ติดใจในอรรถรสอร่อยของ “วาราบิ โมจิ” ขนมญี่ปุ่น ลักษณะเป็นวุ้นใสคล้ายเยลลี่ แต่ไม่อยากบริโภคคาร์บมากเกินไป พญ.ณัฐฐามณี สิริภคพันธ์ ผู้บุกเบิกการทำตาสองชั้นโดยจักษุแพทย์ แห่ง เลิฟลี่ อาย แอนด์ สกิน คลินิก โครงการพาร์คเลน เอกมัย และท็อปสเปนเดอร์ของศูนย์การค้าสยามพารากอน จึงดัดแปลงสูตรเปลี่ยนมาใช้ “ว่านหางจระเข้” มากสรรพคุณมีกากใยช่วยระบบขับถ่าย สมานแผลในกระเพาะอาหาร หากยังคงความหนึบหนับ รสอร่อย ไม่ผิดเพี้ยนจากต้นตำรับ

“ส่วนตัวชอบกินวุ้น ขณะเดียวกันก็ชอบขนมโมจิ จึงนำสิ่งที่ชอบทั้งสองอย่างมาเจอกัน” คุณหมอรวงข้าวเผยถึงที่มา ขณะกำลังขะมักเขม้นเตรียมวัตถุดิบอย่างพิถีพิถัน ซึ่งประกอบด้วย ว่านหางจระเข้ชิ้นโต, งาดำ, น้ำตาลทราย, แป้งมันสำปะหลัง, ผงถั่วเหลือง, เกลือ, น้ำกลิ่นใบเตย, ผงขมิ้น และ น้ำเชื่อม

สำหรับ “ว่านหางจระเข้” หากใครสนใจอยากทำบ้าง แต่ไม่ได้ปลูกไว้ติดบ้าน ก็สามารถซื้อหาได้ตามช่องทางโซเชียล และยังสะดวกเพราะทางผู้จำหน่ายจะปอกเปลือกและล้างเมืองออกเหลือแค่วุ้นใสๆ อย่างไรก็ตามเพื่อสุขภาพและอนามัยที่ดี คุณหมอรวงข้าวจะนำว่านหางจระเข้มาหั่นเต๋า ล้างเมือกออกอีกครั้งด้วยแป้งมันสำปะหลัง แช่น้ำปูนใส 30 นาที เพิ่มความกรอบ ระหว่างจับเวลาหันมาคั่วงาดำ ใส่เกลือเล็กน้อยเพิ่มรสชาติ แนะนำให้ล้างงาดำก่อน และอย่าเผลอใส่เกลือขณะที่งาดำยังเปียก เพราจะอมรสเค็มไว้ หลังจากงาดำเย็นแล้ว นำไปบดและใช้ตะแกรงร่อนอีกครั้ง

เมื่อครบกำหนดเวลา นำว่านหางจระเข้ล้างน้ำ จากนั้นต้มกับน้ำ น้ำเชื่อม น้ำกลิ่นใบเตย เกลือ เสร็จแล้วนำมาผึ่งให้แห้ง แล้วนำมาคลุกกับ “งาดำคั่วบด” และ “ผงถั่วคินาโกะโฮมเมด” ทั้งนี้ วาราบิ โมจิ สูตรของคุณหมอรวงข้าวจะราดน้ำคุโรมิตซึที่คิดค้นสูตรขึ้นมาเอง โดยใช้น้ำเชื่อมผสมกับผงขมิ้น คนให้เข้ากันจนเนื้อเนียน สรรพคุณของผงขมิ้นยังช่วยลดการอักเสบในร่างกาย

ในส่วนของ ผงถั่วคินาโกะโฮมเมด คุณหมอรวงข้าวขอลงมือทำเอง โดยนำเมล็ดถั่วเหลืองแช่น้ำทิ้งไว้ 2 ชั่วโมง คัดเมล็ดที่สกปรกหรือมีเชื้อราออก ลอกเปลือก ล้างความสะอาด แล้วนำมาอบโดยใช้ไฟอุณหภูมิ 130 องศาเซลเซียส ประมาณ 2 ชั่วโมง จะได้ถั่วกรุบกรอบ บดให้ละเอียดและใช้ตะแกรงร่อน

วาราบิ โมจิ จากว่านหางจระเข้สูตรสุขภาพ ไม่เน้นรสหวาน สามารถเสิร์ฟคู่กับ “มัทฉะลาเต้” เครื่องดื่มสูตรเย็นเพิ่มความสดชื่น หรือ “บีทรูทลาเต้” แก้วอุ่นสบายท้อง ซึ่งคุณหมอรวงข้าวเพิ่งร่ำเรียนศิลปะการชงชาและลาเต้อาร์ตมารังสรรค์เมนูเครื่องดื่มสุขภาพด้วยตัวเอง โดยเน้นใช้นมทางเลือกอย่างนมข้าวโอ๊ตและนมถั่วเหลือง

แก้วแรกเอาใจคนชอบ “มัทฉะลาเต้” วิธีชง นำผงชามัทฉะ 4 กรัม ผสมกับน้ำร้อนอุณหภูมิ 180 องศาเซลเซียส  คนจนผงชาละลาย ส่วนนมข้าวโอ๊ต 100 มล. ผสมกับน้ำเชื่อม 10 มล. เทลงแก้วที่มีน้ำแข็ง ตามด้วยชามัทฉะ เท่านี้ก็จะได้เครื่องดื่มเย็นมอบความสดชื่น หรือคนชอบแก้วอุ่น คุณหมอรวงข้าวลงมือทำ “บีทรูทลาเต้” ด้วยการต้มน้ำบีทรูท อุ่นให้ร้อนเทใส่ถ้วย 30 มล. นำนมถั่วเหลืองมาสตรีม เทใส่ถ้วยด้วยเทคนิคลาเต้อาร์ต แก้วนี้จะได้ความหอมของกลิ่นบีทรูท หากมีความกลมกล่อมยามลิ้นสัมผัส

ด้านไลฟ์สไตล์การทำอาหาร ในฐานะของคุณแม่ลูกแฝด คุณหมอรวงข้าว เล่าว่า ตั้งแต่มีลูกอยากทำขนมเบเกอรี่ เค้ก เพิ่มพลังงานให้กับเด็กวัยซน ขณะที่ส่วนตัวถ้าทำเองจะเน้นเพื่อสุขภาพ ดูสวยงามมีศิลปะ หมอชอบทำเมนูที่ชอบกิน จะได้ไม่ต้องซื้อหา นอกจากนี้สามารถเลือกใช้วัตถุดิบ แถมยังได้รสชาติแบบที่ต้องการ บางทีเอาถั่วแดงมาต้มทำเป็นสมูทตี้ ผสมกับเนื้อบีทรูทและเบอร์รี่ ปกติหมอดื่มกาแฟ สายคาเฟ่ ฮอปเปอร์ เห็นว่าการชงลาเต้เป็นศิลปะ น่าสนุก เมื่อเร็ว ๆ นี้ เพิ่งลงคอร์สเรียน แล้วซื้อเครื่องชงกาฟ เครื่องสตีมนม มาฝึกทำที่บ้าน

“หมอดื่มนมวัวแล้ว ท้องอืด ไม่ค่อยสบายท้อง จึงลองนมถั่วเหลือง นมถั่วอื่น ๆ มาชงแทน อยากจะลองดูว่านมชนิดใด ทำแล้วอร่อย เป็นความสนุก ความชอบ” คุณหมอรวงข้าว กล่าวทิ้งท้าย.

                                                                                                                        ‘ช้องมาศ’