เมื่อวันที่ 22 ส.ค. นายวิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า จากกรณีที่พบกระทิงป่วยและเสียชีวิตยืนยัน จำนวน 1 ตัว ด้วยโรคไวรัสลัมปี สกิน (Lumpy skin disease:LSD) ครั้งแรกในประเทศ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ จึงได้ทำการสำรวจ ติดตาม และเฝ้าระวังในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานด้วย ซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อกัน และเป็นการยกระดับการปกป้องคุ้มครองในฐานะพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ โดยการลงพื้นที่และร่วมกำหนดมาตรการกับสำนักงานปศุสัตว์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.เพชรบุรี และหน่วยงานปกครองท้องถิ่น ทั้งนี้ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้มอบนโยบายและมาตรการต่างๆ โดยกำหนด พื้นที่เฝ้าระวังพิเศษโรคอุบัติใหม่ในสัตว์ป่า ได้แก่ พื้นที่ป่ามรดกโลกแก่งกระจาน ป่ามรดกโลกห้วยขาแข้ง ป่ามรดกโลกเขาใหญ่ – ดงพญาเย็น และพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด รวมถึงพื้นที่อื่นๆที่มีสัตว์ที่มีความเสี่ยงต่อโรคลัมปี สกิน และโรคติดต่ออุบัติใหม่อื่นๆ

ด้าน น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เปิดเผยว่า จากการดำเนินการตามมาตกรารของกรมอุทยานฯ ตั้งแต่มีรายงานการระบาดโรคลัมปีสกินในประเทศ ที่มีแมลงดูดเลือดเป็นพาหะ พบกระทิงที่จัดกลุ่มเป็นสัตว์ป่ายืนยัน 1 ตัว และสัตว์ป่วยสงสัยจำนวนหลายตัว กระจายอยู่ในแต่ละฝูงแต่ละพื้นที่ อัตราการป่วยอยู่ที่ 4-45% โดยเฉพาะในลูกกระทิงและกระทิงที่ร่างกายอ่อนแอ ซึ่งมีความเสี่ยงสูง ที่ผ่านมาได้ส่งตัวอย่างตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ แก่งกระจาน 2 ตัว เขาแผงม้า 6 ตัว ไม่พบสารพันธุกรรมของไวรัส ลัมปีสกิน ส่วนที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี 3 ตัว พบผลบวก 1 ตัว อีก1 ตัวไม่พบ และอีก 1 ตัวรอผล

น.สพ.ภัทรพล กล่าวต่อว่า กรมอุทยานฯจึงได้เพิ่มมาตรการเชิงรุก นอกเหนือจากการทำวัคซีนในปศุสัตว์ งดการเคลื่อนย้ายสัตว์เลี้ยง การป้องกันสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่ การจัดทำระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งข้อมูลในการรักษาสัตว์เลี้ยงพบว่า เมื่อพบสัตว์ที่ป่วย หากได้รับการรักษาที่เหมาะสม อัตราการรอดชีวิตสูง จึงได้เตรียมพร้อมทีมสัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่และอุปกรณ์เวชภัณฑ์ เพื่อเข้ารักษาทันที หากพบตัวที่ป่วยหนักอยู่ในป่า รวมถึงการทำแหล่งดินโป่งที่ประกอบด้วยแร่ธาตุต่างๆที่จำเป็นแก่สัตว์กินพืช และเพิ่มวิตามิน A D E และ Selenium เพื่อช่วยในการรักษาบาดแผล และเสริมภูมิคุ้มกัน ซึ่งได้รับการสนับสนุนก้อนแร่ธาตุและวิตามินต่างๆจำนวน 2 ตันจากบริษัท ภัสร์-ฟาร์ม จำกัด พบกระทิงและวัวแดง รวมถึงช้างป่า จำนวนมาก ลงมากินและใช้ทันทีหลังจากดำเนินการ โดยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้เติมคลังยา เพื่อป้องกันและรักษาโรคลัมปี สกิน จำนวน 3 จุด ได้แก่ ได้แก่หน่วยพิทักษ์ห้วยคมกฤษ และบริเวณข้างแหล่งน้ำอีกสองแห่ง พบกระทิงและช้างป่าลงมาใช้

