เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2565 เอเตียน ไคลน์ นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังชาวฝรั่งเศส โพสต์ภาพบนพื้นที่ทวิตเตอร์ของเขา เป็นภาพวงกลมสีแดงสดคล้ายห่อหุ้มด้วยรัศมีเรืองแสงบนพื้นหลังสีดำสนิท และกล่าวอ้างว่านั่นคือภาพล่าสุดที่ได้จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศ ‘เจมส์ เวบบ์’ โดยเป็นภาพถ่ายของดาวแคระแดง ‘พร็อกซิมา เซนทอรี’ ในกลุ่มดาวคนครึ่งม้า

ชาวทวิตเตอร์ที่เห็นภาพดังกล่าว ต่างตกตะลึงกับรายละเอียดที่ปรากฏในภาพที่ได้จากกล้อง ‘เจมส์ เวบบ์’ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ส่งภาพชุดของกำเนิดจักรวาลและกาแล็กซีต่าง ๆ กลับมายังโลก

แต่แล้ว ไคลน์ ก็กลับมาเฉลยในเวลาต่อมาว่า ภาพที่เขาเพิ่งโพสต์ไปนั้น ไม่ใช่ภาพของดาวแคระแดง ซึ่งอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ราว 4 ปีแสง แต่เป็นภาพตัดขวางของไส้กรอกแบบสเปน ที่เรียกว่าโชริโซ่ 

ไคลน์ โพสต์ข้อความเฉลยว่า “ตามหลักจักรวาลวิทยาร่วมสมัยแล้ว วัตถุประเภทเนื้อสัตว์แปรรูปแบบสเปน ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ในสถานที่อื่นใด นอกจากบนพื้นโลก”

กล่าวคือภาพที่เขาโพสต์นั้น เป็นมุกตลกที่อำกันเล่นนั่นเอง

ไคลน์ ซึ่งมีผู้ติดตามบนทวิตเตอร์มากกว่า 91,000 ราย แสดงความเห็นในเวลาต่อมาว่า มีชาวทวิตเตอร์จำนวนมากไม่เข้าใจมุกตลกของเขา ที่ต้องการกระตุ้นคนทั่วไปให้ระมัดระวังเวลาถกเถียงกับคนที่อยู่ในตำแหน่งสูงหรือมีอำนาจหน้าที่สูง รวมทั้งรู้จักระวังว่าภาพบางภาพก็มีพลังในการโน้มน้าวใจให้เชื่อตามที่เห็นได้ ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร

แต่ชาวทวิตเตอร์จำนวนหนึ่ง กลับมองว่าไม่ขำ เพราะสถานการณ์ปัจจุบันที่เต็มไปด้วยข่าวลวงต่าง ๆ ในแวดวงวิทยาศาสตร์ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ

เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ที่ผ่านมา ไคลน์ จึงออกมาขอโทษคนที่เขาทำให้เข้าใจผิดไป แต่ก็ยังยืนยันว่า โพสต์และภาพดังกล่าวเป็นแค่ ‘มุกตลกของนักวิทยาศาสตร์’

หลังจากนั้นไม่นาน เขาก็กลับมาโพสต์ภาพของ ‘ดาราจักรกงเกวียน’ ที่มีชื่อเสียง ซึ่งเป็นภาพจริงที่ได้จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศ ‘เจมส์ เวบบ์’ และคราวนี้ เขายืนยันว่าเป็นภาพถ่ายของจริง

แหล่งข่าว : cbsnews.com

เครดิตภาพ : Twitter / EtienneKlein