สำนักข่าวซินหัวรายงานจากเมืองหลานโจว ประเทศจีน เมื่อวันที่ 6 ส.ค. ว่านายหวัง เจี้ยนจวิน ผู้นำการขุดค้นจากสถาบันตุนหวง เปิดเผยว่า มีการกล่าวถึงวัดถ่าเอ่อร์ในวรรณคดี ขณะที่หลักฐานทางโบราณคดีบ่งชี้ว่า วัดแห่งนี้ก่อสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์สุย (ปี 581-618) และราชวงศ์ถัง (ปี 618-907)


ซากวัดโบราณครอบคลุมพื้นที่ราว 22,000 ตารางเมตร มีเจดีย์สูง 14.5 เมตร จำนวน 1 องค์ และเจดีย์ขนาดเล็กกว่าอีก 9 องค์ โดยทีมนักโบราณคดี ยังขุดพบฐานของหอกลองและหอระฆัง รวมถึงกุฏิหลายหลัง และโบราณวัตถุมากกว่า 100 รายการ รวมถึง กระเบื้องชายคา เขาสัตว์เซรามิก ซากจิตรกรรมฝาผนัง และซากรูปปั้น


นายหวัง กล่าวว่า การค้นพบชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมจำนวนมาก ที่มีการเคลือบสีเหลืองและสีเขียว บ่งชี้ว่า วัดแห่งนี้มีสถานะสูงส่งในสมัยก่อน และพิสูจน์ถึงความสำคัญของเมืองสั่วหยาง นอกจากนี้ นักโบราณคดียังพบโบราณวัตถุจากสมัยราชวงศ์เซี่ยตะวันตก (ปี 1038-1227) ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันเจริญรุ่งเรืองของวัดในยุคนั้น


อนึ่ง แหล่งโบราณคดีเมืองสั่วหยาง ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ตามแนวเครือข่ายเส้นทางสายไหม ช่วงระเบียงฉางอัน-เทียนซาน ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เมื่อปี 2557


นายหวัง กล่าวเสริมว่า โครงการขุดค้นวัดถ่าเอ่อร์ เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2562 และจะดำเนินต่อไปจนถึงปี 2566 โดยคาดว่า คณะนักโบราณคดีจะสามารถไขความลับของเมืองโบราณแห่งนี้เพิ่มเติม หลังจากรวบรวมหลักฐานทางโบราณคดีได้มากขึ้นแล้ว.

ข้อมูล-ภาพ : XINHUA