น.สพ.ภัทรพล กล่าวต่อว่า ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ได้เติมคลังยาทั้งหมด 12 แหล่ง จากการตรวจสอบภาพพบกระทิงจำนวน 66 ตัว และวัวแดงจำนวน 4 ตัว ซึ่งบางตัวสงสัยว่ามีร่องรอยโรคลัมปี สกิน ในกล้องถ่ายภาพจำนวน 12 จุด ได้แก่จุดที่ 1 แปลงหญ้าปศุสัตว์ทางเข้าบ่อ 5 พบกระทิงจำนวน 12 ตัว จุดที่ 2 บ่อ 5 พบกระทิงจำนวน 9 ตัว จุดที่ 3 แปลงหญ้า WWF ทางเข้าบ่อ 8 พบกระทิงจำนวน 9 ตัว จุดที่ 4 สระป่าสนไฟไหม้ พบกระทิงจำนวน 4 ตัวจุดที่ 5 แปลงหญ้า 200 ไร่ พบกระทิงจำนวน 14 ตัว และวัวแดงจำนวน 3 ตัวจุดที่ 6 แปลงหญ้าสยามไวน์ / บ่อช้างใหม่ พบกระทิงจำนวน 2 ตัว จุดที่ 7 แปลงหญ้าทหาร พบกระทิงจำนวน 7 ตัว จุดที่ 8 แปลงหญ้าทหาร พบกระทิงจำนวน 12 ตัว และวัวแดงจำนวน 1 ตัว จุดที่ 9 แปลงหญ้าโป่งสลัดได พบกระทิงจำนวน 1 ตัว จุดที่ 10 แปลง 200 ไร่ พบกระทิงจำนวน 2 ตัว จุดที่ 11 แปลง 200 ไร่ พบกระทิงจำนวน 3 ตัวจุดที่ 12 แปลงหญ้าสยามไวน์ / ต้นมะค่าโมง พบกระทิงจำนนวน 4 ตัว

น.สพ.ภัทรพล กล่าวต่ออีกว่า ผลจากการดำเนินการ ติดตาม พบกระทิงออกมาหากินจำนวนมาก ออกมากินแร่ธาตุ วิตามิน หลังจากที่ทำไว้ 1 คืน สามารถถ่ายรูปและประเมินสุขภาพได้ง่าย มีบางตัวพบรอยโรคที่ไม่รุนแรง บริเวณสะโพกทั้งสองข้าง ยังไม่พบการแพร่กระจายหรือแตกของตุ่มรอยโรค ตุ่มรอยโรคลัมปี สกิน ตามนิยามที่เกิดขึ้นจะเป็นตุ่มนูนแข็งขนาด 2-5 ซม. และแตกเป็นแผล อาจตกสะเก็ด หรือติดเชื้อขึ้นมา โดยในสัตว์ป่ามีปัจจัยป้องกันตัวเองจากการติดต่อโรคที่นำโดยแมลงใน 10 ข้อที่ตนเคยนำเสนอไว้แล้ว เช่น ห่วงโซ่ป้องกันตามธรรมชาติ คือ นกที่คอยเกาะจิกกินแมลงตามตัวสัตว์ป่า การอาศัยในพื้นที่โล่งเคลื่อนไหวอย่างอิสระ ทำให้โอกาสถูกแมลงพาหะกัดซ้ำๆ ย้ำ ๆ มีน้อย พืชอาหารสมุนไพรในป่าที่เป็นแหล่งสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ และแหล่งดินโป่ง อาหารเสริมของสัตว์ป่า เป็นต้น

“จากการประเมินระยะฟักตัวของโรคที่ 28 วัน หลายพื้นที่ยังไม่พบรายงานการพบซากหรือเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม ในแต่ละพื้นที่ได้ติดตามความรุนแรงของรอยโรคที่เพิ่มขึ้นของสัตว์และการแพร่กระจายรอยโรคของสัตว์ในฝูงว่ามีเพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่ง ณ เวลานี้ระยะเวลาที่มีรายงานการระบาดในประเทศ 5 เดือน รายงานการเกิดโรคในกระทิงผ่านมาแล้ว 3 เดือน และนอกจากจะมีการเฝ้าระวังและติดตามในทุกพื้นที่อย่างเข้มข้นแล้ว ก็จะได้มีการดำเนินการในลักษณะเช่นเดียวกันกับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและกุยบุรี เพื่อเป็นการเสริมมาตรการป้องกันโรคในสัตว์ป่าให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทั้งนี้ ในสัปดาห์หน้าตนจะเดินทางลงพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี ที่พบรายงานสัตว์ป่วยต้องสงสัยเช่นกัน โดยจะได้มีการเตรียมแผนที่จะสำรวจโรคโรคลัมปี สกิน เชิงรุกด้วยการสุ่มเก็บตัวเลือด ตัวอย่างรอยแผลชิ้นเนื้อจากกระทิง เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงและประกอบผลการสืบสวนโรคต่อไป” น.สพ.ชำนาญการพิเศษฯ กล่าว