ในวารสารจดหมายเหตุ ‘The Astrophysical Journal Letters’ มีการเผยแพร่รายงานของทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ใช้งานเครือข่ายกล้องโทรทรรศ​น์ขนาดใหญ่ ‘Atacama Large Millimeter/submillimeter Array (ALMA)’ ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ใช้ศึกษาเทหวัตถุหรือวัตถุในท้องฟ้าในช่วงความยาวคลื่นระดับมิลลิเมตรและต่ำกว่า

รายงานดังกล่าวเผยว่ามีการพบกลุ่มก๊าซในวงแหวนที่ประกอบด้วยฝุ่นและเศษซากดวงดาวชิ้นเล็กชิ้นน้อยล้อมรอบดาวเคราะห์ที่มีอายุน้อยมากดวงหนึ่ง

หอดูดาวดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติของสหรัฐ (National Radio Astronomy Observatory) ซึ่งอยู่ในกลุ่มของ ALMA ด้วย ให้ความเห็นว่าการค้นพบครั้งนี้บ่งชี้ถึงการปรากฏขึ้นของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่ยังมีอายุน้อยมาก

การค้นพบครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่างที่กำลังมีการศึกษาดาวฤกษ์ AS 209 ซึ่งมีอายุไม่มากนักและอยู่ห่างจากโลกราว 395 ปีแสงในกลุ่มดาวคนแบกงู (Ophiuchus) โดยทีมนักดาราศาสตร์สังเกตเห็นกลุ่มก๊าซที่ถูกพ่นออกมาตรงกลางของช่องว่างระหว่างวงแหวนก๊าซและสสารที่ล้อมรอบดาว

ดาว AS 209

การสังเกตเห็นครั้งนั้นนำไปสู่การค้นพบของวงแหวนที่อยู่ล้อมรอบกลุ่มสสารที่มีความเป็นไปได้ว่าจะกลายเป็นดาวเคราะห์ขนาดใหญ่เทียบเท่ากับดาวพฤหัสบดี

ขณะนี้ทีมวิจัยกำลังสังเกตการณ์ดาวเคราะห์ดวงนี้อย่างใกล้ชิด ซึ่งอยู่ห่างจากดาวหลัก  AS 209 ราว 18,590 ล้านไมล์ อันเป็นระยะห่างที่กลายเป็นความท้าทายต่อทฤษฎีการก่อรูปหรือถือกำเนิดของดาวเคราะห์ในปัจจุบัน และถ้าหากดาวหลักของดาวดวงใหม่นี้มีอายุโดยประมาณที่ 1,600 ล้านปีจริง ๆ แล้ว ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงนี้ก็จะเป็นดาวเคราะห์ที่อายุน้อยที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยตรวจพบ

การสังเกตการณ์กลุ่มก๊าซใหม่ในวงแหวนรอบดาว AS 209 นี้ อาจช่วยให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการกำเนิดและพัฒนาการของชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ รวมถึงกระบวนการถือกำเนิดของดวงจันทร์บริวารต่าง ๆ ได้ด้วย

ระบบดาวฤกษ์นี้อยู่ในความสนใจของเหล่านักวิทยาศาสตร์มานานกว่า 5 ปีแล้ว เพราะชั้นของวงแหวนที่ซ้อนกันอย่างเห็นได้ชัดถึง 7 ชั้น ซึ่งทีมวิจัยเชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกับการถือกำเนิดของดาวเคราะห์

วิธีที่ดีที่สุดในการศึกษาข้อมูลของดาวเคราะห์ก็คือการเฝ้าสังเกตการณ์ตั้งแต่ช่วงที่ดาวเคราะห์ก่อรูปร่าง และในตอนนี้บรรดานักวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ฟิสิกส์ก็หวังว่า ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศ ‘เจมส์ เวบบ์’ ที่จะส่งมาในอนาคต จะช่วยยืนยันว่ามีดาวเคราะห์ดวงใหม่กำลังถือกำเนิดขึ้นจริงในกาแลกซี

แหล่งข่าว : usatoday.com

เครดิตภาพ :  ALMA (ESO/NAOJ/NRAO), A. Sierra (U. Chile)