ในยุคดิจิทัลที่คนใช้ “สมาร์ทโฟน”เป็นอุปกรณ์ติดตัวที่ขาดไม่ได้ ทำให้คนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตแล้วกว่า 70% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ!!

 ส่งผลให้คนไทย กลายเป็น “เจ้าสถิติ” การใช้งานดิจิทัลในอันดับต้นๆของโลก ไม่ว่า จะเป็น การใช้งาน โซเชียลมีเดีย อย่าง “เฟซบุ๊ค” การทำธุรกรรมทางการเงินผ่าน “โมบาย แบงกิ้ง” เป็นต้น  อย่างไรก็ตามเมื่อ “ชีวิตติดดิจิทัล” แน่นอนว่า เหล่ามิจฉาชีพ ก็จ้องอาศัยช่องทางนี้ในการหลอกลวงเหยื่อ ก่ออาชญากรรมทางออนไลน์ ใครไม่รู้เท่าทัน ก็ตกเป็นเหยื่อได้ง่ายๆ!!

ทำให้ในช่วงที่ผ่านมา แนวโน้มปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน พุ่งสูงเป็นเงาตามตัว เรียกว่า “ติดยอดดอย” เลยทีเดียว!?!

ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) รวมถึงหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง จึงมีนโยบายบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา  เปิดรับแจ้งความออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com

เพื่อเพิ่มช่องทางอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ให้เข้าถึงการช่วยเหลือได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องเดินทางไปยังสถานีตำรวจ แค่คลิกเดียว! ก็แจ้งความได้ หากตนเองตกเป็นเหยื่อทางออนไลน์ และยังสามารถระงับความเสียหาย รวมถึงช่วยให้ติดตามผู้กระทำผิดกฎหมายมาดำเนินคดีได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น!!

ทั้งนี้จากข้อมูลของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com พบว่าในช่วงระยะเวลา 4 เดือน ( 1 มี.ค.-31 ก.ค.65) หลังเปิดตัวเว็บไซต์ มีคนไทยที่ตกเป็นเหยื่อ “โจรไซเบอร์” ใช้บริการ แจ้งความคดีออนไลน์สูงถึง 59,846 เรื่อง !!

โดยเป็นคดีหลอกลวงด้านการเงินถึง 31,047 เรื่อง!! และหากมาดูว่าเป็นการหลอกลวงเรื่องอะไรก็พบว่า 3 อันดับแรก คือ หลอกให้ทำงานออนไลน์ หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน และหลอกให้ลงทุนในรูปแบบต่างๆ

ส่วนคดีลำดับรองๆ ลงมา ได้แก่ หลอกลวงจำหน่ายสินค้า 24,643 เรื่อง การพนันออนไลน์ 462 เรื่อง ข่าวปลอม 239 เรื่อง และล่วงละเมิดทางเพศ 136 เรื่อง ซึ่งจากจำนวนคดีต่างๆตลอด 4 เดือน ทางเจ้าหน้าที่สามารถ ดำเนินการอายัดบัญชีได้แล้วกว่า 121 ล้านบาท!?! ถือว่าช่วยลดความสูญเสียด้านทรัพย์สินได้ไม่น้อย

สำหรับประชาชนอย่างเราๆ หากตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยี อย่ารอช้า!?! สามารถแจ้งความ ทางออนไลน์ได้เลย ผ่านศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com  ด้วยขั้นตอนง่ายๆ แค่เตรียมเอกสารและข้อมูลต่างๆ เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการแจ้งความ คือ

1.บัตรประจำตัว เพื่อใช้ในการลงทะเบียน โดยจะต้องกรอกข้อมูลทั้งหมายเลขบัตรและเลขหลังบัตรประชาชน เพื่อเป็นการยืนยันตัวตน 2.ใส่อีเมลส่วนตัว เนื่องจากหลังจากกรอกรายละเอียดเบื้องต้นแล้ว ระบบจะส่งรหัส โอทีพี (OTP) ผ่านทางอีเมล เพื่อจะนำมากรอกในระบบ ใช้ยืนยันตัวตนผู้แจ้ง เพื่อเข้าสู่กระบวนการถัดไป

3.ให้ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับคดี ทั้งข้อมูลส่วนตัวของผู้แจ้งและข้อมูลเกี่ยวกับผู้ต้องหาเท่าที่ทราบ อาทิ ชื่อ นามแฝง เลขบัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ หมายเลขบัญชีธนาคารที่ใช้ในการทำธุรกรรม ช่องทางติดต่ออื่นๆ เช่น  ไลน์, เฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม และ ทวิตเตอร์ เป็นต้น

 รวมถึงรูปแบบการหลอกลวง หรือคำโฆษณาของมิจฉาชีพ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะใช้ในการเชื่อมโยงข้อมูลคดีอื่นๆ ที่เคยแจ้งมาก่อน ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการ สืบหาคนร้ายที่ทำในรูปแบบขบวนการ มาดำเนินคดีต่อไป !?!

เมื่อเราที่เป็นผู้เสียหายทำตาขั้นตอนจนเสร็จ ผู้แจ้งจะได้รับ “เลขรับแจ้งความออนไลน์ หรือ Case ID” และหลังจากทางเจ้าหน้าที่เมื่อได้รับข้อมูลจากระบบมาแล้ว ก็จะมีการวิเคราะห์ข้อมูล พร้อมส่งเรื่องต่อไปยังยังสถานีตำรวจที่ผู้แจ้งสะดวกในการเดินทางไปเพื่อดำเนินกระบวนการสืบสวนในทันที

โดยพนักงานสอบสวนจะทำการโทรนัดหมายผู้แจ้งหรือผู้เสียหายมาสอบปากคำ อายัดบัญชี หรือทำการออกหมายเรียก และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องทางคดีตามขั้นตอนกฎหมาย โดยจากสถิติปัจจุบัน สามารถโทรฯ หาผู้แจ้งได้ทั้งหมดภายใน 3 ชั่วโมง!?!

ข้อดีอีกอย่างหนึ่งสำหรับการแจ้งความทางออนไลน์ คือ เราที่เป็นผู้เสียหาย สามารถติดตามรายงานความคืบหน้าผ่านระบบ หรือจะส่งข้อมูลหลักฐานเพิ่มเติม รวมถึงสอบถามปัญหาผ่านระบบได้ตลอดเวลา

ขณะเดียวกันทงเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้ประโยชน์จากกรณีที่ “ผู้ต้องหา” หรือ “โจร์ไซเบอร์” ได้กระทำความผิดในหลายท้องที่ ก็สามารถนำข้อมูลที่ได้รับแจ้งผ่านระบบ มาเชื่อมโยงคดีและข้อมูลต่างๆ เพื่อนำไปขอศาลออกหมายจับ “โจร์ไซเบอร์” มาดำเนินคดีได้ง่ายขึ้น!!

รวมถึงสามารถร้องขอให้ธนาคารระงับธุรกรรมทางการเงินได้อย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้เงินของผู้เสียหายถูกโอนไปยังเครือข่ายของมิจฉาชีพ!!

อย่างไรก็ตามแม้จะมีช่องทางเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แจ้งความคดีอาญชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น แต่การป้องกันตัวเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพพวกนี้จะดีที่สุด คาถาป้องกันตัวง่ายๆ เหมือนที่พี่ๆตำรวจ แนะนำ “3 อย่า”  คือ “อย่าเชื่อ อย่าคุย อย่าโอน” แค่นี้ก็ลดความเสี่ยงไม่ตกเป็นเหยื่อได้แล้ว!?!

จิราวัฒน์ จารุพันธ์

ภาพ : pixabay.com