งานสอบสวนบทพิสูจน์ “ม้าเต็ง” อธิบดีดีเอสไอคนใหม่ “หมอต้น- ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์” รอดูคดีค้างหมักหมม “คดีฟอกเงินวัดพระธรรมกาย คดีฟอกเงินเกี่ยวกับกลุ่มทุนและนักการเมือง คดีหายตัวไปของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง” จะถูกปัดฝุ่นมาชำแหละในยุคใหม่ตามหน้างาน “ซูเปอร์กรม” แห่งนี้หรือไม่

นับเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อ หมอต้น-นพ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม ถูกเสนอชื่อขึ้นแท่นเป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษคนใหม่ แทน พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร ที่จะเกษียณอายุราชการวันที่ 30 ก.ย.นี้แล้ว จริงๆ จะเรียกว่าไม่พลิกโผก็ได้ เพราะหมอต้นคือม้าเต็งแบบไร้คู่แข่ง มานานแล้ว …มีบางเล็กน้อยที่มีการปล่อยข่าวว่า “หมอต้น” ไม่เหมาะสมนั่งเก้าอี้บิ๊กดีเอสไอ เพียงเพราะเป็นหมอไม่ใช่มือปราบหรือนักกฎหมายนั่นเอง

ชื่อหมอไตรยฤทธิ์ ถูกพูดถึงในหน้าสื่อเมื่อ 2-3 ปีก่อนที่ย้ายข้ามห้วยจาก รอง ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ มานั่งตำแหน่ง รองอธิบดีดีเอสไอ เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะตั้งแต่ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง ลาออกจากตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ เนื่องจากปัญหาสุขภาพ แต่เบื้องลึกอีกหนึ่งข้อคือมีการเข้ามาล้วงลูกจากรัฐบาลพรรคผสม และมีกำลังต่อรอง เจอแรงกดดันในคดีฟอกเงินแบงก์กรุงไทยของลูกนักการเมืองที่พลิกไปมาหลายรอบ แม้สุดท้ายคดีจะจบลงตามขั้นตอนของกฎหมายที่ไม่อุทธรณ์คดี แต่ดรีมทีมชุดสืบสวนที่ร่วมทำคดีนี้ก็แตกกระเซ็นไปคนละทิศละทาง เปิดโอกาสให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาทำโผแต่งตั้งได้เต็มที่ และหมอไตรยฤทธิ์เป็นหนึ่งคนที่น่าสนใจ ได้รับแรงหนุนให้ทำหน้าที่รักษาการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ถึงขั้นมีชื่อขึ้นเป็นแคนดิเดตอธิบดีดีเอสไอมาแล้ว

แต่ตามธรรมเนียมผู้ที่จะขึ้นเป็นอธิบดีดีเอสไอจะต้องมาจากระดับ 10 เช่น ผู้ตรวจราชการ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม หรืออธิบดีกรมในกระทรวงยุติธรรม กระทรวงยุติธรรมจึงต้องเสนอชื่อ พ.ต.ท.กรวัชร์ ผู้ตรวจราชการ ซึ่งมีผลงานมือปราบคดีบิลลี่ และหัวหน้าชุดเข้าค้นวัดพระธรรมกาย นั่งอธิบดีดีเอสไอในครั้งนั้น

โอกาสยังไม่หมด ผ่านไป 6 เดือน หมอไตรยฤทธิ์ถูกโยกไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง เพื่อวางตัวให้รับไม้ต่อตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอคนต่อไป เมื่อจังหวะมาถึง สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ก็ชงชื่อหมอไตรยฤทธิ์ เข้า ครม.ในรอบนี้

หมอต้น เกิดปี 2508 จบคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในปี 2532 และจบปริญญาเอก คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ในปี 2552 เริ่มงานราชการเป็นนายแพทย์ 4 สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ต่อมาเป็นนายแพทย์ 6 หัวหน้ากลุ่มงานการรักษาศูนย์มะเร็ง จ.สุราษฎร์ธานี กระทั่งปี 2549 โอนย้ายมาเป็นนายแพทย์ระดับ 8 ที่สำนักนิติวิทยาศาสตร์ เติบโตจนเป็น รอง ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และปี 2561 ย้ายมาเป็นรองอธิบดีดีเอสไอ ปี 2563 ได้ขยับขึ้นเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม ในระหว่างทำงานได้เข้าอบรมหลักสูตรนักบริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (ยธส.) รุ่นที่ 1 และจบหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่น 6

ช่วงที่หมอไตรยฤทธิ์ รักษาการแทนอธิบดีดีเอสไอ เจอกับวิกฤติโควิด-19 เล่นงานประเทศหนักไปซะก่อน อาจยังไม่ได้โชว์ฝีมือให้ประจักษ์ ดังนั้น ที่น่าสนใจหลังจากหมอไตรยฤทธิ์มานั่งหัวเรือดีเอสไอ อาจต้องเจอแรงเสียดทานจากข้าราชการในกรม แม้จะเคยนั่งรองอธิบดีดีเอสไอ แต่ไม่ใช่ลูกหม้อโดยตรง และงานกรมสอบสวนคดีพิเศษไม่ใช่แค่งานบริหารในกรม แต่เป็นคดีการเมืองสำคัญและซับซ้อนเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ ที่รออธิบดีคนใหม่มาสานต่อ เช่น คดีฟอกเงินวัดพระธรรมกาย ซึ่งเงียบหายไปนาน คดีฟอกเงินยาเสพติดที่พัวพันไปถึงประธานสโมสรฟุตบอลชื่อดัง คดีฟอกเงินอื่นๆ คดีกลุ่มทุนและนักการเมืองบุกรุกที่ดินป่าสงวน คดีหายตัวไปของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ฯลฯ

จึงเป็นเรื่องน่าท้าทายของหมอต้นที่จะต้องฝ่าฝันอุปสรรคงานสอบสวน ซึ่งไม่ใช่สายงานถนัด รวมทั้งยังต้องถูกจับตาว่าจะยอมให้กับการเมืองถูกสั่งซ้ายขวา หรือจะลุกขึ้นพิสูจน์ความเป็นมืออาชีพยืนหยัดสร้างผลงานสมชื่อเบอร์หนึ่ง “ซูเปอร์กรม”