สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ว่าจากกรณีรัฐบาลญี่ปุ่นของนายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 แห่ง หรือ “จี 7” เห็นชอบเชิงหลักการร่วมกัน เมื่อเดือนที่แล้ว ในการกำหนด “กลไกควบคุม” เพื่อกดราคาน้ำมันของรัสเซียให้เหลือเพียงครึ่งเดียวของราคาปัจจุบัน
นายดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน ให้ความเห็นต่อเรื่องดังกล่าว ว่าญี่ปุ่นยังคงขับเคลื่อนนโยบายที่ไม่เป็นมิตรกับรัสเซีย การดำเนินการลักษณะนี้ไม่เคยช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะในทางการค้าหรือเศรษฐกิจ ตลอดจนการเจรจาเรื่องพลังงานด้วย
Kremlin slams Japan's 'unfriendly' stance amid G7 oil price cap talk https://t.co/lOWrIG6LfC pic.twitter.com/SYYwJYqrTP
— Reuters (@Reuters) July 6, 2022
ทั้งนี้ โฆษกทำเนียบเครมลิน กล่าวด้วยว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัสเซียหารือเป็นการภายในเกี่ยวกับท่าทีของคิชิดะ ซึ่งร่วมสนับสนุนแนวทางนี้ ที่แม้ยังไม่มีการประกาศรายละเอียดเพิ่มเติม แต่รัฐบาลมอสโกมองว่า “คิดกันออกมาได้อย่างไร”
ขณะที่ นายดมิทรี เมดเวเดฟ อดีตประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีของรัสเซีย ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวว่า หากจี7 ปล่อยมาตรการที่ว่านั้นออกมาจริง ราคาน้ำมันโลกอาจพุ่งทะยานไปที่ 300-400 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ( ราว 10,868.40-14,4910.20 บาท ) พร้อมทั้งเตือนอย่างเจาะจงไปที่ญี่ปุ่นว่า “ท้ายที่สุดแล้วจะไม่ได้ทั้งน้ำมันและก๊าซ” จากรัสเซีย ตลอดจนไม่มีส่วนร่วมอีกต่อไปกับโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติเหลว ( แอลเอ็นจี ) “ซาคาลิน-2”
The Group of Seven leaders promised new sanctions on Russia including a proposal to cap the price of Russian oil, and pledged to support Ukraine, as the first day of the G7 summit got underway in Germany’s Bavaria https://t.co/IR7XzjCzC4 pic.twitter.com/jlbzDUuvIh
— Reuters (@Reuters) June 27, 2022
อนึ่ง ซาคาลิน-2 เป็นหนึ่งในโครงการส่งแอลเอ็นจีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีการลงนามในข้อตกลงระยะยาว ว่า 60% ของแอลเอ็นจีที่ไหลผ่านเส้นทางนี้จะตรงไปที่ญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน จัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาดูแลโครงการนี้ เพิ่มแรงกดดันอย่างหนักให้กับมิตซุยและมิตซูบิชิ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ฝ่ายญี่ปุ่น.
เครดิตภาพ : REUTERS