เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 ว่าขณะนี้การระบาดโควิด-19 เข้าสู่ปีที่ 3 หลายประเทศไม่ได้มีการรายงานข้อมูลเป็นรายวันแล้ว บางประเทศรายงานบ้างไม่รายงานบ้าง บางประเทศรายงานเป็นศูนย์ อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อต่อวันยังสูง 482,377 ราย แต่อัตราการเสียชีวิตไม่ได้สูง การติดเชื้อมากอยู่ที่ยุโรป แต่ค่อนข้างทรงตัว และที่จับตาคือแถบเอเชีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย สิงคโปร์ รอบๆ เพื่อนบ้านเราแนวโน้มมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ผู้เสียชีวิตไม่ได้เพิ่มมากขึ้น

สำหรับสถานการณ์ประเทศไทยรายงานข้อมูลวันนี้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 17 ราย มีผู้ป่วยปอดอักเสบ 794 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 369 รายส่วนติดเชื้อรายใหม่เข้า รพ. 1,814 ราย ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อเข้าระบบผู้ป่วยนอกสัปดาห์ที่ผ่านมา 143,827 ราย ส่วนข้อมูลที่ประชาชนรายงาน ATK เข้ามาและการสอบสวนโรคเพิ่ม เหมือนจะมีการเพิ่มขึ้นเล็กน้อย การป่วยหนักเสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ใน กทม. และจังหวัดใหญ่ๆ แต่สิ่งที่ต้องจับตาคือหลังหยุดยาวเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรทั้งในต่างจังหวัด เพราะช่วงหยุดยาวมีการเดินทางกลับต่างจังหวัดเยอะ รวมถึงจับตาในโรงเรียนด้วย แต่ดูเหมือนแนวโน้มการป่วยหนักสถานการณ์จะไม่รุนแรงขึ้น

ดังนั้นผู้ที่เราให้ความสำคัญคือผู้ที่อาการหนักและเสียชีวิต ซึ่งในรอบโอมิครอนเกือบทั้งหมดเป็นกล่ม 608 คิดเป็น 98% บางคนไม่ได้รับวัคซีนเลย บางคนฉีดไม่ครบ ซึ่งระยะหลังพบว่ากลุ่ม 608 แม้ฉีด 3 เข็ม แล้วยังเสียชีวิต โดยเฉพาะหลังฉีดเข็ม 3 แล้ว 3-4 เดือน ดังนั้นอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแนะนำว่าการฉีดเข็มกระตุ้นเข็มต่อไป ควรห่างจากเข็มล่าสุดประมาณ 3-4 เดือน อีกกลุ่มหนึ่งสำคัญคือผู้ป่วยโรคไตซึ่งเป็นโรคเรื้อรังที่พบการเสียชีวิตมากสุด ถึง 36 ราย ในจำนวนผู้เสียชีวิต 152 ราย

“ขณะนี้การลดการเสียชีวิตในกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ สำคัญมากเพราะที่เสียชีวิตขณะนี้พบว่าเกือบ 100% เป็นกลุ่มนี้ จึงต้องมีการฉีดเข็มกระตุ้น ตามที่ สธ. ส่วนกลุ่มที่ฉีดวัคซีนไปแล้วภูมิต้านทานขึ้นไม่ดี ร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ ทาง ศบค.และ สธ.ได้จัดหาภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) มาให้ในกลุ่มป่วยโรคไตเรื้อรังที่ต้องฟอกไต ผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ จะเข้ามาลอตแรกสัปดาห์หน้า 7 พันชุด 1 ชุดมายา 2 ตัว ฉีดสะโพก 2 ข้าง อยู่ได้นาน 6 เดือน กลุ่มเป้าหมายคือผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป โดยให้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยรายนั้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นอายุรแพทย์ กุมารแพทย์ แพทย์เจ้าของไข้ โดยคำนึงถึงความเสมอภาคและความเป็นไปได้ ส่วนยาที่เหลือจะทยอยเข้ามาจนครบ 2.5 แสนชุด”

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า นอกจากนี้การลดการเสียชีวิตในกลุ่มเสี่ยง ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการเข้าถึงระบบการรักษา ขณะนี้ใน กทม. นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี สัดส่วนการครองเตียงผู้ป่วยหนักเริ่มตึงตัว เนื่องจากมีคนไข้เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะทาง รพ.ที่เคยกันไว้สำหรับโควิด ก็เอาไปใช้สำหรับดูแลผู้ป่วยทั่วไป อย่างไรก็ตามหากสถานการณ์ในการเพิ่มผู้ป่วยมากขึ้นก็จะขยับขยายเตียงเพิ่มได้ โดยในส่วนของต่างจังหวัดนั้น ปลัด สธ.ได้มีการสั่งการไปแล้ว และบ่ายวันนี้ (18 ก.ค) ปลัด สธ.ในฐานะ ผอ.ศปก.สธ. ได้เชิญ กทม.มาหารือในประเด็นการรักษาพยาบาลผู้ป่วยต่างๆ แล้ว

