เมื่อวันที่ 2 ก.ค. ที่บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) นายธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการบริหารเคทีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหาร (บอร์ดเคที) เรื่องสัญญาและข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยบอร์ดเคที ได้เชิญ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. ในฐานะที่กทม.เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ พร้อมนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม. นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม. นางเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม.เข้าร่วมรับฟังรายงานผลการประชุมครั้งนี้ด้วย

โดย นายธงทอง เปิดเผยว่า ภายหลังบอร์ดเคทีประชุมเสร็จแล้ว ได้เชิญนายชัชชาติเข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ เคที ได้มีการประชุม1-3 ครั้ง ได้ข้อสรุปว่าสัญญาที่เคที ทำกับ บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) (บีทีเอสซี) ในเรื่องการจ้างเดินรถส่วนต่อขยาย 1 ช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่-บางหว้าและช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ รวมทั้งรายละเอียดค่าใช้จ่ายค่าจ้างเดินรถ ขณะเดียวกันสัญญาการจ้างเดินรถ ปัจจุบันยังมีการร้องเรียนอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งเป็นอำนาจของป.ป.ช. ที่จะต้องดำเนินการ ส่วน เคที จะทำหนังสือถึงป.ป.ช. ในการให้ความร่วมมือ และขอรับทราบข้อมูลขั้นตอนการพิจารณาของป.ป.ช. ด้วย

นายธงทอง กล่าวต่อว่า ในส่วนต่อขยายที่ 2 จะมีการทบทวนเปรียบเทียบความแตกต่าง ที่มาของสัญญา ซึ่งมีความแตกต่างของส่วนต่อขยายที่ 1 ที่มีการอนุมัติจากสภากทม. แต่ส่วนต่อขยายที่ 2 ไม่มีการผ่านการพิจารณาของสภากทม. ซึ่งเป็นหน้าที่กทม. ที่จะต้องไปติดตามตรวจสอบจากสภากทม.อีกครั้ง นอกจากนี้ ที่ประชุมบอร์ดเคที ได้เห็นชอบให้เคที เจรจากับบีทีเอสซี เรื่องค่าใช้จ่ายค่าจ้างเดินรถ และสูตรการคำนวนค่าจ้างเดินรถ ว่าคลาดเคลื่อนหรือไม่ ซึ่งต้องดูตัวแปรอื่น ๆ ด้วย เพราะในสัญญาเปิดช่องให้เคทีกับบีทีเอสซี สามารถเจรจากันได้ คาดว่าจะเจรจากันภายในเดือนก.ค.นี้ ส่วนการเปิดเผยตัวสัญญาที่ระบุไว้ว่าไม่สามารถเปิดเผยได้นั้น เนื่องจาก กทม. เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ น่าจะเปิดเผยกับกทม. ได้ ส่วนกทม.จะปฏิบัติอย่างไร ก็เป็นภารกิจของกทม.

ด้านนายชัชชาติ กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีเขียว มี 4 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย 1. กทม. 2. บีทีเอสซี 3. เคที และ 4. สภากทม. โดย กทม.ยืนยันว่าจะจ่ายหนี้ทั้งหมด ทั้งในส่วนการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่เป็นค่าก่อสร้างโครงสร้าง พร้อมดอกเบี้ย และในส่วนของบีทีเอสซี ที่เป็นค่าจ้างเดินรถ รวมแสนล้าน บาท แต่กทม. ต้องพิจารณาว่าการรับโอนหนี้นั้น ทำถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ขณะเดียวกันในการประชุมสภา กทม. ที่จะมีขึ้นในวันที่ 6 ก.ค.นี้ จะมีการตั้งกระทู้สดติดตามว่ามีรายงานการประชุมที่อนุมัติรับโอนหนี้ดังกล่าวหรือไม่

ส่วนการเปิดเผยสัญญาจ้างเดินรถ ระหว่างเคทีกับบีทีเอสซี ที่ระบุว่าห้ามเปิดเผยนั้น นายชัชชาติกล่าวว่า อยากให้เปิดเผยหากกฎหมายอนุญาต จะกลัวอะไรเพราะเอาเงินประชาชนมาจ่าย ก็งงว่าทำไมไม่ให้เปิดเผย ถือเป็นเรื่องแปลก แต่การจะเปิดเผยได้นั้น จะต้องใช้ข้อกฎหมายมาบังคับ ซึ่ง กทม. อาจจะพิจารณาใช้พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร โดยประเด็นที่อยากให้เปิดเผยหลักๆ คือ เรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินรถเท่าไหร่ อย่างน้อยได้รู้ว่าสิ่งที่ ประชาชนจ่าย มาเป็นค่าอะไรบ้าง สำหรับค่าโดยสารสายสีเขียวส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 คาดว่าจะเริ่มเก็บค่าโดยสารในเดือนส.ค.นี้ โดยขณะนี้สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) อยู่ระหว่างวิเคราะห์อัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม

รายงานข่าวแจ้งว่า ปัจจุบันที่ประชุมป.ป.ช. ได้มีตั้งแต่งตั้งองค์คณะชุดใหญ่ ไต่สวนฯ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าฯกทม. กับพวก กรณีว่าจ้าง บีทีเอสซี เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ไปจนถึงปี 2585 ซึ่งเป็นการหลีกเลี่ยงและไม่ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 และพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และเอื้อประโยชน์ให้แก่บีทีเอสซีเพียงรายเดียว

ทั้งนี้ก่อนหน้าที่ประชุม ป.ป.ช. จะมีมติแต่งตั้งองค์คณะไต่สวนฯชุดใหญ่นั้น ได้ไต่สวนฯ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กับพวก รวม 4 ราย โดยมีข้อกล่าวหาว่ากระทำทุจริตในการทำสัญญาการให้บริการเดินรถ และซ่อมบำรุงโครงการขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ระหว่างเคทีกับบีทีเอสซี เมื่อวันที่ 8 พ.ค.55 ในวงเงินกว่า 190,000 ล้านบาท เพื่อเป็นการจ้างเดินรถไฟฟ้า 3 เส้นทาง ประกอบด้วย

1.ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท (สถานีอ่อนนุช-แบริ่ง) 2. สายสีลม (สถานีสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่) 3.ว่าจ้างเดินรถไฟฟ้าในเส้นทางสถานีหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ซึ่งจะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572 ออกไปอีก 13 ปี โดยให้สัญญาว่าจ้าง BTSC เดินรถทั้ง 3 เส้นทางดังกล่าว ไปสิ้นสุดพร้อมกันในปี 2585 อย่างไรก็ตาม การทำสัญญาดังกล่าว ซึ่งเป็นสัญญาสัมปทานที่ให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐเกินกว่า 1,000 ล้านบาท ได้หลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535

อีกทั้งการให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เข้าทำสัญญากับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) เป็นการไม่ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และเอื้อประโยชน์ให้แก่ BTSC เพียงรายเดียว.