เรียกว่าเกิดความระส่ำระสาย อย่างมากในวงการ “เทค คอมปานี” ในช่วงที่ผ่านมา เมื่อ บริษัทเทคโนโลยี ยักษ์ใหญ่ระดับโลก อาทิ เมตา กูเกิล อเมซอน ไมโครซอฟท์ ทวิตเตอร์ เน็ตฟลิกซ์ และสปอติฟาย ฯลฯ ประกาศ “เลิกจ้าง” ปลดพนักงานลงจำนวนมากในต่างประเทศ!!
สัญญาณเหล่านี้บ่งชี้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้หลายๆองค์กรในไทยต้องปรับตัวอย่างไร?
“กานติมา เลอเลิศยุติธรรม” หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล กลุ่มบริษัท เอไอเอส และอินทัช บอกว่า ปัจจุบันเป็นยุคของการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในเรื่องทรัพยากรบุคคล ซึ่งปัจจุบันบริษัทต่างๆ มีการเปลี่ยนถ่ายแรงงานอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากข่าวที่บริษัทเทคต่างๆ และสตาร์ทอัพ มีการเลิกจ้างต่อเนื่อง เนื่องจากความต้องการเปลี่ยนไป ต้องมีการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินธุรกิจในโลกใบใหม่ เกิดการดิสรัปชั่น โดยเฉพาะหลังการระบาดของโควิด-19
“ถือเป็นเทรนด์ของโลก เป็นฤดูกาลของการเปลี่ยนแปลง ขององค์กรใหญ่ๆ จากเหตุผลการดำเนินธุรกิจ ผลประกอบการ ซึ่งความคิดเห็นส่วนตัวคิดว่าอีกส่วนหนึ่งมาจากคนหรือแรงงานไม่สามารถเพิ่มความสามารถ ของตัวเองได้ทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนถ่ายการเคลื่อนตัวของทรัพยากรบุคคล ”

นอกจากนี้ ปัจจุบันพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนไปเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว สิ่งสำคัญขององค์กรก็คือ ต้องพลิกฟื้นตัวเองอย่างรวดเร็ว และไม่สูญเสียจุดแข็งของตัวเองในอดีตที่ผ่านมา ซึ่ง บุคลากรคือ “ตัวขับเคลื่อนสำคัญ” ที่จะนำพาองค์กรก้าวสู่ยุคการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว!?!
ในส่วนของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ถือเป็นองค์กรที่มีอายุและมีขนาดใหญ่ สิ่งที่สำคัญและถือเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก คือ การพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะใหม่ๆ พร้อมรองรับ ธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพื่อขับเคลื่อนองค์กรสู่ ค็อกนิทิฟ เทลโค่( Cognitive Telco) หรือองค์กรอัจฉริยะ ให้ได้ตามเป้าหมาย
“คนรุ่นใหม่ มีทักษะเปิดรับสิ่งใหม่ๆ มีความคิดสร้างสรรค์ ขณะที่คนรุ่นเก่ามีประสบการณ์ สิ่งสำคัญ คือ หาจุดสมดุล บริหารอย่างไรเพื่อให้คนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่าทำงานร่วมกันให้ได้ เพื่อให้องค์กรเคลื่อนตัวไปข้างหน้า โดยไม่ให้เสียจุดแข็งในอดีต ขณะที่ที่องค์กรก็ดูหนุ่มสาวขึ้น อายุเเฉลี่ยของพนักงานในองค์กรลดลง”
“กานติมา” บอกต่อว่า ปัจจุบัน เอไอเอส มีพนักงาน 13,141 คน แบ่งสัดส่วนในกรุงเทพฯ 70% และต่างจังหวัด 30% เมื่อแบ่งเป็นเจอเนเรชั่น พบว่า เป็น เจน วาย 61.1% ตามด้วย เจน เอ็กซ์ 25.5% และ เจน ซี 12.5% ขณะที่ เบบี้บูมเมอร์ เหลือเพียง 0.7% โดยคนในองค์กรอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 36 ปี
ที่ผ่านมาก็มีการไหลเวียน เข้าออกเป็นปกติ มีการเปลี่ยนถ่ายพนักงานเหมือนองค์กรอื่นๆ ไม่ได้มีการออกจำนวนมากแล้วรับคนใหม่เข้ามาแทน เปลี่ยนเฉพาะคนที่สกิลไปต่อไม่ได้ ซึ่งเชื่อว่าต่อไปอายุเฉลี่ยจะลดลงไปถึง 27-28 ปี!?!

