เมื่อวันที่ 25 ม.ค.น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่ตนได้ลงนามในระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการยกเลิกระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 และเสนอสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วออกเป็นหนังสือสั่งการหรือหนังสือเวียน กำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนหรือนักศึกษาไว้อย่างกว้าง ๆ เพื่อให้หน่วยงานในสังกัดที่เป็นผู้กำกับดูแลสถานศึกษา กำหนดให้สถานศึกษาแต่ละแห่งนำหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวไปกำหนดเป็นระเบียบหรือข้อบังคับของสถานศึกษาแต่ละแห่งเองนั้นเรื่องนี้ตนไม่อยากให้คิดว่าเป็นการโยนความรับผิดชอบไปให้สถานศึกษาออกกฎเรื่องทรงผมนักเรียนเอง แต่เป็นการกระจายอำนาจให้สถานศึกษาได้ยืดหยุ่นเรื่องการออกกฎระเบียบทรงผมให้แก่นักเรียนได้ตามความเหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมาก็พบสถานศึกษาหลายแห่งยืดหยุ่นให้มีนักเรียนไว้ผมสั้นหรือผมยาวได้แล้วทั้งนักเรียนหญิงและนักเรียนชายดังนั้นการยกเลิกระเบียบว่าด้วยเรื่องทรงผมนักเรียนของศธ.จึงเป็นการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษาให้ได้ออกแนวปฎิบัติได้อย่างอิสระโดยที่ไม่ต้องรอคำสั่งจากส่วนกลาง เพราะทุกวันนี้แม้ไม่ใช่เรื่องระเบียบทรงผมนักเรียนก็มีแนงปฎิบัติเรื่องอื่นๆที่ศธ.กระจายอำนาจให้สถานศึกษาได้ปฎิบัติเองด้วย 

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้สถานศึกษาต้องยืดหยุ่นแนวปฎิบัติเรื่องนี้ให้แก่นักเรียน เพราะยุคสมัยและโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ซึ่งสถานศึกษาต้องให้อิสระแก่นักเรียนและคำนึงถึงสิทธิเด็กควบคู่ไปด้วยว่าควรบริหารจัดการศึกษาอย่างไร เพื่อให้เกิดความเหมาะสมต่อนักเรียน ซึ่งเร็วๆนี้ศธ.จะออกแนวปฎิบัติเรื่องทรงผมนักเรียนอีกฉบับ เพื่อให้สถานศึกษารับทราบ โดยเฉพาะการออกระเบียบทรงผมนักเรียนของสถานศึกษาจะต้องให้คณะกรรมการสถานศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแนวปฎิบัตินี้ด้วย 

‘วันนี้เราอยากให้เรื่องทรงผมนักเรียนที่มีความกังวลมานานได้ปลดล็อก ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเราได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยว เช่น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายมองว่าการให้สถานศึกษาออกระเบัยบทรงผมนักเรียนเองนั่นอาจกลับไปสู่การอนุรักษ์นิยมหรือไม่ เรื่องนี้ตนมองว่าไม่มีอะไรตายตัวแบบ 100% และไม่อยากให้เรื่องทรงผมนักเรียนนำมาตีกรอบที่จะหยุดพัฒนาผู้เรียน สำหรับเด็กที่กังวลว่าจะมีการลงโทษกล้อนผมและลงโทษเด็กรุนแรงจากระเบียบทรงผมนัหเรียนที่ให้สถานศึกษาออกระเบียบนั้น ตนมองว่าการลงโทษเด็กเกินกว่าเหตุไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องและไม่สนับสนุนอย่างแน่นอน ซึ่งหากเด็กทำผิดระเบียบการลงโทษมีหลายขั้นตอน เช่น  หักคะแนน ว่ากล่าวตักเตือนเป็นต้น’ น.ส.ตรีนุช กล่าว