เมื่อวันที่ 17 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เสนอการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 2 ราย คือ 1.นายสยาม บางกุลธรรม 2.นายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค. 2566 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่ รมว.ศึกษาธิการ เสนอยกเลิกมติ ครม. เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2565 เรื่องการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง 1 ราย คือ นายวัลลพ สงวนนาม เนื่องจาก นายวัลลพ ได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค .2566
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสยามและนายเนวินธุ์ เป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยนายสยาม เป็นรองเลขาธิการพรรค ขณะที่นายเนวินธุ์ เป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขตยานนาวา พรรครวมไทยสร้างชาติ
ส่วนกรณีที่นายวัลลพ สงวนนาม ลาออกจากราชการนั้น คาดว่าเป็นผลจากมติ ครม. เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2565 ที่เห็นชอบการโยกย้ายนายวัลลพจากตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ให้ไปเป็นรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีกระแสข่าวนายวัลลพมองว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้ายดังกล่าว

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ ครม. ตั้งสมาชิกพรรค รทสช. ดำรงตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งข้าราชการการเมือง เนื่องจากสามารถตั้งได้ แบ่งไปตามโควตาพรรค ไม่มีภาระหน้าที่อะไร ทำงานตามที่นายกฯ มอบหมาย

เมื่อถามว่า 1 ใน 2 คนนี้ เป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. สามารถดำรงตำแหน่งได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่รู้ว่าเป็น ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.หรือไม่แต่สามารถตั้งได้ ไม่แปลกอะไร ยกตัวอย่างตั้งนายนริศ ขำนุรักษ์ รมช.มหาดไทย ซึ่งจะลงสมัคร ส.ส. สามารถตั้งได้ไม่มีปัญหา ตำแหน่งทางการเมืองเป็นเรื่องของการเมือง อย่าเอามาปะปนกับระบบการตั้งข้าราชการปกติ และการตั้งตำแหน่งทางการเมือง ก็เอามาใช้งานของการเมือง.