สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ว่า นายอีลอน มัสก์ เจ้าของและประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของทวิตเตอร์ ตอบคำถามของหนึ่งในผู้ใช้งาน เกี่ยวกับกระแสข่าวการเพิ่มโควตาการทวีตข้อความ จากปัจจุบันซึ่งสูงสุดอยู่ที่ 280 ตัวอักษร เป็นสูงสุด 4,000 ตัวอักษร ซึ่งมัสก์ตอบว่า “จริง” แต่ยังไม่มีการขยายความ โดยก่อนหน้านั้น ทวิตเตอร์จำกัดการทวีตตัวอักษรไว้ที่สูงสุดเพียง 140 ตัวอักษร ก่อนเพิ่มเป็น 280 ตัวอักษร เมื่อปี 2560


ขณะเดียวกัน ทวิตเตอร์กลับมาให้บริการ “ทวิตเตอร์ บลู” หรือ “บลู เซอร์วิส” ที่เป็นการยืนยันตัวตนด้วย “เครื่องหมายถูกสีฟ้า” ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 12 ธ.ค. ที่ผ่านมา หลังระงับไปนานประมาณ 1 เดือน เนื่องจากกลับกลายเป็นว่า การจ่ายเงินเพื่อซื้อเครื่องหมายนี้ ทำให้จำนวนบัญชีแอบอ้างของบุคคลมีชื่อเสียง และองค์กรขนาดใหญ่ เพิ่มขึ้นอย่างมาก จนสร้างความสับสนให้กับทุกฝ่าย


อย่างไรก็ตาม สำหรับการเตรียมกลับมารับสมัคร ทวิตเตอร์ บลู ในรอบนี้ อัตราค่าบริการรายเดือนยังคงอยู่ที่ 8 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 278.88 บาท) หากเป็นการทวีตข้อความและภาพ และคลิปที่มีความละเอียดไม่เกิน 1080 พี ผ่านเว็บไซต์ของทวิตเตอร์ แต่อัตราค่าบริการจะเพิ่มเป็น 11 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน (ราว 383.46 บาท) สำหรับผู้ใช้บริการระบบปฏิบัติการ “ไอโอเอส” ของบริษัทแอปเปิล

จนถึงตอนนี้ ยังคงไม่มีคำชี้แจงอย่างเป็นทางการจากทวิตเตอร์ว่า เพราะเหตุใดผู้ใช้บริการทวิตเตอร์ บลู บนระบบไอโอเอส “ต้องจ่ายแพงกว่า” ระบบปฏิบัติการอื่น แต่การวิเคราะห์จากหลายกระแสระบุไปในทางเดียวกันว่า เป็นการ “ชดเชย” ค่าธรรมเนียมที่แอปเปิลเรียกเก็บ จากผู้ที่ทำธุรกรรมบนแอพพลิเคชั่น สโตร์


ทั้งนี้ทั้งนั้น มัสก์กล่าวหาแอปเปิล พยายามบล็อกการให้บริการของทวิตเตอร์ บนแอพพลิเคชั่นสโตร์ “เนื่องจากแอปเปิลกดดันให้ทวิตเตอร์ปฏิบัติตาม เงื่อนไขเกี่ยวกับการตรวจสอบเนื้อหา” พร้อมทั้งตำหนิแอปเปิลขัดขวาง “เสรีภาพในการแสดงความเห็น” และลดการโฆษณาบนทวิตเตอร์.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES