หลังเข้ามารับตำแหน่ง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ 8 เดือน ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต หนึ่งใน กรรมการ กสทช. ได้มีโอกาส พบสื่อมวลชน ได้เปิดใจหลังเข้ามารับตำแหน่งในองค์กร ที่ต้องกำกับดูแลคลื่นความถี่ของประเทศ รวมถึงเรื่องราวที่เกิดเป็นประเด็นต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา และแผนงานที่ทำไปแล้วและจะทำในปี 66 ที่จะถึงนี้

“คุณพ่อ” ผู้สนับสนุนให้สมัคร กสทช.

 ศ.ดร. พิรงรอง เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการสมัคร กสทช. ว่า มาจากคุณพ่อ คือ ศ.นายแพทย์ธีระ รามสูต อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แนะนำให้มาสมัคร เพราะเห็นว่า สอนหนังสือที่จุฬาฯ อาจไม่มีความท้าทายแล้ว อยากให้ลองทำอะไรใหม่ๆ ประกอบกับรู้ว่าตัวเองชอบและสนใจในเนื้อหางานของ กสทช. หลังจากเคยมาทำหน้าที่ คณะอนุกรรมการฯ ให้กับบอร์ด กสทช.ชุดก่อนหลายเรื่อง

เจ้าตัวยืนยันว่าที่ได้รับเลือก อาจเป็นเพราะในช่วงที่เข้าไปตอบคำถามหรือแสดงวิสัยทัศน์  สามารถตอบ คำถามต่างๆ ได้ทุกเรื่อง ซึ่งอาจจะถูกใจวุฒิสมาชิกที่ต้องลงคะแนนโหวต แต่ยืนยันว่าไม่ได้รู้จัก เป็นการส่วนตัวกับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย ตามที่มีกระแสข่าวว่าที่ได้รับเลือกเข้ามาเพราะรู้จักกับนายกรัฐมตรี

กสทช.ทุกคนมีความคิดเห็นส่วนตัว

หลังเข้ามารับตำแหน่งแล้ว “ศ.ดร. พิรงรอง“ ยอมรับว่า กรรมการ กสทช.ที่ได้รับเลือกเข้ามาแต่ละท่าน ก็มีความคิดเห็นในเรื่องต่างของตัวเอง จึงมีความเห็นไม่ตรงกันเป็นเรื่องธรรมดา นอกจากนี้ยอมรับว่า ในทุกเรื่องที่ต้องมีการลงมติของบอร์ด ส่วนใหญ่แล้ว ตนเองจะกลายเป็นเสียงข้างน้อย กับ รองศาสตราจารย์ศุภัช ศุภชลาศัย อีกหนึ่ง กรรมการ กสทช. แต่ก็ถือเป็นเรื่องปกติในการลงมติ ซึ่งผลออกมาอย่างไรก็ต้องยอมรับตามเสียงข้างมาก

“ยอมรับว่าหลังเข้ามารับตำแหน่งก็โดนรับน้อง ในเรื่องที่ ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งให้ กสทช. คุมค่ายมือถือ คิดค่าบริการตามจริง ห้ามปัดเศษวินาที ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค ซึ่งบอร์ด กสทช.ไม่ควรจะอุธรณ์คำสั่งศาลฯ แต่ก็กลับมีมติให้อุธรณ์คำสั่งศาล โดยให้เหตุผลว่าเป็นหน่วยงานรัฐต้องต้องดำเนินการจนถึงที่สุดตามกระบวนการทางกฎหมาย แต่ส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเกี่ยวข้องกับผู้บริโภคและคนไทยทุกคน เมื่อศาลตัดสินแล้วเป็นผลดีกับผู้บริโภค ก็ไม่ควรอุธรณ์”

กรณีสนับสนุนเงินถ่ายบอลโลกไม่เห็นด้วย

ศ.ดร. พิรงรอง บอกต่อว่า ในกรณีสนับสนุนเงินถ่ายทอดสดบอลโลก 2022 ไม่เห็นด้วยแต่แรก เพราะมองว่า การกีฬาแห่งประเทศไทย( กกท.) ก็มีกองทุนที่เกี่ยวข้องกับกีฬาของตนเองอยู่ น่าจะใช้งบส่วนนั้น ไม่ใช่ของ กสทช. เพราะการใช้งบประมาณของ กองทุน กทปส. ไปสนับสนุนอาจจะผิดวัตถุประสงค์ของกองทุน

เมื่อเกิดปัญหาในการถ่ายทอดสด ไม่เป็นไปตามเอ็มโอยู ทางบอร์ด กสทช. ก็มีมติเสียงเอกฉันท์ในการให้ เรียกเงินสนับสนุนคืน โดยตอนนี้ได้มีการตั้งคณะทำงาน เพื่อศึกษาาความเสียหายที่เกิดขึ้นให้เสร็จใน 1 เดือน  ซึ่งจะพิจารณาด้านความเสียหายต่อประชาชน ต่อผู้ประกอบการต่างๆ ว่าจะเป็นมูลค่าประมาณเท่าไหร่ เบื้องต้นยังประมาณมูลค่าไม่ได้ แต่ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่ง กกท. ทำให้เกิดการรับชมผ่านทีวีภาคพื้นดินที่ประสบความสำเร็จ เราคงต้องแฟร์ว่าส่วนไหนที่ขาดหายไป

สำหรับ ในการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลอาเซียน นั้น ไม่เข้ากฎและไม่ได้อยู่ในส่วนของกฎมัสต์แฮฟ (Must Have) แต่อาจจะมีประเด็นของกฎมัสต์แคร์รี่ ( Must Carry ) ที่เป็นหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป ซึ่งบังคับให้ผู้ให้บริการโทรทัศน์ทุกราย ที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. นำช่องฟรีทีวี ไปออกอากาศในทุกช่องทาง และผู้ให้บริการโครงข่ายแบบบอกรับสมาชิก โครงข่ายดาวเทียม เคเบิลทีวี ไอพีทีวี (IPTV) ซึ่งวันนี้ (26 ธันวาคม 65) ได้มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. เชิญทั้งกรีนสปอร์ตและ MCOT เข้ามาเจรจาพูดคุยกันในเรื่องดังกล่าว 

อย่างไรก็ตาม กรณี กฎมัสต์แฮฟ และ กฎมัสต์แคร์รี่ เห็นด้วยว่าจะต้องมีการทบทวน เพราะเป็นกฎที่สร้างปัญหาและปัจจุบันเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปเร็วมากซึ่งอาจไม่เข้ากับยุคสมัย ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าหากยกเลิกไปก็ดี

ควบรวม “ทรู-ดีแทค” และ “เอไอเอส-3 บีบี”  ต้องตามติด

 ส่วนของเรื่องการควบรวมระหว่างทรู-ดีแทค ผ่านการลงมติของบอร์ดไปแล้ว ซึ่งจะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามขั้นตอนกระบวนการในการควบรวม รวมถึงการตัดสินของศาลในอนาคตหลังที่มีผู้ยื่นฟ้องคัดค้านด้วย อย่างไรก็ตามเพื่อไม่ให้เกิดคนกระทบต่อตลาด และประชาชน ในเรื่องนี้ ทาง รองศาสตราจารย์ศุภัช ศุภชลาศัย ได้มีการคิดโมเดลในการตรวจสอบและติดตามเรื่องนี้แล้ว

ส่วนในกรณี การซื้อหุ้น 3 บีบี ของเอไอเอส นั้น จะเป็นเรื่องใหญ่ที่จะเข้ามาให้บอร์ดพิจารณาในปี 66 ยังไม่สามารถบอกได้ว่าผลจะเป็นอย่างไร แต่เรื่องนี้มีขั้นตอนกระบวนการและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว

ทีวีดิจิตอลขอขยายเวลาใบอนุญาตต้องศึกษา

ศ.ดร. พิรงรอง ยังบอกถึงกรณีกระแสข่าวการขอขยายระยะเวลาถือครองใบอุนญาตประกอบกิจการของทีวีดิจิตอล ว่า จะมีการประชุมกับผู้ประกอบการกิจการโทรทัศน์ดิจิทัล รวมถึงผู้ประกอบการเคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียม เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ ปัญหา และอุปสรรคที่ผู้ประกอบการได้ประสบ เพื่อเป็นข้อมูล ในการวางแผนและเตรียมความพร้อมสู่ปี 2572 ที่ใบอนุญาตจะหมดอายุ ซึ่งอยากฟังมุมมองของผู้ประกอบการว่า มีความคิดเห็นอย่างไร

