หน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย เดินมาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญเกี่ยวกับการตีความ วาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ในมุมข้อเท็จจริง พล.อ.ประยุทธ์ นั่งเก้าอี้นายกฯ ตั้งแต่ 24 ส.ค.2557 ดังนั้นวันที่ 23 ส.ค.2565 เท่ากับครบวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี

ในมุมข้อกฎหมาย รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 158 วรรคสี่วางหลัก “นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการดํารงตําแหน่ง ติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตําแหน่ง”

ปัญหาที่ถกเถียงกันทั่วบ้านทั่วเมืองตอนนี้คือ รัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่ เขียนไม่ชัดวาระ 8 ปีนายกฯ ต้องเริ่มรับหนึ่งจากช่วงไหนนำไปสู่เหตุการณ์ พรรคฝ่ายค้านเข้าเข้าชื่อตามเงื่อนไข รัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ยื่นคำร้องให้ประธานรัฐสภา ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งตอนนี้ทั้งกองเชียร์-กองแช่ง ความเห็นแตกออกเป็น 3 ฝ่าย

ฝ่ายแรก ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.2557 ซึ่งเป็นวันที่ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้า คสช. ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยแรก ครบวาระ 8 ปี วันที่ 23 ส.ค.2565

ฝ่ายสอง ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.2560 ซึ่งเป็นวันโปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ครบวาระดำรงตำแหน่ง 8 ปี วันที่ 5 เม.ย.2568

ฝ่ายสาม ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2562 ซึ่งเป็นวันที่ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี สมัยที่สองเท่ากับเป็นนายกฯได้ถึงวันที่ 8 มิ.ย.2570

ประเด็นที่น่าสนใจคือตั้งแต่ต้นสัปดาห์ เริ่มมีกระแสข่าวลือเรื่องยุบสภาก่อนถึงเดดไลน์ 23 ส.ค. เอาเป็นว่ามองข้ามชอตไปเลยสำหรับภาพอนาคตการเมือง เกี่ยวกับการอยู่ในอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกล็อกสเปกเหลือเพียงทาง 3 แพร่งเท่านั้น

(1) แพร่งแรก พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจ ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร ขั้นตอนหลังจากนั้น ภายใน 5 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรใช้บังคับ ให้ กกต.ประกาศกําหนดวันเลือกตั้งภายในกรอบ 45-60 วันตามเงื่อนไข รัฐธรรมนูญ มาตรา 103

(2) แพร่งสอง พล.อ.ประยุทธ์ ลากยาวกอดเก้าอี้นายกฯ จนครบวาระ 4 ปี วันที่ 23 มี.ค.2566 ผลที่ตามมา กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 45 วันนับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุตามเงื่อนไข รัฐธรรมนูญ มาตรา 102

(3) แพร่งสาม พล.อ.ประยุทธ์ ยอมลาออกจากตำแหน่ง เปิดทางเลือกนายกฯ จากบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 159 แต่หากเลือกไม่ได้ บทเฉพาะกาล รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เขียนเปิดช่องให้เสนอชื่อคนนอกเข้ามาเป็นนายกฯ ได้

หากเป็นไปในทิศทางแพร่งที่ 3 จะมีการเลือกนายกฯคนใหม่ และหากศาลสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ต้องมีคนนั่งนายกฯรักษาการ ซึ่งตำแหน่งผู้ที่จะมารักษาการ นั่นก็คือ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ส่วนแคนดิเดตผู้จะมาเป็นนายกฯ จากการตรวจสอบสถานะตอนนี้รายชื่อ นายกฯ สำรองในบัญชีพรรคการเมืองมีทั้งหมด 5 คน ประกอบด้วยนายอนุทิน ชาญวีรกูล พรรคภูมิใจไทย, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคประชาธิปัตย์, นายชัยเกษม นิติสิริ, นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากพรรคเพื่อไทย

ชะตากรรม พล.อ.ประยุทธ์ และบ้านเมืองกำลังเดินมาถึงสามแยกวัดใจ บทสรุปจะเป็นเช่นไรต้องตามติดชนิดไม่กะพริบตา!