เมื่อวันที่ 15 ส.ค. รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงผลกระทบของอาการ Long Covid โดยระบุว่า “ข้อมูลจากการสำรวจของ National Center for Health Statistics ล่าสุดเผยแพร่ในเว็บไซต์ของ US CDC” ประชากรวัยผู้ใหญ่ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 และประสบปัญหา Long COVID ขณะนี้ สูงถึง 17.7% คิดเป็นสัดส่วนถึง 7.6% ของประชากรวัยผู้ใหญ่ทั้งหมดของประเทศ

“ในขณะที่คนที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้น พบว่าเคยประสบปัญหา Long COVID มีถึง 34.3%” …นี่คือข้อมูลของอเมริกา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่จะเป็นภาระต่อระบบสุขภาพ รวมถึงกระทบต่อคุณภาพชีวิต สมรรถนะการใช้ชีวิต และการทำงาน รวมถึงค่าใช้จ่าย

เฉกเช่นเดียวกับที่เราเห็น overload system จาก Long COVID ในประเทศอื่นๆ เช่น ในสหราชอาณาจักร ที่เคยได้นำเสนอข้อมูลมาก่อนหน้านี้อย่างต่อเนื่อง “ดังนั้นหากเจอคำกล่าวอ้างที่บอกให้ไม่ต้องมากังวลเรื่อง Long COVID จิ๊บๆ เดี๋ยวก็หาย ส่วนใหญ่เป็นอาการจากการรู้สึกนึกคิดไปเอง” ..ถ้าเราได้ติดตามความรู้มากเพียงพอ ก็คงพอจะทราบได้ว่าควรเชื่อหรือไม่ ไม่เป็น ไม่ประสบ ก็จะไม่รู้สึก

หนทางชีวิต สุขภาพ สวัสดิภาพ และความปลอดภัยในชีวิตของตัวคุณและครอบครัว ขึ้นกับการตัดสินใจประพฤติปฏิบัติตัว (Self protective behaviors) ความรู้เท่าทัน (Health literacy) และความใส่ใจสุขภาพ (Health consciousness) สัจธรรมของโลกคือ วิกฤติจะไม่เกิดขึ้นสาหัส ไม่สูญเสียมากมาย หากวงการเมืองสุจริต วงนโยบายซื่อสัตย์ และวงวิชาการมีจริยธรรม ใช้ความรู้ในการดูแลตนเองและคนที่ใกล้ชิด ใช้ชีวิตโดยไม่ประมาทนะครับ..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @Thira Woratanarat