เมื่อวันที่ 13 ส.ค. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานในพื้นที่เขตหลักสี่ จำนวน 5 จุด ดังนี้ จุดที่ 1 พื้นที่จัดทำสวน 15 นาที บริเวณหมู่บ้านเจริญทรัพย์ ซอยวิภาวดี 25, จุดที่ 2 พื้นที่จุดเสี่ยงก่ออาชญากรรม บริเวณสะพานลอยคนเดินข้ามหน้าวัดหลักสี่, จุดที่ 3 พื้นที่จัดทำสวน 15 นาที บริเวณหมู่บ้านเกษตรนิเวศน์ ซอยพิทักษ์ 6, จุดที่ 4 พื้นที่จัดทำสวน 15 นาที บริเวณหมู่บ้านรุ่งอรุณ ซอยแจ้งวัฒนะ 14 และจุดที่ 5 ตรวจเยี่ยมชุมชนต้นแบบการคัดแยกขยะมูลฝอยโดยชุมชน บริเวณชุมชนหมู่บ้านชื่นกมลนิเวศน์ 2

โดยมีนายสมบัติ กนกทิพย์วรรณ ผอ.เขตหลักสี่ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่เขตหลักสี่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า วันนี้ได้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานในพื้นที่เขตหลักสี่ ซึ่งเขตฯ มีความประสงค์จะจัดทำพื้นที่สีเขียวเพิ่ม ตามนโยบายสวน 15 นาที หรือ pocket park ของผู้ว่าฯ กทม. โดยได้สำรวจพื้นที่สาธารณประโยชน์และพื้นที่รกร้างว่างเปล่า เตรียมปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะขนาดเล็กใกล้บ้าน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ภายใน 15 นาที รวมถึงพัฒนาเป็นพื้นที่สำหรับออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจ

จุดแรกเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ บริเวณหมู่บ้านเจริญทรัพย์ ซอยวิภาวดี 25 พื้นที่ขนาด 57×10 ตร.ม. อย่างไรก็ตามที่ดินดังกล่าวมีบ้านเรือนรุกล้ำอยู่ 1 หลัง ที่ผ่านมาเขตได้เจรจาสร้างความเข้าใจกับเจ้าของบ้านแล้ว ซึ่งเจ้าของบ้านยินยอมย้ายออกจากที่ดินดังกล่าวภายในเดือนตุลาคมนี้ และจะเดินทางกลับไปอาศัยอยู่ภูมิลำเนาต่างจังหวัด

จุดต่อมาบริเวณหมู่บ้านเกษตรนิเวศน์ ซอยพิทักษ์ 6 เป็นที่ดินของเอกชน พื้นที่ขนาด 33 X 27 ตร.ม. ซึ่งเจ้าของที่ดินไม่ได้ใช้ประโยชน์จากที่ดินดังกล่าว แต่ได้เสียภาษีให้กับเขตอย่างต่อเนื่องทุกปี ทางเขตได้สำรวจพบว่าเป็นพื้นที่เหมาะสมในการจัดทำสวน 15 นาที จึงได้ขอความอนุเคราะห์จากเจ้าของที่ดินและได้รับการตอบรับให้เขตปรับปรุงเป็นสวนธารณะ

ซึ่งตามหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ที่ดิน เจ้าของที่ดินจะมอบให้กรุงเทพมหานครใช้ที่ดินดังกล่าวเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 7 ปี นอกจากนี้เขตได้สอบถามประชาชนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านดังกล่าว ซึ่งเห็นด้วยในการปรับปรุงให้เป็นพื้นที่สีเขียว ขณะนี้พื้นที่ดังกล่าวมีผู้ประสงค์จะบริจาคต้นไม้แล้ว ในส่วนของวัสดุอุปกรณ์จะมีสำนักการโยธาหรือทางเขตฯ เข้ามาดำเนินการ ดังนั้นการปรับปรุงพื้นที่ตรงนี้จะลงทุนไม่มาก ส่วนบริเวณหมู่บ้านรุ่งอรุณ ซอยแจ้งวัฒนะ 14 เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ ขนาด 76×12 ตร.ม. ซึ่งจะปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในชุมชน

รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่ออีกว่า จากการสำรวจในเบื้องต้นพื้นที่ฝั่งธนบุรีมีพื้นที่จัดทำสวน 15 นาที ประมาณ 50 แห่ง ในส่วนของเขตหลักสี่จะมีอยู่ 4 แห่ง โดยจะได้ข้อมูลสรุปตัวเลขทั้งหมดภายในสิ้นเดือนนี้ จากข้อมูลที่ได้จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ที่ดินที่เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ กับที่ดินของเอกชนที่มีความประสงค์ให้กรุงเทพมหานครเข้าไปดำเนินการปรับปรุงเป็นพื้นที่สีเขียว ในขณะเดียวกันการปรับปรุงอาจต้องใช้งบประมาณ ถ้าเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่สำนักสิ่งแวดล้อมจะเป็นผู้ดำเนินการ ถ้าพื้นที่ขนาดเล็กสำนักงานเขตจะดำเนินการเอง

รองผู้ว่าฯ กทม. ยังกล่าวถึงจุดเสี่ยงในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งสำนักเทศกิจรายงานว่ามีประมาณ 463 จุด ส่วนในพื้นที่เขตหลักสี่มีอยู่ 13 จุด จุดเสี่ยงที่มาตรวจในวันนี้ คือบริเวณสะพานลอยคนเดินข้ามหน้าวัดหลักสี่ ซึ่งได้รับการร้องเรียนจากประชาชนในเรื่องของไฟฟ้าส่องสว่าง โดยจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวของ เช่น สำนักการโยธา สำนักงานเขตหลักสี่ ทั้งไฟฟ้าที่อยู่บนสะพานลอย และไฟทางที่อยู่บริเวณถนนหน้าวัดหลักสี่ นอกจากนี้ประชาชนมีความประสงค์ให้จัดทำทางม้าลายบริเวณหน้าวัดหลักสี่ โดยจะประสานให้สำนักการจราจรและขนส่ง ดำเนินการในส่วนนี้ต่อไป

รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเพิ่มเติมว่า จุดสุดท้ายเป็นการตรวจเยี่ยมชุมชนต้นแบบการคัดแยกขยะมูลฝอยโดยชุมชน บริเวณชุมชนหมู่บ้านชื่นกมลนิเวศน์ 2 ซึ่งในแต่ละเดือน กรุงเทพมหานครจะเสียงบประมาณในการคัดแยกขยะเป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้นการแยกขยะจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ในปัจจุบันทั้ง 50 สำนักงานเขต มีหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะแล้ว 818 แห่ง ในพื้นที่เขตหลักสี่มีหน่วยงานเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 14 แห่ง อย่างเช่น ชุมชนหมู่บ้านชื่นกมลนิเวศน์ 2 ซึ่งหมู่บ้านดังกล่าวมี 92 หลังคาเรือน มีประชากร 315 คน มีปริมาณขยะที่สำนักงานเขตหลักสี่ดำเนินการจัดเก็บประมาณ 1,200 กก./วัน หลังจากที่ได้ดำเนินการคัดแยกขยะแล้ว สามารถลดปริมาณขยะลงได้คงเหลือประมาณ 890 กก./วัน

นอกจากนี้ยังได้นำขยะไปทำขยะ Recycle รวมถึงนำขยะไปทำน้ำหมักชีวภาพ ถ้าหากชุมชนช่วยกันคัดแยกขยะได้ ปริมาณการจัดเก็บขยะของกรุงเทพมหานครก็จะลดน้อยลง ในขณะเดียวกัน ประชาชนก็จะเสียค่าธรรมเนียมจัดเก็บขยะของกรุงเทพมหานครน้อยลง ในแต่ละเดือนสำนักงานเขตหลักสี่จะจัดเก็บขยะชิ้นใหญ่ได้ประมาณ 15 ตันเป็นอย่างน้อย ในขณะเดียวกันการจัดเก็บขยะชิ้นใหญ่ ไม่ได้หมายความว่าจะเอาขยะชิ้นใหญ่ทั้งหมดไปกำจัด แต่จะคัดแยกขยะชิ้นใหญ่บางส่วนที่สามารถ Recycle หรือนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้ เพราะฉะนั้นขยะชิ้นใหญ่ที่จัดเก็บได้ 15 ตัน จะมีเพียง 10 ตันเท่านั้นที่จะนำไปกำจัด

ซึ่งการคัดแยกขยะจะอยู่ที่ใจมากกว่าอยู่ที่เงินหรือวัสดุอุปกรณ์ ถ้าหากชุมชนมีความตั้งใจ ประชาชนมีความตั้งใจแล้ว ก็สามารถดำเนินการได้เลย ถ้าจะให้สำนักงานเขตหรือกรุงเทพมหานครเข้าไปช่วยเหลืออะไรได้บ้าง เราก็พร้อมที่จะสนับสนุนและดำเนินการให้ทันที.