สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานจากกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ว่า กฎระเบียบดังกล่าวซึ่งได้รับการประกาศลงในรัฐกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ที่ผ่านมา จะมีผลบังคับใช้กับบริษัทสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เช่น “กูเกิล” ของบริษัทอัลฟาเบต อิงค์ และ “เฟซบุ๊ก” ของบริษัทเมตา รวมถึงผู้ให้บริการโทรคมนาคม ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. นี้ เป็นต้นไป

“ข้อมูลของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั้งหมด ตั้งแต่บันทึกทางการเงินและข้อมูลไบโอเมทริกซ์ หรือข้อมูลชีวมิติ ไปจนถึงข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อชาติและมุมมองทางการเมืองของผู้คน หรือข้อมูลใด ๆ ที่ผู้ใช้งานสร้างขึ้นในขณะที่ใช้งานอินเทอร์เน็ต จะต้องถูกจัดเก็บภายในประเทศ” ตามที่ระบุในคำสั่ง

นอกจากนี้ คำสั่งยังระบุเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่รัฐจะมีสิทธิออกคำร้องขอรวบรวมข้อมูลเพื่อวัตถุประสงค์ในการตรวจสอบ และขอให้ผู้ให้บริการลบเนื้อหา หากพบว่าเป็นการละเมิดแนวทางของรัฐบาล โดยบริษัทต่างชาติจะมีเวลา 12 เดือน ในการจัดเก็บข้อมูลในประเทศและจัดตั้งสำนักงานตัวแทน หลังจากที่ได้รับคำแนะนำจากกระทรวงความมั่นคงสาธารณะเวียดนาม และจะต้องเก็บข้อมูลไว้ในประเทศ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 24 เดือน

ทั้งนี้ เวียดนามอยู่ภายใต้การบริหารของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งยังคงควบคุมสื่ออย่างเข้มงวด และไม่ยอมต่อการเห็นต่างเพียงเล็กน้อย อีกทั้งทางการยังได้เพิ่มความเข้มงวดในกฎระเบียบอินเทอร์เน็ตตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จนถึงขั้นออกกฎหมายความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่มีผลบังคับใช้ในปี 2562 และแนวปฏิบัติระดับชาติเกี่ยวกับพฤติกรรมบนสื่อสังคมออนไลน์ ที่นำมาใช้เมื่อเดือน มิ.ย.ปีที่แล้ว.

เครดิตภาพ : REUTERS