เมื่อวันที่ 21 ก.ค. เวลา 12.55 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระพิจารณาญัตติขอเปิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 โดย น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย กล่าวอภิปรายว่า แม้ตนเคยหยิบเรื่องกรณีบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ประเทศออสเตรเลีย ฟ้องประเทศไทย ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้คำสั่งตามมาตรา 44 สั่งปิดเหมืองทองของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) จ.พิจิตร มาอภิปรายในครั้งที่แล้ว แต่ครั้งนี้ตนมีเอกสารหลักฐานชิ้นใหม่นำมาเสนอ โดยหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ ออกคำสั่งตามมาตรา 44 สั่งปิดเหมืองดังกล่าวแล้ว บริษัท คิงส์เกตฯ ได้ขอเจรจาไกล่เกลี่ยกับประเทศไทย พร้อมระบุว่าถ้ายังไม่มีความคืบหน้า จะนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศภายใต้ความตกลงการค้าเสรี ไทย-ออสเตรเลีย (ทาฟตา)

แต่ปรากฏว่าคณะกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาทดังกล่าวเพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยกับบริษัทคิงส์เกตฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ข้อพิพาทดังกล่าวมาจากการออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 72/2559 ที่สั่งให้ระงับกิจการเหมืองแร่ทองคำ โดยที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับปัญหาเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จึงเข้าข่ายการละเมิดความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย ดังนั้นหน่วยงานเหล่านี้จึงมีความเห็นส่งถึงนายกรัฐมนตรีว่าควรมีเจรจากับบริษัท คิงส์เกตฯ เพื่อระงับข้อพิพาทให้ได้มากที่สุด เพราะถ้าบริษัทนี้นำเรื่องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ไทยมีโอกาสแพ้คดีสูง และมีโอกาสต้องจ่ายชดเชยค่าเสียหายเป็นจำนวนมาก แต่นายกฯ ไม่รับฟังความเห็นดังกล่าว และยังยืนยันว่าไม่สามารถเจรจากับบริษัทนี้ได้ ต่อมาบริษัท คิงส์เกตฯ ตัดสินใจฟ้องร้องประเทศไทยในวันที่ 2 พ.ย.60

น.ส.จิราพรกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังพบว่ามีบุคคลลึกลับ 2 คน ซึ่งคนแรกเป็นบุคคลระดับรองนายกฯที่มีความรู้ด้านกฎหมายเป็นอย่างดี และคนที่ 2 เคยเป็น รมว.อุตสาหกรรม และตอนนี้ไปเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ โดยทั้ง 2 คนนี้ไม่ได้อยู่รายชื่อคณะกรรมการระงับข้อพิพาทฯ แต่เป็นไอ้โม่งที่รับคำสั่งโดยตรงจาก พล.อ.ประยุทธ์ ไปนั่งหัวโต๊ะคอยชี้นำและสั่งการการทำงานของคณะกรรมการฯ ทำให้ไม่มีความเป็นอิสระในการดำเนินการเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ  

ทั้งนี้ตนยืนยันว่าถ้ามีการนำเรื่องขึ้นสู่ชั้นศาล ตนมีพยานบุคคลที่พร้อมให้การต่อศาล ซัดทอดไอ้โม่ง 2 คนนี้ ที่ทำให้คณะกรรมการชุดนี้ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของ พล.อ.ประยุทธ์  อย่างไรก็ตาม เมื่อบริษัท คิงส์เกตฯ นำเรื่องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการฯ แล้ว แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ละความพยายามช่วยระงับความเสียหายของประเทศ โดยเมื่อเดือน ม.ค.61 อสส.ได้ยกร่างเอกสารลับด่วนที่สุด ส่งถึงนายกฯ เรื่องแนวทางการแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างบริษัท คิงส์เกตฯ และพวก กับราชอาณาจักรไทย ซึ่งระบุความเห็นว่าผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา รวมถึงคณะทำงานต่างๆ จนถึงปัจจุบัน ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัคราฯ สร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ อีกทั้ง กระทรวงสาธารณสุขยังสรุปไม่ได้ว่าพบโลหะหนักและสารเคมีร้ายแรงที่เกิดจากการทำเหมืองดังกล่าว

