เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 19 ส.ค. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธาน เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้ว ในวาระ 2 ต่อเนื่องเป็นวันที่สาม

โดยเป็นการพิจารณามาตรา 16 งบประมาณกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และหน่วยงานในกำกับ วงเงิน 3.73 พันล้านบาท โดยนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) อภิปรายถึงงบประมาณของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ไม่ได้รับความน่าเชื่อถือในระดับนานาชาติ เนื่องจากหลักการสำคัญขององค์กรตรวจสอบข้อเท็จจริงคือความเป็นกลาง ซึ่งสิ่งที่ยอมรับไม่ได้เลยในมาตรฐานสากล คือการอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐ นอกจากนี้ศูนย์ฯ ยังไม่มีมาตรฐาน กระบวนการทำงานของศูนย์ฯ ไม่สามารถเรียกตัวเองได้ว่าเป็นกระบวนการที่พยายามตรวจสอบข้อมูล ข้อเท็จจริงได้ด้วยซ้ำ เพราะกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงเดียวของศูนย์ฯ คือการสอบถามไปที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเท่านั้น โดยไม่มีการตรวจสอบกับผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ทั้งความไม่เป็นกลาง และไม่มีมาตรฐาน นำมาซึ่ง 3 ปัญหา คือ

1.ศูนย์ฯ ดังกล่าวมีไว้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาล เพื่อดำเนินคดีปิดปากคนเท่านั้น 2.การเลือกปฏิบัติว่าจะตรวจสอบเรื่องใดหรือจะเงียบในเรื่องใด และ 3.การเผยแพร่คำโกหกของหน่วยงานราชการ ทั้งหมดคือการทำงานที่ไม่มีขั้นตอนที่เป็นมาตรฐาน สุดท้ายศูนย์ฯ ดังกล่าวทำตัวเป็นแค่ตราประทับรับรองให้การทุจริตของภาครัฐเท่านั้น ตนจึงยืนยันว่าศูนย์ฯ ไม่ควรดำรงอยู่ ไม่ควรได้รับงบซึ่งเป็นเงินภาษีประชาชนแม้แต่บาทเดียว จึงเป็นเหตุผลที่ตนขอตัดงบของศูนย์ฯ จำนวน 86 ล้านบาท

ทางด้าน น.ส.นภาพร เพ็ชร์จินดา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย อภิปรายว่าตนขอเสนอตัดลดงบประมาณของกระทรวงดีอีเอส ลง ร้อยละ 50 เพราะยังปล่อยให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ทั้งจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เว็บพนันออนไลน์ รวมถึงเฟคนิวส์ต่างๆ ซึ่งงบประมาณที่กระทรวงขอมานั้น มีส่วนของโครงการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพช่วยเหลือประชาชนทางด้านคดีออนไลน์ ศูนย์ช่วยเหลือปัญหาออนไลน์ หรือแม้กระทั่งสร้างกิจกรรมเพื่อสนับสนุนภารกิจของคณะกรรมการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นกิจกรรมเพื่อองค์กรของท่านเองหรือไม่ การขยายผลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสมาร์ทอัพออฟฟิศ เป็นโครงการที่ทำเพื่อหน่วยงานตนเอง ถามว่าได้ทำอะไรเพื่อประชาชนอย่างเต็มที่แล้วหรือยัง เพราะประชาชนยังถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรฯ มารบกวน และสูญเสียเงินจำนวนมาก ทางกระทรวงทำอะไรได้บ้าง ทั้งที่กระทรวงดีอีเอสควรเป็นหน่วยงานกลางในการรับเรื่องร้องเรียน ควรทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ ซึ่งกระทรวงดีอีเอส ไม่ตอบโจทย์แก้ไขปัญหาให้ประชาชน

“กระทรวงดีอีเอส ยังดูแลประชาชนไม่ดีพอ ทำตัววนไปวนมา ไม่ช่วยประชาชนเข้าสู่ดิจิทัลอย่างแท้จริง ในสภาฯ มีองครักษ์พิทักษ์นายกรัฐมนตรีฉันใด ใน กมธ. และอนุ กมธ. ก็เกิดองครักษ์พิทักษ์งบประมาณฉันนั้น เจ้ากระทรวงไหนที่ ส.ส.เฝ้าอยู่ว่ามีงบประมาณของกระทรวงไหนเข้า แล้วรัฐมนตรีของตนเองเป็นเจ้ากระทรวงอยู่ จะมีผู้เข้าร่วมประชุมมากมาย เพื่อต่อต้านและไม่ให้ตัดงบจนเกิดปัญหา ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และเศร้าใจ เพราะไม่เกิดความคุ้มค่าประชาชนที่จะได้ประโยชน์สูงสุด” น.ส.นภาพร กล่าว

จากนั้น ที่ประชุมได้ลงมติมาตรา 16 งบกระทรวงดีอีเอส ด้วยคะแนนเห็นด้วย 224 เสียง ไม่เห็นด้วย 106 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง และไม่ลงคะแนน 4 เสียง แล้วเข้าสู่การพิจารณา มาตรา 17 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม