สื่อมวลชนหลากหลายสำนัก ร่วมวงเสวนาในหัวข้อ “ต้นทุนและทักษะในการนำเสนอข่าวที่น่าเชื่อถือ (Cost and Skills for Fact-Checking)” ซึ่งเป็นกิจกรรมในเวทีประชุมสุดยอด APAC Trusted Media Summit ประจำปีครั้งที่ 5ในประเทศไทย ซึ่งจัดโดย โคแฟค (ประเทศไทย) และ Google News Initiative (GNI) โดย กิตติ สิงหาปัด รายการข่าวสามมิติ สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 (HD33) กล่าวว่า การนำเสนอข่าวที่น่าเชื่อถือนั้นต้นทุนสำคัญอยู่ที่หัวใจและจิตวิญญาณของผู้ที่ประกอบอาชีพนักข่าว แม้จะดูเป็นนามธรรมแต่ก็เป็นความจริง เช่น จากการทำงานของตนกว่า 20 ปี อาจโชคดีที่ได้ทำข่าวในสายงานที่เรียกว่าเป็นข่าวประเภทสาระ อาทิ ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมหรือด้านวิทยาศาสตร์ และสามารถหลีกเลี่ยงการทำข่าวที่มีลักษณะเป็นความเห็นมาได้โดยตลอด ดังนั้นงานที่ทำจึงว่าด้วยข้อมูลหรืองานวิจัยที่ต้องชัดเจนก่อนนำเสนอ เช่น เมื่อต้องทำข่าวเกี่ยวกับปัญหาน้ำเน่าเสีย ก็ต้องระบุค่า BOD และ COD ปริมาณสารแขวนลอย ปริมาณตะกอน เป็นต้น เรื่องเหล่านี้หากไม่มีข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ก็ไม่สามารถนำเสนอได้ แต่อีกด้านหนึ่ง สิ่งที่พบในแวดวงสื่อ คือทุกๆ ช่วงใกล้วันที่ 1 และ 16 ของเดือน ซึ่งเป็นวันหวยออก จะมีการนำเสนอสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะผิดปกติ
“ผมอยู่ในข่าวโทรทัศน์ มันจะชัดกว่าพวกที่เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ซึ่งบางทีตัวตนมันไม่เข้ามาเกี่ยวข้องมากนัก เราเสนอข่าว คนเห็นเรา นายกิตติก็คือข่าวสามมิติ แล้วเป็นข่าวที่เราพูดไป ถ้าเราไม่เป็นคนที่น่าเชื่อถือแล้ว ข่าวเรามันแยกกันไม่ออกกับตัวคน แล้วเราอยู่ในวงการที่เกี่ยวข้องแข่งขันกับดารา เพราะมันอยู่ในโทรทัศน์มันก็คือดาราอันหนึ่ง อยู่ในแสงสี ซึ่งมันจะถูกกดดันว่าคุณต้องเป็นที่ 1 ที่ 2 เรตติ้งคุณเท่าไร ยิ่งมีการแข่งขันกันสูงในลักษณะแบบนี้ที่จะสร้างอะไรก็ตามซึ่งให้กลายมาเป็นข่าวที่เรียกว่าบันเทิง (Infotainment) คุณทำติ๊กต๊อก (TikTok) เป็นสาระ คนดูเท่านี้แหละ ลองคุณทำอะไรเพี้ยนๆ แปลกๆ คนมันดูกันเลื่อมเลย แต่ต้องอย่าลืม อย่าสับสนระหว่างคุณภาพกับปริมาณ อย่าไปคิดว่าคนตาม 5 ล้าน คนดู 2 แสน แต่ 2 แสนเป็นพวกคุณภาพทั้งนั้นเลย อันนี้สำคัญกว่า” กิตติ กล่าว
มณธิรา รุ่งจิรจิตรานนท์ สำนักข่าว AFP (ประจำประเทศไทย) กล่าวว่า ปัจจุบันทุกคนสามารถเป็นสื่อได้ ผ่านการใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายรูปหรือคลิปวีดีโอแล้วเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ด้านหนึ่งก็เป็นข้อดี เพราะบางพื้นที่สำนักข่าวก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ จึงต้องใช้ แต่ก็มีข้อเสียคือเสี่ยงกับความผิดพลาด โดยเฉพาะเมื่อให้ความสำคัญกับความเร็วในการนำเสนอข่าวมากกว่าความถูกต้อง แต่ในยุคสมัยที่มีการแข่งขันสูง สิ่งที่สร้างความแตกต่างได้คือความถูกต้อง จึงเป็นที่มาของการที่ AFP ตั้งแผนกตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล (Fact Checking) ขึ้นมาทำหน้าที่โดยเฉพาะ เช่น ประเด็นทางการเมือง หรือในประเทศไทยจะเป็นประเด็นสุขภาพค่อนข้างมาก โดยเฉพาะช่วงที่มีสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 มีการเผยแพร่สารพัดวิธีดูแลสุขภาพในพื้นที่ออนไลน์ เช่น การใช้สมุนไพรรักษาโรค การล้างคอด้วยน้ำเกลือ ฯลฯ ข้อโดดเด่นของ AFP ในฐานะสำนักข่าวระดับโลก คือมีสำนักงานตั้งอยู่ใน 200 เมืองทั่วโลก ในแง่ต้นทุนอีกอย่างหนึ่ง ในแง่ปัจเจกบุคคล เราต้องมีจิตที่ฉงนเรื่องโน้นเรื่องนี้ แล้วเราก็จะต้องทำการเสาะหาข้อเท็จจริงโดยอาจจะไม่ใช่แค่ด้านเดียว อาจจะต้องหลายๆ ด้าน เพราะว่าเหตุการณ์แต่ละอย่างประกอบไปด้วยหลายองค์ประกอบ เพราะฉะนั้นในฐานะที่เป็นสำนักข่าวที่มีผู้ติดตามหลายๆ เชื้อชาติ เราก็จะต้องนำเสนอในหลายๆ รูปแบบ รวมไปถึงการตรวจสอบหรือเช็ค Source (แหล่งข้อมูล) ที่น่าเชื่อถือ

พงษ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ สำนักข่าวออนไลน์ The Matter กล่าวว่า ไม่มียุคไหนที่ต้องการสื่อที่น่าเชื่อถือมากเท่าในปัจจุบัน เพราะยุคนี้โลกเชื่อมถึงกันอีกทั้งใครๆ ก็เป็นสื่อหรือสื่อสารได้ ซึ่งแม้ครั้งแรกที่ผู้รับสารเห็นข่าวอาจจะเห็นสื่อที่อาจจะไม่ใช่สื่อมืออาชีพ แต่เมื่อใดที่ผู้รับสารเกิดความสงสัยก็จะเข้ามาหาสื่อมืออาชีพ อย่างไรก็ตาม สื่อไทยไม่ว่าจะเป็นสื่อหลักหรือสื่อออนไลน์มีการปรับตัว เช่น มีการออกแถลงการณ์ มีการตรวจสอบเป็นการภายใน หรือในส่วนของสำนักข่าวออนไลน์ จะมีการระบุเวลาเมื่อมีการแก้ไขเนื้อหาข่าวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่คืบหน้าไป เพราะหลายข่าวที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นข่าวลวง จริงๆ แล้วเป็นการนำข่าวที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาหนึ่งมาใช้ในผิดบริบท เช่น ข่าวเก่าเมื่อหลายปีก่อนถูกนำมาใช้วนในเวลาปัจจุบัน แต่เรื่องนี้สำคัญกับทั้งคนที่เป็นสื่อมืออาชีพ และคนที่ใช้โทรศัพท์มือถือในการสื่อสาร ซึ่งทักษะการตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรมี เพียงสงสัยสักเล็กน้อยก่อนตัดสินใจส่งต่อข้อมูลก็สามารถช่วยได้มาก แต่สำหรับคนทำข่าวเป็นอาชีพ สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นคือวัฒนธรรมองค์กรที่ให้โอกาสการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก่อนเผยแพร่
“ผมเชื่อว่าทุกคนไม่มีใครอยากแชร์ข่าวที่สุดท้ายมันเงิบ เราแชร์ข่าวผิดๆ ให้คนที่เรารักด้วยซ้ำ ทุกคนอยากจะแชร์ข่าวที่ดีๆ ข่าวที่ถูกต้องที่สุด มีประโยชน์กับชีวิตผู้คนที่สุดให้กับทุกๆ คน ทุกคนอยากจะเป็นกระบอกเสียงรายงานข้อเท็จจริงให้มันได้ดีที่สุด แต่ด้วยความที่โลกออนไลน์มันเปลี่ยนเร็ว ธรรมชาติออนไลน์มันไหลไปเร็ว ตอนนี้คนก็มาพูดเรื่องติ๊กต๊อก คลิปวีดีโอสั้นๆ ให้ข้อมูลข้อเท็จจริงได้นิดเดียว ผมว่าข้อนี้มันก็เรียนรู้ไป แล้วก็ช่วยๆ กัน Fact Check (ตรวจสอบข้อเท็จจริง) ไป” พงษ์พิพัฒน์ กล่าว
ระวี ตะวันธรงค์ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP) กล่าวว่า ปัญหาสำคัญของคนทำสื่อ คือทำอย่างไรจะมีรายได้พอเลี้ยงตนเองและทีมงาน เพราะการที่บุคลากรกินดีอยู่ดี การทำสื่ออย่างมีคุณภาพก็จะตามมา ซึ่งสำหรับสื่อออนไลน์จะมี 3 ปัจจัย คือความเร็ว จำนวนและคุณภาพ โดยตลอดหลายปีที่มาผ่าน ความเร็วและจำนวนเป็นประเด็นที่คนทำสื่อเผชิญอยู่มาก บางคนต้องนำข่าวขึ้นระบบวันละเป็นร้อยชิ้นเพื่อให้ถูกมองเห็น หรือบางคนก็เน้นความเร็วโดยขาดความน่าเชื่อถือ และกว่าเรื่องของคุณภาพจะตามมา เนื้อหาที่ผิดพลาดจากความเร็วก็ถูกส่งต่อไปมากแล้ว
อย่างไรก็ตาม ช่วง 2 ปีล่าสุด ประเด็นความเร็วและปริมาณเริ่มลดลง คนทำสื่อเริ่มหันมาหาคุณภาพมากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป กล่าวคือ จากเดิมที่ผู้บริโภคสื่อจะเลือกเสพสื่อโดยยึดโยงกับตัวสำนักข่าว แต่ระยะหลังๆ เริ่มสนใจเนื้อหากันแบบมีลักษณะเฉพาะมากขึ้น เช่น เนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เนื้อหาเกี่ยวกับรถยนต์แต่เป็นรถยนต์บางยี่ห้อหรือบางรุ่น ซึ่งสาเหตุที่เปลี่ยนไปเนื่องจากวงการโฆษณาก็เปลี่ยนแปลง โดยสื่อออนไลน์จะมีรายได้จากโฆษณา 2 ทาง คือโฆษณาที่คำนวณจากยอดผู้ติดตามเนื้อหา กับโฆษณาที่ฝ่ายธุรกิจของสำนักข่าวไปขายพื้นที่โฆษณากับองค์กรต่างๆ แล้วพบว่า ในอดีตรายได้ทางแรกมากอยู่พอสมควร เช่น 1,000 ยอดคนดูเคยได้ 40-50 บาท แต่ทุกวันนี้เหลือ 12 บาท จึงมีคำแนะนำว่า “หากเนื้อหามีคุณภาพดีบวกกับพฤติกรรมการบริโภคสื่อที่เน้นความเฉพาะ มูลค่าราคาโฆษณาจะสูงกว่า”
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ได้เจรจากับทาง Google ชี้แจงปัญหา สำนักข่าวมีทีมงาน 60 คน พยายามสร้างเนื้อหาที่มีคุณภาพ แต่กลับมีรายได้เท่ากับใครคนหนึ่งที่มีทีมงานเพียงคนเดียวแต่ทำข่าวซุบซิบนินทา หรือแม้แต่ลอกข่าวจากสำนักข่าวอื่นไปเผยแพร่ซึ่งไม่เป็นธรรม นำไปสู่การก่อตั้งบริษัท Premium Publisher ขึ้นมาทำงานร่วมกับทาง Google โดย Google จะคัดกรองลูกค้าหรือผู้สนับสนุนโฆษณาที่ต้องการความพรีเมียม และให้ราคาสูงกว่าสื่อที่ไม่ได้รับความเชื่อถือ (Trust) แม้สื่อนั้นจะมียอดผู้ติดตามสูงกว่าก็ตาม