ก่อนการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ประจำปี 2565 ตอน “สะกดทัพ” จะโลดแล่นบนเวทีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยเป็นปฐมฤกษ์ วันที่ 30 ต.ค.นี้ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พาชมความคืบหน้างานฉากและประติมากรรมประกอบการแสดง โดยมี อาจารย์สุดสาคร ชายเสม ผู้ออกแบบและควบคุมการสร้างประติมากรรม และเครื่องประกอบฉาก เผยเบื้องหลังการจัดทำ “หุ่นยักษ์หนุมานแปลงกาย” และงานจิตรกรรมฉาก พร้อมด้วย อาจารย์วิชัย รักชาติ ผู้ดูแลการเขียนฉาก ณ อาคารเรียน-รู้-โขน ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด จ.พระนครศรีอยุธยา
หนุมานแผลงฤทธิ์แปลงกาย 4 พักตร์ 8 กร
อ.สุดสาคร กล่าวว่า ความคืบหน้างานฉากและประติมากรรมประกอบการแสดงโขน ร้อยละ 95 ประติมากรรมหนุมานแปลงกายอ้างอิงมาจากภาพจิตรกรรมวัดพระแก้ว และภาพหนุมานแปลงกายจากตู้พระธรรมโบราณสมัยอยุธยา พร้อมมีเทคนิคพิเศษในการออกแบบกลไกให้เคลื่อนไหวได้เพื่อให้เป็นไปตามบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 ที่หนุมานใช้มือจับแมลงภู่ในหุบเขาไร้รักแล้วขยี้จนตาย ไมยราพที่ฝากดวงใจไว้ในแมลงภู่ก็ขาดใจตายในที่สุด สำหรับฉากนี้มีความน่าตื่นตาตื่นใจ จึงไม่อยากให้กะพริบตา นอกจากนี้ยังได้โชว์หนุมานตัวยักษ์ มี 4 พักตร์ 8 กร สูง 7.5 เมตร ถือเป็นประติมากรรมหนุมานที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยสร้างมา ยิ่งกว่านั้นเด็กๆ ชอบฉากหนุมาน
อาจารย์สุดสาคร ชายเสม
รวมทั้งฉากที่เคยสร้างความประทับใจอื่นๆ มีการปรับเพิ่มเติมเทคนิคให้มีความน่าตื่นตาตื่นใจมากยิ่งขึ้น เช่น ฉากหนุมานอบพลับพลา ขนาดใหญ่ สูง 8.50 เมตร นำโครงสร้างเดิมนำกลับซ่อมบำรุงปรับปรุงใหม่ให้อลังการและมีความคงทนถาวรมากขึ้นเพื่อนำกลับมาใช้อีกครั้ง ฉากกึ่งถาวรนี้ อ.สุดสาคร เผยว่า จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้งานศิลปกรรมฉากให้กับคนรุ่นหลัง ซึ่งตามพระราชเสาวณีย์ของสมเด็จพระพันปีหลวงสำเร็จแล้วในการฟื้นฟูโขน ความตั้งใจในการสร้างสรรค์งานฉากและประติมากรรมประกอบการแสดงโขนเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติพระองค์ท่าน
“งานฉากทั้งรูปแบบและความงดงามเป็นตัวเล่าเรื่องและขยายจินตนาการของผู้ชมที่เคยฝันไว้ในบทพระราชนิพนธ์ออกมาเป็นจริง สร้างความตื่นเต้น เช่น ฉากเขาชนกัน ซึ่งหนุมานต้องฝ่าด่านภูเขาไฟที่ร้อนระอุ นอกจากงานฉากยังมีเทคนิคแสง สี เสียง ทำงานร่วมกัน โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ถือว่าสมบูรณ์ที่สุดแล้ว อยากให้คนไทยได้มาชมพระอัจฉริยะภาพของสมเด็จพระพันปีหลวง รวมถึงมาให้กำลังให้คนทำงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง” อ.สุดสาคร กล่าว
ทั้งนี้ ฉากงานจิตรกรรม ออกแบบและเขียนใหม่เกือบทั้งหมด จึงระดมช่างฝีมือดีมาช่วยกันสร้างสรรค์ฉากให้สวยสมบูรณ์แบบ โดยมีฉากใหญ่ 4 ฉาก เช่น เขาชนกัน, ป่าตาล, ป่าทึบ, ม่านพระ โดยความพิเศษ คือ “งานจิตรกรรมฉากม่านพระ” ต้องทำขึ้นใหม่แทนฉากเดิมที่ทอด้วยพรมของ อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต ที่ส่งไปทอประเทศญี่ปุ่น ซึ่งชำรุดเสียหายตามกาลเวลา
“ฉากม่านพระใช้ผ้าทอจากประเทศจีน ขนาด 12X20 เมตร เป็นผ้าที่ไม่มีรอยต่อ ออกแบบภายใต้แนวคิด การจัดงานพิธีที่ต้องอัญเชิญพระพุทธเจ้า และทวยเทพทุกพระองค์ อาทิ พระอิศวร พระนารายณ์พระพรหม พระภรตมุนี พระพิฆเนศวร พระวิษณุกรรม พระประโคนธรรพ พระอาทิตย์ พระจันทร์ เป็นต้น จัดทำโดยทีมช่างรวม 20 ชีวิต จากวิทยาลัยเพาะช่าง ม.เทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วาดด้วยลายรดน้ำใช้สีทองและสีดำ และใช้เวลาทำเพียง1สัปดาห์ นับเป็นสิ่งอัศจรรย์อีกสิ่งหนึ่งในการแสดงครั้งนี้” อ.สุดสาคร กล่าวทิ้งท้าย.