“โดยส่วนตัวคิดว่าจะต้องมีการศึกษาในเรื่องต่างๆก่อน และที่ผ่านมา กสทช. ก็มีการช่วยเหลือทั้งเรื่อง ลดค่าใบอนุญาต และค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิตอล(มักซ์) แต่ยอมรับว่า ในอนาคตคนดูทีวีจะน้อยลง หันไปดูผ่าน โอทีที หรือผู้ให้บริการเนื้อหา เช่น ภาพยนตร์ วิดีโอ ผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต และแนวโน้มช่องทีวีดิจิทัลจะเหลือช่องน้อยลง ในอนาคตการทำธุรกิจในอุตสาหกรรมทีวีจะเปลี่ยนไป จึงต้องศึกษา และเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้”

หารือ “ดีอีเอส” พิจารณาเรื่อง โอทีที

ในเรื่อง โอทีที นั้น ศ.ดร. พิรงรอง บอกว่า จะมีการหารือกับ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) เกี่ยวกับเรื่องการกำกับดูแล โอทีที  ในวันที่ 3 ม.ค.66 โดยปัจจุบัน กสทช.มีอำนาจกำกับดูแลเฉพาะ การแพร่ภาพผ่านโครงข่าย คลื่นวิทยุและโทรทัศน์ ส่วนดีอีเอส จะดูแลเรื่อง ออนไลน์ทั้งหมด ผ่าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งเทรนด์ในอนาคต คนจะดูทีวีน้อยลง และเปลี่ยนมาดูโอทีที ผ่านสมาร์ทโฟนมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีเกณฑ์ ในการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ แต่ขณะนี้เหมือนเป็นช่วงสูญญากาศ ที่ยังไม่มี ก.ม.หรือ กฎเกณฑ์ที่ดูโดยตรง ซึ่งอาจจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายทั้ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และ กฎหมายของ กสทช. ซึ่ง กสทช.จะหาจุดที่เป็นจุดตรงกลางที่ดีกับทุกฝ่ายว่าควรจะดำเนินการอย่างไร

เปิดเผลงานในรอบ 8 เดือน

ศ.ดร. พิรงรอง ยังกล่าวถึงผลงานในรอบ 8 เดือนที่ผ่านมาว่า คือ ความร่วมมือกับองค์กรวิชาชีพ 3 องค์กร สร้างระบบส่งต่อและติดตามเรื่องร้องเรียนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 สำหรับเรื่องที่เข้าข่ายผิดจริยธรรมและเรื่องที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย และส่งเสริมสนับสนุนกลไกการกำกับดูแลกันเองของสื่อ ภายใต้มาตรฐานจริยธรรม ตามมาตรา 28 (18) แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ และ มาตรา 39, 40 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางการร้องเรียนให้กับประชาชน ให้สามารถร้องเรียนเนื้อหารายการที่เข้าข่ายละเมิดจริยธรรม และเปิดให้ประชาชนสามารถร้องเรียนผ่าน 3 องค์กรวิชาชีพสื่อ มีคณะกรรมการประสานงานรับและติดตามเรื่องร้องเรียน นอกเหนือไปจากการร้องทุกข์ไปที่สถานีโทรทัศน์โดยตรง หรือการแจ้งมาที่ กสทช. เพื่อการดูแลแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที และมีประสิมธิภาพมากขึ้น

การทำ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ….. (ฉบับปี 2565) และการพิจารณาแนวทางอนุญาตและกำหนดลักษณะการให้บริการโทรทัศน์ ประเภทบริการชุมชน คาดว่าจะมีการออกใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการโทรทัศน์ชุมชนในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2566

นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงร่างประกาศหลายฉบับ อาทิ ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ (ฉบับที่ 2) ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม กสทช.ครั้งที่ 35/2565 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2565 และจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นในช่วงเดือนมกราคม 2566 และได้อยู่ในระหว่างการจัดทำร่างประกาศการนับระยะเวลาการโฆษณาและโฆษณาแฝง