นอกจากนี้ อสส.เสนอแนวทางแก้ปัญหาด้วยการคืนสิทธิ์ให้ผู้ประกอบการ (ให้เปิดเหมือง) โดยให้ พล.อ.ประยุทธ์ อาศัยอำนาจตามข้อ 8 ของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 72/2559 ที่ระบุว่าเมื่อแน่ชัดแล้วว่าไม่มีพฤติกรรมที่สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ให้นายกฯ หรือหน่วยงานของรัฐสามารถเสนอเรื่องต่อ คสช.ให้ออกคำสั่งตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ในการยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่72/2559 นี้ เพื่อคืนสิทธิและประโยชน์ต่างๆ ให้ผู้ประกอบการกลับสู่ฐานะเดิม และหยุดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น แต่พล.อ.ประยุทธ์ไม่ทำตามข้อเสนอนี้ จนเกิดปัญหาบานปลายจนยากที่จะแก้ไข และอาจต้องจ่ายค่าเสียหายเป็นเงินอย่างน้อย 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 30,000 ล้านบาท ให้บริษัท คิงส์เกตฯ 

เมื่อบริษัท คิงส์เกตฯ รู้ว่าไทยตกเป็นเบี้ยล่าง ก็ได้ขึ้นขี่คอรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ทันที โดยทนายความของคิงส์เกตฯ ได้มีหนังสือถึงอนุญาโตตุลาการฯ ซึ่งมีสาระสำคัญที่ว่าได้ขอถอนการเคลมค่าเสียหายในข้อ 13 และข้อ 14 หลังจากที่ไทยได้เปิดทางให้นำผงทองคำมูลค่า 8.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐไปขายได้ อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยอนุญาตให้บริษัท อัคราฯ ได้สิทธิการสำรวจแร่บนเนื้อที่ 44 แปลง และออกประทานบัตรเหมืองแร่ 4 แปลงเพิ่ม เมื่อเดือน ม.ค.65 เพื่อให้บริษัทอัคราฯ กลับมาเปิดเหมืองทองชาตรี ซึ่งเป็นไปตามข้อเรียกร้องของบริษัท คิงส์เกตฯ และขณะนี้ บริษัท อัคราฯ ได้จ้างบริษัทซ่อมบำรุงเครื่องจักรในเหมือง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายราว 500 ล้านบาท ซึ่งเป็นการกู้เงินจากธนาคารแห่งหนึ่ง

ตนไม่แน่ใจว่ารัฐบาลช่วยให้บริษัทนี้กู้ยืมเงินดังกล่าวด้วยหรือไม่ สถานการณ์นี้ทำให้เห็นว่าที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ มองคิงส์เกตฯ เป็นเหมือง ส่วนคิงส์เกตฯ มอง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหมู เพราะบริษัท คิงส์เกตฯ กำลังไล่ต้อน พล.อ.ประยุทธ์ และการที่รัฐบาลทำตามข้อเรียกร้องก็เป็นการนำทรัพย์สินของประเทศไปชดใช้ค่าเสียหายโดยไม่จ่ายเป็นตัวเงินแลกกับการถอนฟ้อง เพื่อทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายในคดีนี้ การกระทำดังกล่าวจึงเข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญในเรื่องเข้าข่ายขัดผลประโยชน์

“ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ บอกตลอดว่าเข้ามาเสียสละ ที่อยู่ในตอนนี้ก็ทำเพื่อประเทศชาติ จึงขอให้ท่านช่วยตอบด้วยว่าที่พยายามไปเจรจากับเขา ไทยได้ประโยชน์อะไร คนรักชาติอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ คำพูดขัดกันมาก วันนี้เราอยากฟังความจริงว่าเมื่อไหร่เราจะหลุดพ้นจากสถานการณ์การตกเป็นตัวประกัน เป็นลูกไก่ในกำมือของบริษัทต่างชาติ ดิฉันมั่นใจว่ากฎหมายบ้านเมืองมีขื่อมีแป ด้วยหลักฐานที่ดิฉันมีจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสาวนข้อเท็จจริงกรณีออกคำสั่งที่ 72/2559 ตามมาตรา 44 ของ พล.อ.ประยุทธ์ และข้อมูลที่ดิฉันจะไปยื่นต่อ ป.ป.ช. เพื่อเอาผิด พล.อ.ประยุทธ์ ในครั้งนี้ จะสามารถทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ย้ายจากบ้านหลวงที่อยู่ในค่ายทหารไปอยู่บ้านหลวงหลังใหม่ ไฟฟรี น้ำฟรี ข้าวฟรี ที่เรียกว่าเรือนจำได้ ฝากไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ ว่าท้ายที่สุด ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ รอดจาการลงมติไม่ไว้วางใจได้ แต่จะไม่มีวันรอดพ้นจากการกระทำที่ทรยศชาติครั้งนี้ได้ และพรรคการเมืองไหนที่จะค้ำยันคนนี้อยู่ พวกท่านเข้าข่ายเป็นผู้ร่วมกระบวนการเอาเงินของประชาชนและทรัพย์สมบัติของประเทศชาติไปใช้ เพื่อการส่วนตัว ดังนั้น ดิฉันไม่อาจไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปได้” น.ส.จิราพร กล่าว