มีการเซ็นเอ็มโอยู เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล และติดตามคนร้ายมาดำเนินคดี สิ่งสำคัญ คือ ให้ความรู้สร้างภูมิต้านทานให้ทุกคนในครอบครัว เพราะยังไงก็ปิดไม่ได้ 100% ปิดตรงนี้ไปเขาก็เปิดช่องทางใหม่ จึงต้องสร้างความรู้และตระหนักให้ประชาชนรู้เท่าทัน โดยเฉพาะผู้อายุหากคนที่ติดต่อเรามาทางโลกออนไลน์ เราอย่าไปเชื่อ ก็จะไม่โดนหลอก การโอนเงิน ให้ใครดูบัญชีดูชื่อแล้วก็ตรวจสอบให้ดีว่าตรงกับเจ้าตัวหรือเปล่า เพราะมีพวกรับจ้างเปิดบัญชี หรือที่เรียกว่าบัญชีม้า อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มี พ.ร.บ.พีดีพีเอแล้ว ก็จะช่วยให้เรื่องข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลลดน้อยลง ก็จะช่วยไม่ให้ข้อมูลหลุดไปยังแก็งคอลเซ็นเตอร์ได้

สำหรับในเรื่องการลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี บิตคอยน์ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็มีคนไทยเข้าไปลงทุนเยอะ รัฐบาล ก็มีกฎหมายที่กำหนดให้มีการให้ใบอนุญาตกับบริษัทไทยในการทำตลาดในการเทรด ดูแลโดย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เพื่อให้ประชาชนไม่ถูกหลอก แต่ระยะหลังตอนนี้ ราคาคริปโทเคอร์เรนซีตก ด้วยภาวะเศรฐกิจโลก การลงทุนต้องระวัง เพราะมีความเสี่ยง จึงต้องศีกษาให้ดีก่อน นอกจากนี้ทางกระทรวงฯ ก็จะเข้าไปดูแลเรื่องความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดการแฮก หรือโจมตีไซเบอร์ ซึ่งก็มีหน่วยงานในสังกัดที่ตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ

สุดท้ายแล้วอยากฝากถึงพี่น้องประชาชนให้มีความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อยากผลักดันประเทศให้เศรษฐกิจ เติบโตด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ทันสมัย หรือที่เรียกว่า ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งวันนี้ประเทศก็เดินมาไกลมาก มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มีกฎหมายดิจิทัลที่ทันสมัย ซึ่งตอนนี้คนไทยต้องมีความพร้อมที่จะเติบโตไปกับเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ อยากให้เรียนรู้ด้านดิจิทัลมากขึ้น เพราะเป็นงานที่มีความต้องการสูงและรายได้ดี รวมทั้งบริษัทต่างๆ ต้องมีการดิจิทัล ทรานฟอร์เมชั่น เอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ปรับตัวให้ทันโลกเพื่อให้สามารถทำธุรกิจได้อย่างเข็มแข็งด้วย.