การเข้าถึงการรักษาของกลุ่มเสี่ยงเป็นประเด็นสำคัญที่จะช่วยลดการเสียชีวิตได้มากที่สุดในระยะต่อไป ขณะนี้กราฟผู้ป่วยอาการหนักที่เข้า รพ.ยังอยู่ในเส้นสีเขียว สำหรับผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจแนวโน้มยังสูงอยู่แต่เชื่อว่าสถานการณ์จะคลี่คลายและเบาลง สำหรับผู้เสียชีวิตก็ไต่ระดับยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป ดังนั้นมามาตรการที่จะดำเนินการต่อไปนั้นความร่วมมือของประชาชนสำคัญมากจึงขอความร่วมมือทำ 2U คือ Universal prevention สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ และ Universal Vaccinations คือฉีดวัคซีน ซึ่งขณะนี้เปิดทุกที่ไม่เว้นวันหยุด รวมถึง เทศบาล ตำบลได้จัดชุดฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุตามบ้านด้วย

โดยสายพันธุ์โอมิครอน BA.4 และ BA.5 อาการเด่นคือเจ็บคอ ระคายคอ มีน้ำมูก ปวดกล้ามเนื้อ ปวดตามตัว อาการเหมือนไข้หวัดเพราะฉะนั้นคนหนุ่มคนสาวแข็งแรง ฉีดวัคซีนมาแล้วอาการก็จะอยู่ประมาณนี้ อย่านิ่งนองใจโดยคิดว่าเป็นหวัด แต่หากมีอาการแล้วควรตรวจ ATK สำหรับบริษัทห้างร้านหากมีคนติดโควิด ถ้าอาการน้อยให้แยกกักตัวที่บ้านตามคำแนะนำแพทย์ 7 วันเป็นอย่างน้อย หลังจากนั้นหากสบายดีก็สามารถกลับมาทำงานได้ อย่างไรก็ตามช่วง 3 วันแรกขอให้งดเว้นการพบกับผู้อื่น ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา

เมื่อถามถึงกรณีมีรายงานผู้เสียชีวิตตามบ้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ กทม. จึงมีความจำเป็นที่เราจะต้องหารือกับเขา เพราะจะเป็นจุดที่มีปัญหา และต้องเห็นใจเพราะเป็นพื้นที่ที่มี รพ.เยอะ ทั้งเอกชน รพ.สังกัดมหาวิทยาลัย รพ.สังกัด กทม. และ รพ.ภาครัฐอื่นๆ ทั้งสังกัดตำรวจ ทหาร การบูรณาการจัดการหากไม่คุยกันให้จะมีปัญหาเรื่องการจัดการ ซึ่งต้องยอมรับว่า กทม.ไม่มีระบบการส่งต่อผู้ป่วย แตกต่างจาก รพ.ในสังกัด สธ. สามารถสั่งการเรื่องการส่งต่อได้ ดังนั้น กทม.จึงต้องหารือ โดย สธ.ต้องเป็นผู้ประสานให้มีการหารือกันเพื่อจัดระบบ ทั้งนี้เท่าที่ตามดูนั้นคนไข้ไปรพ.เอกชน แต่ละโรงไม่สามารถไปบอกว่าห้ามรับคนไข้ได้ แม้มีกฎหมายควบคุมอยู่ แต่กฎหมายไปตามทีหลัง ก็ไม่สะดวก เพราะฉะนั้นต้องมาคุยกันให้ชัดเจนว่าสมมุติไปรพ.แห่งหนึ่งแล้วไม่พร้อมรับ จะส่งต่อไปยังรพ.ไหนต่อ

ทางด้าน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรณีมีรายงานคนเสียชีวิตตามบ้านนั้น มีรายงานเข้ามาเรื่อยๆ ส่วนใหญ่เป็นผู้เสียชีวิตที่มีโรคโควิดร่วมด้วย (died with covid-19) มีทั้งที่ตรวจเจอโควิดอยู่ก่อน หรือมาตรวจเจอว่ามีโควิดร่วมด้วยในภายหลัง แต่สาเหตุที่เสียชีวิตจากโรคที่เป็นอยู่ก่อน ไม่ใช่เสียชีวิตจากโควิด เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะท้าย หรือผู้ป่วยที่อยู่ป่วยต้องรับการรักษาแบบประคับประคอง ให้ใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายกับครอบครัวมากกว่า ทั้งนี้กรณีครอบครัวที่ต้องดูแลก็ให้สวมหน้ากากอนามัย และฉีดวัคซีนซึ่งจะสามารถป้องกันได้ หลังจากนั้นก็เฝ้าระวังตัวเอง 7 วัน ส่วนกรณีที่เสียชีวิตจากโควิดจริงๆ (died from covid-19) นั้นมีเล็กน้อย