ที่ รร.เซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 22 เมื่อวันที่ 1 ส.ค. ซึ่งเป็นวันแรกของงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดพิธีนำเข้าสู่มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Research Expo 2022) โดย ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG” พร้อมมอบโล่ประกาศนียบัตรคณะกรรมการจริยธรรมวิจัยในมนุษย์ระดับชาติ (NECAST) ประกาศนียบัตรห้องปฏิบัติการที่ผ่านมาตรฐานฯ (มอก. 2677-2558) ประกาศนียบัตรหน่วยงานที่ผ่านการรับรองมาตรฐานสากล (CoreTrustSeal) ในการจัดการข้อมูลในคลังสารสนเทศดิจิทัล โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวรายงานการจัดงาน นอกจากนี้ ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม พร้อมภาคีเครือข่ายวิจัยจากทั่วประเทศร่วมงาน นำเข้าสู่งาน ด้วยการแสดง Sound Echo and Silence ซึ่งเป็นการแสดงวงดนตรีพื้นบ้านกับวงออเคสตร้าโดย ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ได้รับทุนสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช.

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย BCG เพราะเป็นเรื่องที่จะยกระดับให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาขึ้น ทำให้เกิดความรู้สึกสากลว่าประเทศไทยพัฒนาแล้วเป็นประเทศที่รักธรรมชาติและรักษ์โลก ซึ่งเป็นกระแสของโลกและเป็นที่นิยมกันในหมู่ของประเทศพัฒนาแล้ว แต่ประเทศไทยยังเน้นเรื่องเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ที่นำมาช่วยในด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มจีดีพีให้กับประเทศให้เพิ่มขึ้นได้อีกมาก เพราะ 20-30% ของจีดีพีมาจากการท่องเที่ยว แม้แต่ญี่ปุ่นก็พยายามจะทำเรื่องนี้ แต่ประเทศไทยมีความโดดเด่นมากกว่าและสามารถเทียบได้กับสวิตเซอร์แลนด์

รัฐบาลได้มอบหมายให้ อว. เป็นกระทรวงหลักในการขับเคลื่อน BCG โดยมี รมว.อว. เป็นประธานกรรมการขับเคลื่อน และ ผอ.สวทช. เป็นเลขานุการกรรมการ และโดยที่เศรษฐกิจ BCG จะประสบความสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับภาคธุรกิจเห็นความสำคัญของเรื่องนี้แค่ไหน อว.จึงได้ลงนามความตกลงร่วมมือกับภาคเอกชนทำวิจัยร่วมกันเมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ที่ธุรกิจระดับชั้นนำของโลกและเป็นธุรกิจอาหารที่ใหญ่ระดับสองของโลก หันมาให้ความสนใจต่อนักวิจัยไทย รวม 4 ด้านได้แก่ เรื่องเนื้อเทียม (Alternative meat) แบตเตอรี่อีวี อายุวัฒนะ (Longevity) และสมาร์ทฟาร์ม

สำหรับงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Research Expo 2022) จัดเป็นปีที่ 17 ระหว่างวันที่ 1-5 ส.ค.นี้ ณ ห้องบางกอกคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ ชั้น 22 โดยมีผลงานนิทรรศการ งานวิจัยและนวัตกรรมที่น่าสนใจกว่า 700 ผลงาน การจัดประชุมสัมมนาออนไลน์กว่า 150 หัวข้อ และการมอบสุดยอดผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลเกียรติยศ Platinum Award ผู้สนใจเข้าร่วมงานสามารถลงทะเบียนเข้าชมงานได้ที่ www.researchexpo.nrct.go.th แบบ Online และติดตามข้อมูลข่าวสารการจัดงานได้ที่ www.researchexpo.nrct.go.th fanpage : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