เมื่อวันที่ 12 ส.ค. นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “…ให้รัก พิพากษา ละคร ช่อง 3 เป็นละครที่มีการนำเสนอที่บิดเบือนการทำงานของอัยการที่เสียหายมาก เช่น คดีไม่สำคัญมอบอัยการผู้ช่วยทำ หรือ ชวนทนายมาเป็นอัยการเพราะกำลังขาดคน หรือการทำงานโดยเลือกเอาเอกสารออกจากสำนวน ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดทำให้สังคมเข้าใจบทบาทอัยการที่ไม่ถูกต้องอย่างรุนแรง กระทบต่อความรู้สึกของอัยการทั่วประเทศ ในเบื้องต้นจะได้ประสาน หนุ่มกรรชัย เพื่อให้รับทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้ว…”

ทั้งนี้แม้จะดูเป็นบทละคร แต่ก็มีการเผยแพร่ไปยังประชาชนทั่วประเทศ อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในหลายประเด็นที่เกี่ยวกับการดำเนินกระบวนการยุติธรรม สังคมจะเข้าใจผิดว่า หากมีคดีเล็กน้อย จะให้อัยการผู้ช่วยเป็นคนทำ ทั้งที่ทุกคดีมีความสำคัญเท่าเทียมกัน ทางอัยการจะพิจารณาตามพยานหลักฐานอย่างรัดกุมที่สุด

อีกประเด็นคือ การเสนอเนื้อหาที่ว่าสามารถทาบทามบุคคลมาเป็นพนักงานอัยการได้ ทั้งที่ความจริงการจะเข้าสู่ตำแหน่งพนักงานอัยการ ต้องมีการสอบเข้ามาเป็นอัยการผู้ช่วยก่อน และต้องมีคุณสมบัติตามระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุด มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องรองรับ และที่เรียกว่าบิดเบือนไปมากก็คือ มีการเลื่อนตำแหน่งจากอัยการไปเป็นผู้พิพากษา ซึ่งไม่ได้เป็นความจริงแต่อย่างใด จึงอยากให้ผู้จัดดำเนินเนื้อเรื่องด้วยความระมัดระวัง และควรจะแก้ไข เพื่อไม่ให้สังคมเข้าใจผิดอีก

ด้าน นายอดิศร ไชยคุปต์ รองอธิบดีอัยการ สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ส่งอีเมลไปยังผู้จัดละครเรื่องดังกล่าว ความว่า เรียนผู้จัดละครเรื่อง “…ให้รักพิพากษา…” และผู้บริหารช่อง 3 ด้วยบทละครผู้เล่นบทพนักงานอัยการมีการส่อถึงการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการที่ไม่ชอบขัดต่อความเป็นจริง และไม่ตรงต่อหลักการดำเนินคดีของพนักงานอัยการ ที่ต้องมุ่งค้นหาความจริงให้ปรากฏในศาลเพื่อความยุติธรรม พนักงานอัยการไม่ใช่คู่แพ้ชนะกับผู้ต้องหาและจำเลย และการเข้าสู่ตำแหน่งพนักงานอัยการต้องมีการสอบเข้าโดยมีคุณสมบัติ เช่นเดียวกับการสอบเข้าเป็นผู้พิพากษา อันเป็นบทบัญญัติตามกฎหมาย บทละครดังกล่าว ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดในวิชาชีพพนักงานอัยการ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อพนักงานอัยการและองค์กรอัยการ และทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม เป็นการไม่สร้างสรรค์และเกิดประโยชน์ต่อสังคม.