แผนงานเร่งทำในปี 66

สำหรับแผนที่จะเร่งทำในปี 66 นั้น คือ การส่งเสริมให้มีการผลิตรายการ ที่มีคุณภาพมากขึ้น โดยการสนับสนุนงบประมาณในการผลิต เนื้อหาใน 3 ลักษณะ ได้แก่ 1.รายการเพื่อเด็กและเยาวชน 2.รายการที่ส่งเสริมความหลากหลายในมิติต่างๆ และ 3.รายการที่มีศักยภาพในการผลิตร่วมกับผู้มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ

“กสทช.ก็มีแนวทางการดำเนินการโดยมีช่องทางเรื่องการส่งเสริมให้มีการผลิตรายการที่มีคุณภาพและส่งผลประโยชน์ต่อสังคมที่เป็นไปตามมาตรา 52 ของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการสื่อ กิจการโทรทัศน์ ปี 2551 ที่ระบุว่าให้คณะกรรมการสามารถจัดทำเกณฑ์ในเรื่องนี้ได้ ซึ่ง กสทช. กำลังดำเนินการอยู่ คาดว่า ร่างประกาศฯ น่าจะร่างเสร็จในไตรมาสแรก และเปิดสำหรับประชาพิจารณ์ได้ในไตรมาสที่ 2 และในช่วงกลางปีจะเปิดให้มีการสมัครขอรับทุนสนับสนุนได้ โดยในเบื้องต้นมี งบอยู่แล้วประมาณ 200 ล้านบาท และสามารถขอมติบอร์ดจัดสรรเพิ่มเติมได้”

นอกจากนี้ จะมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญจากประเทศเกาหลีใต้ และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยจากเกาหลีใต้ มาวิเคาระห์แนวทางต่างๆ ให้ผู้ประกอบการคนไทยทั้งหมด รวมถึงมีผู้แทนจากเวฟ (WAVVE) แพลตฟอร์มเอกชนของเกาหลีที่มีการรวมตัวของผู้ประกอบการรายใหญ่ 3 ราย และโทรคมนาคม 2 ราย เป็นแพลตฟอร์มที่เอกชนพยายามขับเคลื่อนให้เป็นเนื้อหา เคคอนเทนต์ สู่ตลาดระดับโลก ซึ่งจะเดินทางมาไทยในวันที่ 17 ม.ค.66 ระยะถัดไปอาจมีการทำงานร่วมกันโดยใช้เงินกองทุนที่มีอยู่สนับสนุนให้เกิดขึ้นเพื่อสร้างศักยภาพเรื่องซอฟต์เพาเวอร์ไทยให้แข็งแรงสู่สายตาระดับโลก

นอกจากนี้จะมีการวางระบบ Social Scoring, การ monitor ทางเทคโนโลยี (algorithm) Social Credit การตรวจสอบและส่งเสริมเนื้อหารายการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและเฝ้าระวังสิ่งผิดกฎหมายจากการออกอากาศในกิจการโทรทัศน์ (Media Alert) มีการทำ Quality Rating ประเมินเนื้อหาในกิจการโทรทัศน์ด้วยเกณฑ์ทางคุณภาพ (ที่ไม่ใช่เกณฑ์ทางปริมาณผู้ชม) รวมถึงมีทั้งการใช้ monitoring ตรวจ เฝ้าระวังเนื้อหาตามประเด็นทางสังคมทุกไตรมาส เช่น ความรุนแรง เรื่องทางเพศ ภาษาที่ไม่เหมาะสม และความเสี่ยงทางสังคมอื่นๆ เช่น การสร้างความเกลียดชัง การข่มเหงรังแก (bully) การกีดกันกลุ่มทางสังคมต่างๆ เป็นต้น คาดว่าระบบการประเมินจะมีความพร้อมภายในสิ้นปีซึ่งจะมีการให้รางวัลเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ กับผู้ประกอบการ

ทั้งหมดเป็นการเปิดใจ ของ “ศ.ดร.พิรงรอง” ถึงการทำงานที่ผ่านมาตลอด 8 เดือน ซึ่งถือว่ามีแต่ “เรื่องเด่น ประเด็นร้อน” ให้ต้องทำต้องตัดสินใจหลายเรื่อง ท่ามกลางการจับตาของทุกฝ่าย แน่นอนว่าในปี 66 ที่จะถึงนี้ก็ยังคงมีเรื่องสำคัญๆให้ต้องติดตามกันต่อไปเรียกว่า “ห้ามกะพริบตา” เลยทีเดียว!!

จิราวัฒน์ จารุพันธ์