โดยเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาทั้ง “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรคการเมือง พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ขึ้นเวทีปราศรัยบ้านเกิดจังหวัดนครราชสีมา เปิดประตูสู่อีสานปล่อยออร์เดิร์ฟ “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ” พร้อมเปิดนโยบายขายฝันชุดใหญ่ ทั้ง “บัตรสวัสดิการพลัส” สำหรับผู้มีรายได้น้อยเดือนละ 1,000 บาท

นอกจากนี้ ยังอัดฉีดเงิน “ปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ”จากแบบขั้นบันได เกทับบลัฟแหลกเพิ่มเป็นเดือนละ 1,000 บาท ทั้งยังสานต่อโครงการคนละครึ่ง และเราเที่ยวด้วยกันภาค 2 ทำต่อ พร้อมทุนเรียนฟรีวิชาชีพละ 100 ทุน ขณะที่ ขณะที่ภาคแรงงาน และข้าราชการ ยามเดือดร้อน เบิกส่วนประกันตน 30% มาใช้ก่อนได้  ส่วนอาชีพอิสระ เข้าระบบประกันสังคม ถ้วนหน้า รวมถึงเพิ่มเงินสนับสนุนต้นทุนปลูกข้าว จากที่เคยได้ไร่ละ700 บาท เป็นไร่ละ 2,000 บาท ครอบครัวละ 5 ไร่ เพื่อให้ทันกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น กระแส “ลุงตู่” ทำท่าแรงปลาย ดีดขึ้นเรื่อยๆ ศึกชิงเก้าอี้ “ผู้นำประเทศ” รอบนี้มันหยด เป็นที่รับรู้กันว่าโคราช เป็นบ้านเกิดของ “นายกฯ ลุงตู่”  ลูกอีสาน หลานย่าโม เนื่องจากเกิดที่ จ.นครราชสีมา และมีแม่เป็นคน จ.ชัยภูมิ ตั้งใจจะขายความเป็น “ลูกอีสานแท้ๆ” พรรครวมไทยสร้างชาติ จึงเลือกเปิดเวทีปราศรัยที่โคราช พร้อมเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคทั้ง 132 เขต ในภาคอีสาน พร้อมกับนำผลงานต่างๆ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้สร้างไว้ในช่วง 8 ปี มานำเสนอ 

อีกฟาก “ค่ายเพื่อไทย” ขายความเป็นบ้านเกิดของ “นายห้างดูไบ” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่จังหวัดเชียงใหม่ หอบหิ้ว “หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย” อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร “อุ้มท้อง” ตระเวนน้ำ ตระเวนบก ปั่นกระแส “แลนด์สไลด์” ออนทัวร์ภาคเหนือ เปิดปราศรัยใหญ่ที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งภาคเหนือ ถือว่าเป็นหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีพรรคไหนสามารถเจาะฐานเสียงกล่องดวงใจได้แม้แต่พรรคเดียว 

ดังนั้น จึงถือว่าทั้งสองเวที “ภาคอีสาน-ภาคเหนือ” ย่อมมีความหมายทางการเมือง เหมือนเป็นการตั้งเวทีประชันกัน เพื่อหวังผลทางการเมือง แต่ดูเหมือนเวทีโคราชของพรรค “ลุงตู่” จะไม่เปรี้ยงเหมือนเวทีที่จังหวัดชุมพร เช่นเดียวกับหากพรรคเพื่อไทย ปราศรัยในพื้นที่ภาคใต้ กระแสไม่ร้อนแรงเท่าพื้นที่อีสาน หรืออาจมองอีกแง่การประชันเวทีทั้งสองพรรคในช่วงสุดสัปดาห์ เป็นการ “แย่งซีน” กันเอง เพื่อไม่ให้พรรคใด พรรคหนึ่งยึดพื้นที่ข่าวเพียงฝ่ายเดียวแน่นอน 

ทั้งนี้ หากพิจารณากันในภาพรวมๆ แนวโน้มการเมืองสุดท้ายอาจเหลือ “สองขั้ว” เหมือนเดิม ระหว่าง “เอา” หรือ “ไม่เอาทักษิณ” และอีกด้าน “เอา” หรือ “ไม่เอาประยุทธ์” กลับมาอีกครั้งคงต้องรอหลังยุบสภา เตรียมสำรวจกระแสทางการเมืองทั่วประเทศอีกรอบ เพราะไม่รู้ความนิยมของแต่ละฝ่ายจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าไหร่ แต่สิ่งที่ยากกว่าคือ จะเร่งเครื่องและทำอย่างไรให้ขั้วของตัวเองจัดตั้งรัฐบาลรอบนี้ได้สำเร็จ.