เมื่อวันที่ 18 ส.ค. นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ เปิดเผยถึงกระแสข่าวสถานการณ์สุกรในขณะนี้ว่า มีบางอย่างผิดปกติจริง เนื่องจากปริมาณหมูที่ส่งเข้าพื้นที่ภาคเหนือมีมากเกินความเป็นจริง จากปกติจะมีหมูเข้าเชือดในพื้นที่ประมาณ 2,000-3,000 ตัวต่อเดือน และมีการนำเข้าซากหมูหรือหมูที่เชือดแล้วประมาณ 2-3 ล้านกิโลกรัมต่อเดือน แต่ในช่วงเดือน ก.ค. 65 มีการนำเข้า “ซากหมู” ขึ้นมาทางภาคเหนือ เพิ่มขึ้นเป็น 5 ล้านกิโลกรัมต่อเดือน ส่งผลกระทบให้ยอดขายหมูมีชีวิตในฟาร์มเริ่มช้าลง 30%

นายสุนทราภรณ์ กล่าวต่อไปว่า คิดไปในทางอื่นไม่ได้เลย เพราะผลผลิตหมูไทยที่เกษตรกรช่วยกันเลี้ยงนี้จะค่อยๆ เพิ่มปริมาณเข้าสู่สมดุลได้ราวสิ้นปี แต่จู่ๆ กลับมีปริมาณหมูในตลาดเพิ่มขึ้นผิดปกติ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นหมูนำเข้าที่ผิดกฎหมาย เพราะประเทศไทยไม่อนุญาตให้มีการนำเข้าหมู ซึ่งนอกจากจะกระทบสุขอนามัยของผู้บริโภคแล้ว ยังส่งผลถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูที่กำลังง่วนกับการเลี้ยงหมูปลอดภัยภายใต้ต้นทุนการป้องกันโรคที่สูงขึ้น ทำลายแผนการฟื้นฟูหมูไทยในระยะกลางและระยะยาวด้วย

“หมูจำนวนมากเข้ามาตีตลาดในภาคเหนือ ส่งผลทำให้เกษตรกรขายหมูได้น้อยลง เช่น เขียงเคยเข้ามาจับ 3 ตัวต่อวัน ก็จับเหลือเพียง 1-2 ตัวต่อวัน โดยราคาขายหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มในพื้นที่ภาคเหนือราคาประมาณ 110 บาท/กก. ทำให้ผู้เลี้ยงต้องเลี้ยงหมูที่ยังขายไม่ได้ต่อไป และเริ่มสะสมน้ำหนักเกิน 100 กก. ต้นทุนการเลี้ยงยิ่งสูงขึ้น หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้หวั่นเกรงจะกระทบต่อราคาขายจะเริ่มลดลง” นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ กล่าว

นายสุนทราภรณ์ กล่าวต่อว่า เกษตรกรมีการเรียกร้องให้รัฐแก้ปัญหาหมูเถื่อน หรือ หมูลักลอบนำเข้ามาโดยตลอด และกรมปศุสัตว์ก็มีการตรวจจับบ้างประปรายในจำนวนไม่มากนัก สวนทางปริมาณหมูเถื่อนที่มีอยู่จริงเป็นจำนวนมากในท้องตลาด ทุกคนทราบดีว่าหมูเถื่อนจะบรรจุเป็นกล่องมาในตู้คอนเทเนอร์ ระบุต้นทางมาจากประเทศเยอรมนี สเปน ซึ่งสำแดงเท็จเป็นปลาและอาหารสัตว์ หรืออาหารทะเล เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจโรคระบาด ASF ที่กำลังระบาดอย่างมากในยุโรป และหลบเลี่ยงการขอใบอนุญาตขนย้ายซากสัตว์จากกรมปศุสัตว์ เมื่อนำเข้ามาได้แล้วก็จะกระจายนำไปฝากห้องเย็นเดือนละไม่ต่ำกว่า 1,000 ตู้ ทั้งที่จังหวัดสมุทรสาคร นครปฐม สมุทรปราการ และห้องเย็นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วางขายกันเกลื่อนตลาด จนส่งผลกระทบต่อราคาหมูมีชีวิตของเกษตรกรไทย

นายสุนทราภรณ์ กล่าวอีกว่า ระดับราคาหมูเถื่อนถูกกว่าหมูไทย เนื่องจากไม่มีมาตรการป้องกันโรคหรือตรวจสอบย้อนกลับที่ดี ต้นทุนการผลิตหมูจึงถูกกว่า ส่วนเครื่องในเขาก็ไม่กิน การส่งมาขายที่ไทย จึงเปรียบเหมือนได้ทั้งเงินและลดขยะในบ้านเขา ที่สำคัญ หมูเถื่อนเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากคนไทย ทั้งภาครัฐผู้ที่มีหน้าที่ตรวจสอบป้องกันแต่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งผู้ประกอบการร้านอาหารที่หันไปซื้อของถูกมาปรุงให้ผู้บริโภคกิน คนรับกรรมก็คือผู้บริโภคคนไทยทั้งประเทศ และเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูจะไม่สามารถฟื้นฟูผลผลิตได้ตามเป้าหมาย จึงต้องขอร้องให้ภาครัฐขจัดปัญหาหมูเถื่อนอย่างจริงจังโดยทันที.