ถือเป็นการผสานกัน ระหว่าง เรื่องประสบการณ์ และคนที่มีความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ โดยองค์กรจะทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนันให้บุคลากรมีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ภาพลักษณ์ของเอไอเอส ต่อจากนี้ จะกระฉับกระเฉง เปิดโอกาส และให้พื้นที่คนที่แตกต่างกัน
ซึ่งที่ผ่านมา เอไอเอสมีการรับ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 เข้ามาทำงานจริง ตามแผนกต่างๆ มีค่าตอบแทน ให้เหมือน พนักงานทั่วไป ซึ่งการคัดเลือกเด็กรุ่นใหม่ ไม่ใช่แค่เรียนเก่ง แต่ต้องเลือกจากทัศนคติด้วย ในอดีตเอไอเอสยึดหลัก 6Rs ในการพัฒนาบุคลากร แต่จากปีนี้เป็นต้นไปจะใช้หลัก 6Ss ต้องผลิตคนเก่งและมีศักยภาพ และช่วยสร้างอีโคซิสเต็ม ด้านแรงงานดิจิทัลในตลาด เพราะปัจจุบันความต้องการบุคลากรด้านดิจิทัลนั้น ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะฝ่ายไอทีเท่านั้น แต่ต้องผสานอยู่ในทุกสายงาน และทุกลำดับชั้น!!
“กานติมา” บอกต่อว่า ล่าสุด เอไอเอส ได้ร่วมกับ 3 พันธมิตร คือ ฮิวเมนนิก้า, โคนิเคิล และไทยคม เปิดตัวโครงการ ดิจิทัล ทาเล้นท์ / เดอะ มาสเตอร์ เพื่อเฟ้นหาบุคลากรด้านเทคโนโลยี โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ “เดอะ บูม” ที่รับเด็กที่กำลังจะจบจากต่างประเทศ ที่เก่งมีความสามารถให้กลับมาทำงานที่ไทย ซึ่งที่ผ่านมา เคยดำเนินมามา 1 รุ่น ตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด ซึ่งในปีนี้ จะมีการเดินทางไปคัดเลือกเด็กในประเทศอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ชักชวนกลัยมาทำงานในไทย รวมถึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในไทย รับเด็กที่เรียนปี 3 ร่วมโครงการด้วย

ส่วน “เดอะมาสเตอร์” จะเป็นการเฟ้าหาคนที่มีความสามารถและอยู่ในตลาดแรงงานแล้ว โดยที่มีความสามารถด้านดิจิทัล ซึ่งเป็นแรงงานที่หาอยากในปัจจุบัน ตั้งเป้าหมายให้โครงการนี้เป็น “ดิจิทัล ทาเลนท์ ฮับ” ที่เป็นแหล่งรวม โอกาสของคนรุ่นใหม่ที่อยากเติบโตในสายงานด้านดิจิทัล เปิดโอกาสให้คนเก่ง บุคลากรที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยี ดิจิทัลสามารถเลือกร่วมงานกับ 4 องค์กรชั้นนำภายใต้โครงการนี้ในหลากหลายสายงาน เช่น เอไอ บล็อกเชน, ดาต้าอนาไลติก, ดาต้าเอ็นจิเนียริ่ง, ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ และ โมบาย ดิเวลล็อปเปอร์ เป็นต้น ซึ่งเป็นแรงงานที่หายากในปัจจุบัน โดยจะเริ่มโครงการในเดือนหน้าและเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จมีผู้สนใจสมัครจำนวนมาก!?!
ทั้งหมดเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงใน “ฤดูเปลี่ยนผ่าน” เพื่อสร้างความแข่งแกร่งให้องค์กรแข่งขันในตลาดได้!!
จิราวัฒน์ จารุพันธ์