สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ว่านายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน แถลงเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ยืนยันไม่ลาออกจากตำแหน่งผู้นำรัฐบาลสหราชอาณาจักร โดยให้เหตุผลเกี่ยวกับ “ความชอบธรรม” จากการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อปลายปี 2562 ที่ตัวเขาสร้างประวัติศาสตร์ นำพรรคอนุรักษนิยมชนะการเลือกตั้ง ด้วยคะแนนเสียงสนับสนุนถล่มทลายมากที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ และครองเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดพรรคเดียวในสภาสามัญ


จอห์นสันกล่าวด้วยว่า ท่ามกลางวิกฤติทั้งภายในและภายนอก ทั้งปัญหาเศรษฐกิจและสงครามในยูเครน “สหราชอาณาจักรไม่ควรเปลี่ยนม้ากลางศึก” อย่างไรก็ตาม จอห์นสันปฏิเสธตอบคำถามว่า จะยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปหรือไม่ หากคณะกรรมการบริหารพรรคอนุรักษนิยมเปลี่ยนกฎ ให้มีการกลับมาลงมติไว้วางใจหัวหน้าพรรคได้ซ้ำ โดยไม่ต้องทิ้งช่วง 1 ปี ตามระเบียบปัจจุบัน

ประชาชนชุมนุมใกล้กับอาคารรัฐสภา ในเขตเวสต์มินสเตอร์ของกรุงลอนดอน เรียกร้องนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ลาออก


ขณะเดียวกัน ผู้นำสหราชอาณาจักรกล่าวถึง “การยืนหยัดต่อสู้” กับ “ทุกความพยายาม” เพื่อล้มเขาลงจากอำนาจ ที่ตอนนี้มีรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ระดับรองในรัฐบาลลาออก รวมกันแล้วมากกว่า 40 คน ด้วยเหตุผลเดียวกันว่า ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่อยู่ในรัฐบาล ที่เผชิญกับเรื่องอื้อฉาวมากมาย และไม่สามารถเรียกคืนความเชื่อมั่นจากทุกฝ่ายได้ โดยผู้ที่ลาออก รวมถึงนายริชิ ซูนัก รมว.คลัง นายซาจิด จาวิด รมว.สาธารณสุข และนายไซมอน ฮาร์ต รัฐมนตรีประจำเวลส์ ส่วนนางซูเอลลา บราเวอร์แมน อัยการสูงสุด ร่วมเรียกร้องให้จอห์นสัน ลาออกเช่นกัน


ทั้งนี้ ที่ประชุมสมาชิกสภาสามัญพรรคอนุรักษนิยม มีมติเสียงข้างมาก 211 เสียง เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ยังคงให้ความไว้วางใจจอห์นสัน แต่มีสมาชิก 148 คน ไม่สนับสนุน ถือว่ามีสัดส่วนสูงเกือบครึ่ง จึงมีการวิเคราะห์ว่า คือการยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้กับจอห์นสันมากกว่า ว่าจะสามารถประสานความร้าวฉาน และลดความระส่ำระสายอย่างหนักภายในพรรค จนกว่าจะถึงการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ ในปี 2568 หรือไม่


ด้านเซอร์เคียร์ สตาร์เมอร์ ผู้นำฝ่ายค้านจากพรรคแรงงาน กล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้น “บ่งชี้ชัดเจน” ว่ารัฐบาลชุดนี้ “ไม่รอดแล้ว” และผลสำรวจความคิดเห็นชาวสหราชอาณาจักรในรอบสัปดาห์ล่าสุด โดยศูนย์วิจัย “ยูกอฟ” ปรากฏว่า 69% ของกลุ่มตัวอย่าง ต้องการให้จอห์นสันลาออก.

เครดิตภาพ : REUTERS