เมื่อวันที่ 24 ก.ค. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงปัญหาน้ำท่วมว่า ระหว่าง กทม. กับ กรมชลประทาน ไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย มีการประสานงานกันตลอด ประตูน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ มี 2 ส่วน ส่วนที่อยู่ชั้นใน กทม.เป็นผู้ดูแล ส่วนที่อยู่ชั้นนอกกรมชลประทานดูแล เนื่องจากระบายน้ำออกสู่ด้านนอก ดังนั้นกรมชลประทานจะดูในภาพรวม ดูการระบายน้ำในต่างจังหวัด เราก็ดูแลภายใน ที่ผ่านมามีการประสานงานกันมาโดยตลอด อีกทั้งกรมชลประทาน ได้ช่วยเหลือ กทม.เป็นอย่างดี เช่น พื้นที่ลาดกระบัง ตอนนี้ กรมชลฯ ได้ช่วยสูบน้ำออกในปริมาณที่เหมาะสม สามารถบรรเทาปัญหาน้ำในพื้นที่ได้

เพราะฉะนั้นไม่ได้มีปัญหาอะไร ที่ผ่านมาอาจจะเป็นข้อมูลที่มีการคลาดเคลื่อนบ้าง แต่ขอบคุณสำหรับทุกคำแนะนำ ยืนยันว่าเรากับกรมชลฯ มีการประสานงานกันมาโดยตลอด

นอกจากนี้ ท่านนายกฯได้กรุณาให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เช่น เมื่อวันศุกร์ท่านได้สั่งการให้ฝ่ายทหารมาช่วย กทม. ใน 4 ด้านคือ การเก็บขยะหน้าโรงสูบน้ำขยะใหญ่ การเก็บขยะหน้าตะแกรงระบายน้ำหากมีปัญหา การช่วยขนคนกลับบ้านในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง และการขุดลอกคลอง ขณะเดียวกัน กรมกิจการพลเรือนได้ส่งเจ้าหน้าที่มาประจำที่ศูนย์ควบคุมป้องกันระบบน้ำท่วมกรุงเทพฯ ที่ดินแดง ทุกวัน เพื่อคอยประสานงาน

“ก็มีการประสานงานกันอย่างดีมาก คิดว่าจะช่วยบรรเทา กทม.เองเรามีกำลังจำกัด ท่านนายกฯได้สั่งการอย่างเร่งด่วน ต้องขอบพระคุณความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน วันพรุ่งนี้จะเริ่มมีการวางแผนขุดลอกคลองลาดพร้าวเพิ่มขึ้น เพราะปัญหาที่ผ่านมาคือ คลองหลัก คลองลาดพร้าว คลองแสนแสบ” นายชัชชาติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม คลองลาดพร้าวมีปัญหาเรื่องความตื้นเขิน น้ำไหลช้า และมีปัญหาการก่อสร้างเขื่อนที่ยังไม่เสร็จ จึงทำให้การลอกคลองลำบากมากขึ้น ในพรุ่งนี้ (วันที่ 25 ก.ค.) ทหารจะร่วมกับสำนักการระบายน้ำ กำหนดพื้นที่แบ่งพื้นที่ช่วยกันขุดลอกคลอง ปัจจุบัน กทม.ก็ขุดลอกอยู่แล้ว กทม.ขุดลอกอย่างเต็มที่ แต่มีกำลังจำกัด ในส่วนนี้ นายกฯได้สั่งการว่า ไม่ต้องพูดถึงเรื่องค่าใช้จ่าย ทำให้ประชาชนก่อน

นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า ขอขอบคุณกำลังทหารที่เข้ามาช่วย น่าจะช่วยบรรเทาปัญหาลงไปได้ ขณะนี้ ระดับน้ำกลับสู่ภาวะปกติ และจะพยายามพร้อมน้ำ แต่ปัญหายังอยู่ในพื้นที่ย่อยต่างๆ เช่น หมู่บ้านเอกชน ที่น้ำยังขังอยู่ กทม.จะส่งหน่วยงานเข้าไปดูแลมากขึ้น ทั้งนี้ คิดว่า ถนนสายหลักแห้งค่อนข้างเร็วขึ้น แต่ปัญหาอยู่ที่จุดเล็กๆ อาจต้องปรับยุทธศาสตร์เพิ่มหน่วยโมบายเข้าไปแก้ปัญหาในพื้นที่มากขึ้น โดยได้ให้สำนักงานเขตรายงานปัญหามานำลงในแผนที่เพื่อเตรียมอุปกรณ์เข้าไปช่วยเหลือ ตอนนี้มีปัญหาอยู่คือ แถวถนนหลวงแพ่ง เขตลาดกระบัง มีน้ำท่วมขังประมาณ 10 ซม.

ทั้งนี้ หากมีน้ำท่วมอาจต้องใช้เวลาระบาย แต่ขึ้นอยู่กับปริมาณฝนที่ต้องลงมาซ้ำด้วยเช่นวันก่อนตกหนักจริง 160 กว่า มม. การขุดลอกคลองจังหวะนี้ทำให้ได้มากที่สุด อะไรทำได้ให้ทำไปก่อน ส่วนแผนระยะยาวตั้งทำทั้งเส้นเลือดใหญ่คือ การก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำต่างๆ แต่เรื่องที่ต้องทำคือเพ่มประสิทธิภาพคลอง เพราะจริงๆ แล้วอุโมงค์ฯ ระบายน้ำได้แค่ 50% ของสิ่งที่ กทม.ต้องระบายออก หัวใจหลักอยู่ที่คลอง และจุดที่ท่วมมักจะอยู่บริเวณที่คลองยังไหลไม่ดี อย่างคลองเคล็ด คลองประเวศ คลองแสนแสบ คลองลาดพร้าว รวมถึงปรับปรุงเครื่องสูบน้ำให้ไหลลงเจ้าพระยาได้ดีขึ้น ส่วนเส้นเลือดฝอย ต้องหาโมบายปั๊มเพิ่มขึ้น ปัจจุบันโมบายปั๊มเคลื่อนที่เรามีประมาณ 4 ตัว  นื่องจากปัจจุบันฝนตกเป็นหย่อมๆ หากจุดไหนตกหนักก็ต้องเอาเครื่องมือไปช่วยกันในจุดนั้น

อย่างไรก็ตาม สภาวะโลกร้อนทำให้ฝนตกหนักเป็นหย่อมๆ บางทีคาดการณ์ได้ยาก ดังนั้นอนาคตต้องปรับนลยุทธศาสตร์ให้มีโมบายยูนิตไปช่วยเสริมในแต่ละที่ได้เร็วขึ้น ทำให้มีการคล่องตัวในการแก้ปัญหา