ที่อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการ กทม.2 ดินแดง เมื่อวันที่ 15 ส.ค. นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยภายหลังร่วมประชุมคณะผู้บริหาร กทม. ครั้งที่ 17/2565 ถึงความคืบหน้าโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินว่า กทม. มอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ดำเนินการจัดระเบียบปรับปรุงทัศนียภาพของเมืองให้สะอาด ไม่มีสายไฟฟ้า สายโทรศัพท์รกรุงรัง ตั้งแต่ปี 61 โดย กทม. ต้องลงทุนพัฒนาระบบท่อร้อยสายระบบสาธารณูปโภคใต้ดิน วงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันเคที ได้ก่อสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน พื้นที่นำร่องเสร็จแล้ว รวมระยะทาง 7.2 กม. วงเงิน 140 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.ถนนวิทยุ (ถนนเพชรบุรี-แยกเพลินจิต-หน้าซอยร่มฤดี) 2.ถนนรัชดาภิเษก (MRT ศูนย์วัฒนธรรมประตู 2-หน้าซอยรัชดาภิเษก 7) 3.ถนนนราธิวาส (ถนนสาทรเหนือ/ใต้-ซอยนราธิวาส 10) ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้างท่อร้อยสายสื่อสารในแนวถนนพระรามที่ 1 จากแยกปทุมวันถึงแยกราชประสงค์ ระยะทาง 1 กม. พร้อมกับการปรับปรุงทางเท้า แต่ปัจจุบันมีปัญหาเรื่องการหารายได้ เพราะยังไม่มีผู้เช่าท่อร้อยสายที่สร้างเสร็จ จึงสั่งการเคทีชะลอโครงการในพื้นที่อื่น และมีแนวโน้มจะยุติทั้งหมด เนื่องจากเคทีไม่มีรายได้เพียงพอรวมถึงอาจไม่ศักยภาพดำเนินการโครงการฯ ต่อ

ประกอบกับโครงการดังกล่าวมีเส้นทางทับซ้อนกับแนวท่อสายสื่อสารเดิมของ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (NT) หากเคทีดำเนินงานต่อไป จะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ อย่างไรก็ตาม การนำสายสื่อสารลงใต้ดินจะเกิดขึ้นโดยเร็วและสำเร็จต้องได้รับการสนับสนุนจาก กสทช.

สำหรับแผนการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ปัจจุบันเส้นทางที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) นำสายไฟลงดินเสร็จแล้ว 62 กม. อยู่ระหว่างก่อสร้าง 174.1 กม. รวมแล้วจะมีการนำสายไฟฟ้าลงดินในพื้นที่ กทม. ระยะทาง 236.1 กม. โดยในปี 65 คาดว่าจะรื้อถอนเสาและสายไฟฟ้า ได้ระยะทาง 12 กม. นอกจากนี้ มีแผนเสนอ ครม. อีก 77.3 กม. คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 70 โดยเมื่อนำสายไฟฟ้าลงดินแล้ว กฟน.จะรื้อถอนเสาไฟฟ้าออก

ส่วนแผนการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ของ กสทช. ตามโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศ เป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ของ กฟน. และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งแผนดำเนินการปี 65 มี 6 กลุ่ม โดยแผนของปี 63-64 ที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ดังนี้

1.เส้นทางที่ไม่สามารถนำสายลงใต้ดินของ กฟน. ในปี 64 ระยะทาง 22 กม. 2.โครงการรักษ์คลองคูเมืองเดิมเฉลิมพระเกียรติฯ ระยะทาง 3 กม. 3.แผนการนำสายสื่อสารลงใต้ดินปี 63 ตามนโยบาย กสทช. ระยะทาง 49 กม. 4.แผนงานเปลี่ยนระบบสายอากาศเป็นสายใต้ดิน เพื่อรองรับการเป็นมหานครอาเซียน ระยะทาง 17 กม. 5.โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ของ กทม. ระยะทาง 1 กม. และ 6.แผนงานรื้อย้ายสาธารณูปโภคที่กีดขวางแนวโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน ระยะทาง 6 กม. คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 65 ระยะทาง 12 กม.

ขณะที่แผนการจัดระเบียบสายสื่อสารของ กสทช. ในพื้นที่โครงการนำสายไฟฟ้าลงดินของ กฟน. กลุ่มเร่งด่วน ระยะทางรวม 400 กม. แบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย กลุ่มแรก 39 เส้นทาง ระยะทาง 100 กม. อีกกลุ่มมี 169 เส้นทาง ระยะทาง 300 กม. และยังมีนอกเหนือจากกลุ่มเร่งด่วนอีก 38 เส้นทาง ระยะทาง 346.59 กม.

ทั้งนี้ กทม. มีเป้าหมายจัดระเบียบสายสื่อสารโดยได้ดำเนินการตามแผนของการจัดระเบียบสายสื่อสาร กลุ่มเร่งด่วน ของ กสทช. ระยะทาง 400 กม. และเส้นทางที่สำนักงานเขต ต้องการจัดระเบียบ ระยะทาง 600 กม. โดยให้สำนักงานเขตไปสำรวจพื้นที่ที่มีความพร้อม และรายงานให้สำนักการโยธา เพื่อดำเนินการต่อไป.