เมื่อวันที่ 8 ส.ค.รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat” ระบุว่า สถานการณ์ทั่วโลก 8 สิงหาคม 2564 สายๆ จะทะลุ 203 ล้าน เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 562,041 คน รวมแล้วตอนนี้ 202,924,613 คน ตายเพิ่มอีก 8,551 คน ยอดตายรวม 4,298,292 คน 5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุด ยังคงเป็นเช่นเดิมคือ อเมริกา บราซิล อินเดีย อินโดนีเซีย และสหราชอาณาจักร

อเมริกา ติดเชื้อเพิ่ม 66,987 คน รวม 36,516,985 คน ตายเพิ่ม 319 คน ยอดเสียชีวิตรวม 632,986 คน อัตราตาย 1.7% อินเดีย ติดเพิ่ม 39,070 คน รวม 31,933,553 คน ตายเพิ่ม 491 คน ยอดเสียชีวิตรวม 427,892 คน อัตราตาย 1.3% บราซิล ติดเพิ่ม 43,033 คน รวม 20,151,779 คน ตายเพิ่ม 945 คน ยอดเสียชีวิตรวม 562,752 คน อัตราตาย 2.8%รัสเซีย ติดเพิ่ม 22,320 คน รวม 6,424,884 คน ตายเพิ่ม 793 คน ยอดเสียชีวิตรวม 164,094 คน อัตราตาย 2.6%

ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 25,755 คน ยอดรวม 6,284,708 คน ตายเพิ่ม 32 คน ยอดเสียชีวิตรวม 112,190 คน อัตราตาย 1.8%อันดับ 6-10 เป็น สหราชอาณาจักร ตุรกี อาร์เจนติน่า โคลอมเบีย และสเปน ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่น แถบอเมริกาใต้ ยุโรป แอฟริกา เอเชีย หลายต่อหลายประเทศติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น หากรวมทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ พบว่ายังคงมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 82.85 ของจำนวนติดเชื้อใหม่ทั้งหมดต่อวัน

ญี่ปุ่นระลอกห้าหนักขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดเพิ่มอีกถึง 15,645 คน สูงสุดเท่าที่เคยระบาดมา ยอดรวมทะลุล้านคนไปแล้วฟิลิปปินส์ติดเชื้อทะลุกว่าหมื่นคนต่อวันไปแล้ว ส่วนเกาหลีใต้ เมียนมาร์ เวียดนาม ล้วนติดหลักพันอย่างต่อเนื่อง แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลักร้อยถึงหลักพัน

แถบตะวันออกกลางส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน ยกเว้นอิหร่านติดเพิ่มหลักหมื่นอย่างต่อเนื่อง กัมพูชา ลาว จีน และออสเตรเลีย ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนสิงคโปร์ และไต้หวัน ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ฮ่องกงติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ สำหรับไทยเรา เมื่อวานจำนวนติดเชื้อของเราสูงเป็นอันดับ 10 ของโลก และมากเป็นอันดับที่ 5 ของเอเชีย

จำนวนผู้เสียชีวิตเมื่อวาน 212 คน สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก และอันดับ 6 ของเอเชียส่วนจำนวนผู้ป่วยรุนแรงและวิกฤติ ตอนนี้ ไทยเรามีมากเป็นอันดับ 6 ของโลก อันดับ 3 ของเอเชีย และอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หากเปรียบเทียบความเข้มข้นของมาตรการภาพรวมในการจัดการการระบาดของโควิด-19 แล้ว เราจะเห็นจาก Stringency index ในภาพจาก Ourworldindata ว่าขณะนี้ความเข้มข้นอยู่ในระดับพอๆ กับช่วงระลอกสองตอนปลายปีก่อนและต้นปีที่ผ่านมา และน้อยกว่าระลอกแรก ในขณะที่สถานการณ์ระบาดที่เผชิญอยู่ตอนนี้ ย่อมทราบกันเป็นอย่างดีว่าหนักหนาสาหัสเพียงใด

ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่ผลลัพธ์ในการควบคุมโรคระบาดจึงออกมาดังที่เห็น หากยังดำเนินไปเช่นนี้ คงยากที่จะจัดการได้ และมีโอกาสยืดยาวไปเรื่อยๆ ประชาชนในประเทศจะยืนระยะไม่ไหว และจะส่งผลกระทบต่อสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างมากมาย และจะเกิดความโกลาหลในสังคมได้ หากถึงจุดที่ทุกคนรับไม่ไหว ไม่ใช่แค่ระบบสาธารณสุข แต่จะกลายเป็นทุกภาคส่วน

ดังนั้นรัฐจึงควรทบทวนนโยบายและมาตรการที่มีอยู่อย่างเร่งด่วน ยอมรับความจริงว่าไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ปรับเปลี่ยนกลไกนโยบายและวิชาการ ปรับเปลี่ยนนโยบายวัคซีนหลักของประเทศโดยมุ่งจัดหาและใช้วัคซีนประสิทธิภาพสูง ปรับเปลี่ยนมาตรการ มุ่งเป้าตัดวงจรการระบาดระดับประเทศให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ Full national lockdown เป็นสิ่งจำเป็น

ควรใช้เงินกู้ที่มีเพื่อประคับประคอง แต่ไม่ควรใช้เพื่อทุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจแบบครั้งที่ผ่านมา ควรประกาศนโยบายรัดเข็มขัด ลดการนำเข้าสิ่งฟุ่มเฟือย และรณรงค์ใช้ทรัพยากรภายในประเทศ สำหรับประชาชนอย่างพวกเราทุกคน ขอให้มีกำลังกายกำลังใจปกป้องตนเองและครอบครัวไม่ให้ติดเชื้อ ใส่หน้ากากนะครับ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า สำคัญมาก